ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ชุมนุมจำนวนมากเดินขบวนในกรุงลอนดอน เรียกร้องให้มีการลงประชามติครั้งใหม่ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะยอมรับมาตรการแยกตัวจากอียู หรือ Brexit ที่รัฐบาลผลักดัน หรือขอตัดสินใจอีกครั้งว่าจะ 'อยู่ต่อ' หลังจากหลายภาคส่วนได้รับผลกระทบอย่างหนัก

เมื่อวันเสาร์ที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา ประชาชนชาวอังกฤษราว 1 แสนคน ร่วมเดินขบวนในกรุงลอนดอน เพื่อเรียกร้องให้นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เปิดเผยรายละเอียดและตอบข้อสงสัยของประชาชนต่อแผนแยกตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือ Brexit Plan ซึ่งรัฐบาลพยายามผลักดันให้อียูเห็นชอบก่อนถึงเดือน มี.ค.2562 ซึ่งเป็นกำหนดเส้นตายที่สหราชอาณาจักรต้องเริ่มดำเนินการแยกตัว 

อย่างไรก็ตาม นางเมย์ได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมกับสภายุโรปที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถเจรจาให้ตัวแทนกลุ่มประเทศสมาชิกอียูเห็นชอบแผนเบร็กซิตที่รัฐบาลของตนเสนอได้ ทำให้แม้แต่สมาชิกพรรคอนุรักษนิยมบางส่วนของนางเมย์ก็ออกมาแสดงความไม่พอใจ เพราะการตีกลับแผนเบร็กซิตจะทำให้การดำเนินการต่างๆ ยิ่งล่าช้าออกไป

ขณะเดียวกัน ประชาชนที่ออกมาเดินขบวนเรียกร้องการลงประชามติครั้งใหม่ยังระบุด้วยว่า นับตั้งแต่การลงประชามติเบร็กซิตเมื่อปี 2559 เป็นต้นมา มีข้อมูลหลายประการที่ค่อยๆ กระจ่างออกมา ทำให้คนในสังคมตระหนักว่าได้รับทราบข้อมูลเพียงบางส่วน รวมถึงข้อมูลที่บิดเบือนจากความเป็นจริง ในระหว่างการตัดสินใจลงประชามติเมื่อสามปีที่แล้ว ประชาชนจำนวนมากจึงต้องการตัดสินใจอีกครั้งโดยอาศัยข้อมูลที่ได้รับมาใหม่

BREXIT ไม่ได้จนกว่าถามสภา

จากกรณีดังกล่าว เว็บไซต์บลูมเบิร์กได้แจกแจง 3 ประเด็นที่ทำให้ประชาชนในสหราชอาณาจักรตระหนักถึงปัญหาสำคัญของเบร็กซิต และระบุว่าเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คนจำนวนมากออกมาผลักดันเรียกร้องการลงประชามติครั้งใหม่ เพราะต้องการ 'โอกาส' ให้ประชาชนได้ตัดสินใจด้วยข้อมูลที่รอบด้านกว่าเดิม

ประเด็นแรก กล่าวถึงระบบเศรษฐกิจและสภาพคล่อง ซึ่งผู้ลงประชามติสนับสนุนให้แยกตัวจากอียูจำนวนหนึ่งออกมายอมรับว่าพวกเขาคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น เพราะกลุ่มผู้สนับสนุนเบร็กซิตเมื่อปี 2559 ระบุว่าการแยกตัวจากอียูจะทำให้สหราชอาณาจักรเชื่อมโยงกับโลกได้มากขึ้น เพราะไม่ต้องยึดโยงกับระบบตลาดเดี่ยว 

ผลการลงประชามติครั้งนั้นบ่งชี้ว่าผู้ออกมาใช้สิทธิร้อยละ 52 สนับสนุนเบร็กซิต แต่หลังจากนั้น กลุ่มทุนต่างๆ กลับทยอยย้ายสำนักงานหรือย้ายฐานการผลิตออกจากสหราชอาณาจักร ทำให้ค่าเงินปอนด์อ่อนลง ผู้ประกอบการด้านต่างๆ รวมถึงกิจการส่งออก จำต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และแรงงานจากกลุ่มประเทศอียูที่เคยทำงานในสหราชอาณาจักรก็เดินทางกลับประเทศเป็นจำนวนมาก

ประเด็นที่ 2 การแยกตัวจากอียูทำให้สหราชอาณาจักรอ่อนแอลง ไม่ได้เข้มแข็งหรือมีอำนาจต่อรองมากขึ้นในเวทีโลกตามที่เคยมีการรณรงค์หาเสียงสนับสนุนกลุ่มเบร็กซิต โดยบลูมเบิร์กระบุว่า ในอนาคตสหราชอาณาจักรจะไม่มีสิทธิมีเสียงหรืออำนาจต่อรองใดๆ ในอียู เพราะไม่ถือว่าเป็นสมาชิกอียูอีกต่อไป 

AP-เบร็กซิต-เบรกซิท-Brexit-อังกฤษ-อียู-ถอนตัว-สหภาพยุโรป-ธงอียู

ประเด็นที่ 3 บลูมเบิร์กชี้ว่า ผลการลงประชามติที่แตกต่างกันในสหราชอาณาจักร จะยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกในประเทศ เพราะในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของอังกฤษเห็นชอบการแยกตัวออกจากอียู แต่ประชาชนในสกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือไม่เห็นด้วย และยืนยันว่าต้องการอยู่ร่วมกับอียูต่อไป ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลท้องถิ่นของสกอตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือต่างก็เรียกร้องให้มีการลงประชามติครั้งใหม่ แต่นางเมย์และรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมยืนกรานว่าจะไม่มีการจัดประชามติรอบใหม่เป็นอันขาด

ขณะเดียวกัน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเพิ่มเติมว่า การเดินขบวนในกรุงลอนดอนครั้งล่าสุดนี้ เป็นการเคลื่อนไหวของประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การเดินขบวนต่อต้านการส่งทหารอังกฤษเข้าร่วมกับสหรัฐฯ ในการทำสงครามอิรักเมื่อปี 2546 เป็นต้นมา

แกนนำการชุมนุมประเมินว่ามีผู้เข้าร่วมการชุมนุมในวันเสาร์ที่ผ่านมาราว 700,000 คน จึงถือเป็นการเรียกร้องให้ประชาชนมีสิทธิออกเสียงอีกครั้งหนึ่ง หรือ People's Vote

ผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งปักหลักปราศรัยในสวนสาธารณะไฮด์พาร์กย่านกลางกรุงลอนดอน แต่ก็ยังมีผู้ชุมนุมอีกหลายกลุ่มที่กระจายตัวไปยังพื้นที่รอบนอกอื่นๆ เช่นเดียวกับที่กรุงเบลฟาสต์ของไอร์แลนด์เหนือก็มีการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านการแยกตัวจากอียู รวมกว่า 2,000 คน แต่ตำรวจอังกฤษปฏิเสธว่าผู้ชุมนุมที่มารวมตัวกันทั่วประเทศไม่น่าจะมีมากถึง 700,000 คน แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธที่จะระบุตัวเลขที่ชัดเจนเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม: