ไม่พบผลการค้นหา
รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ ยื่นจดหมายลาออก เมื่อวานนี้ (9 ก.ค.) ขณะที่นายกฯ เทเรซา เมย์ โยก รมว.สาธารณสุขเข้ารับตำแหน่งแทน ส่วน รมว.ที่รับผิดชอบด้าน 'เบร็กซิต' ลาออกไปแล้ว 2 รายก่อนหน้านี้

นายบอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ ยื่นจดหมายลาออกอย่างเป็นทางการ เมื่อวานนี้ (9 ก.ค.) พร้อมเผยแพร่จดหมายดังกล่าวสู่สาธารณะก่อนที่ นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรี จะแถลงชี้แจงอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดธรรมเนียมปฏิบัติของรัฐบาลอังกฤษ

สื่ออังกฤษรายงานว่าจอห์นสันเป็นรัฐมนตรีรายที่ 3 ที่ลาออกในระยะเวลา 24 ชั่วโมง หลังจากที่นายกฯ เมย์เผยแผนปฏิบัติการเพื่อให้อังกฤษได้ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือ 'Brexit' อย่างเป็นทางการ โดยจอห์นสันกล่าวหาว่าแผนเบร็กซิตของเมย์นั้น 'ไม่เข้มแข็ง' และจะทำให้อังกฤษตกอยู่ในสถานะ 'เมืองขึ้น' ของอียู

ก่อนหน้านี้ นายเดวิด เดวิส รัฐมนตรีด้านกิจการเบร็กซิต และนายสตีฟ เบเคอร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการด้านเบร็กซิต ได้ยื่นจดหมายลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว ซึ่ง รมต.ที่ลาออกทั้งสามคน ล้วนเป็นผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้อังกฤษถอนตัวจากอียู จนนำไปสู่การลงประชามติเมื่อปี 2559 ผลปรากฎว่าเสียงส่วนใหญ่ต้องการให้อังกฤษแยกตัวจากอียู รวมถึงพรรคอนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นพรรครัฐบาลปัจจุบัน

AP-บอริส จอห์นสัน-รัฐมนตรีอังกฤษ-เทเรซา เมย์-ประชุมนาโต

เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้ประกาศย้ายนายเจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศแทนนายจอห์นสัน จากนั้นจึงมีคำสั่งแต่งตั้งนายแมตต์ แฮนค็อก รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม รับตำแหน่ง รมว.สาธารณสุขแทน

นักวิเคราะห์หลายรายประเมินว่าการลาออกจากตำแหน่งของรัฐมนตรีทั้งสามคนกระทบต่อการดำเนินตามแนวทางเบร็กซิตของเมย์อย่างแน่นอน แต่ส่วนใหญ่มีความเห็นค่อนไปในทางสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล และระบุว่านายกฯ เมย์ได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วที่จะผลักดันแผนเบร็กซิตให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจของอังกฤษให้น้อยที่สุด แต่เงื่อนไขบางอย่างที่ฝ่ายสนับสนุนเบร็กซิตเรียกร้องนั้นไม่อาจเป็นจริงได้

ความเห็นของนักวิเคราะห์บางรายระบุว่าการเติบโตของระบบเศรษฐกิจอังกฤษนั้นพึ่งพิงแรงงานต่างชาติจากยุโรปมาตลอด เช่นเดียวกับที่กลุ่มธุรกิจจากประเทศยุโรปเกี่ยวพันกับการลงทุนในอังกฤษอย่างมาก การถอนตัวจากระบบตลาดเดียวของอียูจึงเป็นเรื่องยุ่งยากและอาจจะเป็นไปไม่ได้ หรือหากทำได้จริง อังกฤษก็อาจจะได้รับผลกระทบอย่างหนักด้านธุรกรรมการเงินและการธนาคาร

นอกจากนี้ ภาวะผันผวนทางการเมืองไม่เป็นผลดีกับภาพลักษณ์ของอังกฤษในเวทีโลก ซึ่งขณะนี้กำลังเผชิญกับความตึงเครียด เนื่องจากสหรัฐฯ และจีนประกาศมาตรการภาษีตอบโต้กันอยู่ ทำให้หลายฝ่ายมองว่าเป็นการเริ่มต้นสงครามการค้าที่จะส่งผลกระทบไปทั่วโลก

AP-บอริส จอห์นสัน-รัฐมนตรีอังกฤษ-จดหมายลาออก

ที่มา: BBC/ Bloomberg/ The Guardian

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: