ไม่พบผลการค้นหา
กมธ.แก้ปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกร เสนอรัฐช่วยชาวประมง - ไร่อ้อย ที่เดือดร้อนจากโควิด-19 ให้ครอบคลุม ด้านกรมชลฯ เผยแผนรับมืออุทกภัยช่วงฤดูฝน

คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรมสภาผู้แทนราษฎร นัดประชุมเพื่อพิจารณาถึงแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ทางการเกษตรที่เหมาะสม หรือโซนนิ่งเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรที่เหมาะสมกับแหล่งน้ำและศักยภาพของพื้นที่ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ประธานกรรมาธิการฯ ได้แจ้งผลการประชุมที่ผ่านมาโดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 

โดยกรรมาธิการมีข้อเสนอแนะ ต่อมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร โดยระบุว่า เกษตรกรที่ปลูกพืชได้รับการช่วยเหลือ แม้ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน แต่เกษตรกรที่เป็นชาวประมงกฎหมายกำหนดว่า จะต้องทำประมงในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินเท่านั้นจึงจะได้รับการช่วยเหลือ ดังนั้นจึงควรแก้ไขให้ชาวประมงได้รับความช่วยเหลือเช่นเดียวกัน ส่วนมาตรการของรัฐที่ช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย คณะกรรมาธิการเห็นว่าควรสนับสนุนให้มีการใช้รถตัดอ้อยมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการเผาอ้อย โดยกำหนดหลักเกณฑ์และผ่อนปรนเงื่อนไข ให้เกษตรกรกู้เงินจาก ธ.ก.ส. เพื่อเปิดทางให้ซื้อรถตัดอ้อยได้ง่ายขึ้น

เสนอแผนรับภัยแล้ง ช่วยเหลือการเพาะปลูกเกษตรกร

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พูดคุย ถึงการบริหารจัดการน้ำในปี 2563 หลัง กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้เปิดเผยถึงแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝน โดยแยกเป็นพื้นที่เพาะปลูกรายภาค รวม 16.79 ล้านไร่ กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุน น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ ส่วนในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ได้สนับสนุน น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคและรักษาระบบนิเวศเช่นกัน รวมถึงสนับสนุนการเพาะปลูกในลุ่มเจ้าพระยาอีก 8.1 ล้านไร่ 

ทั้งพื้นที่ตอนบนตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ขึ้นไปและพื้นที่ตอนล่างตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ลงมา พร้อมเตรียมแผนการป้องกันอุทกภัย ทั้ง มาตรการที่ไม่ใช่สิ่งก่อสร้างเช่นการเชื่อมโยงข้อมูลและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ การคาดการณ์และติดตามสภาวะทางอุตุ อุทกวิทยา การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การเตรียมอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งาน การปรับเปลี่ยนปฏิทินการปลูกพืชเมื่อใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก การเตรียมเครื่องมือจักรกลและเครื่องสูบน้ำเข้าประจำพื้นที่ และการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ เช่นทุ่งบางระกำและพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง

ขณะที่มาตรการที่เป็นการใช้สิ่งก่อสร้าง ได้เริ่มแผนงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ งานซ่อมแซมบำรุงรักษาอาคารชลประทาน การใช้อาคารชลประทานและระบบชลประทานตัดยอดน้ำหลาก เพื่อป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนและควบคุมปริมาณน้ำ ป้องกันน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร 

อ่านเพิ่มเติม