ไม่พบผลการค้นหา
ศาลเยอรมันสั่งบริษัทเทสลาระงับการตัดต้นไม้ในเขตเตรียมก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หลังเจอชาวบ้านต้านหนัก ระบุทำลายป่า-กระทบทรัพยากรน้ำ-เพิ่มจำนวนรถบนถนน ส่วนกลุ่มสนับสนุนการลงทุนระบุ "ทุกปัญหาแก้ไขได้ด้วยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ"

ผู้พิพากษาศาลปกครองสูงประจำมลรัฐบรันเดินบูร์กของเยอรมนี มีคำสั่งให้บริษัทเทสลาระงับการตัดต้นไม้ในพื้นที่ขออนุญาตก่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ซึ่งอยู่ในเมืองกรึนไฮด์ มลรัฐบรันเดินบูร์ก ไม่ไกลจากกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนี เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2563 หลังจากประชาชนและองค์กรสิ่งแวดล้อมร้องเรียนต่อศาลว่า โครงการดังกล่าวจะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบทั้งด้านสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม

พื้นที่ก่อสร้างโรงงาน Gigafactory ของบริษัทเทสลา อยู่ไม่ไกลจากเบอร์ลิน กินพื้นที่ประมาณ 920,000 ตารางเมตร ถ้าสร้างเสร็จจะเป็นโรงงานผลิตแห่งที่ 4 ของ บ.เทสลา แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังพิจารณาแบบแปลนก่อสร้างโรงงานเทสลาไม่แล้วเสร็จ การตัดต้นไม้เพื่อเตรียมพื้นที่ของเทสลาจึงเป็นการดำเนินงานก่อนกำหนด อาจต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความล่าช้าหรือความเสียหายต่างๆ ด้วยตนเอง

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 15 ก.พ. ชาวเมืองกรึนไฮด์นับร้อยคนได้รวมตัวกันต่อต้านการก่อสร้างโรงงานเทสลา โดยระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ เพราะจะยิ่งเพิ่มปริมาณรถติดบนท้องถนน และถ้าโรงงานสร้างเสร็จ จะใช้น้ำมากกว่า 10 ล้านลิตรต่อวัน ย่อมจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในละแวกใกล้เคียงโดยตรง เพราะอาจเกิดภาวะขาดแคลนน้ำได้

ส่วนนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระบุว่า การตัดต้นไม้จะส่งผลกระทบต่อสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนก ค้างคาว มด และสัตว์เลื้อยคลานอื่นๆ ซึ่งอาศัยพื้นที่สีเขียวดังกล่าวเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย

Elon Musk-อีลอน มัสก์
  • อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งเทสลา ยืนยันว่าจะปลูกต้นไม้ชดเชยกับที่ตัดไปเพื่อก่อสร้างโรงงานในเยอรมนี

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้สนับสนุนการก่อสร้างโรงงานเทสลาได้รวมตัวชูป้ายไม่ไกลจากจุดที่ผู้ชุมนุมต่อต้านเดินขบวนกันอยู่ โดยผู้สนับสนุนมองว่าการสร้างโรงงานจะปูทางไปสู่อนาคตที่ไม่ต้องใช้รถยนต์พลังงานเชื้อเพลิงที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมได้เช่นกัน พร้อมทั้งระบุว่า ปัญหาด้านทรัพยากรน้ำและการหายไปของพื้นที่สีเขียวจะบริหารจัดการได้ถ้ามีนโยบายที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ 

นอกจากนี้ ส.ส.พรรค CDFP ซึ่งชูแนวคิดด้านการลงทุน เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ออกมาสนับสนุนการสร้างโรงงานเทสลา และเตือนว่าการรวมตัวประท้วงยืดเยื้อจะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของเยอรมนีในฐานะประเทศผู้ส่งเสริมการลงทุนได้รับผลกระทบด้วย

ส่วน 'อีลอน มัสก์' ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารเทสลา ระบุก่อนหน้านี้แล้วว่าโครงการก่อสร้างของเขาผ่านการหารือกับพรรคกรีนที่เป็นตัวแทนด้านการอนุรักษ์ในเยอรมนีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งระบุว่า เทสลาจะปลูกต้นไม้ชดเชยเป็น 3 เท่าของจำนวนต้นไม้ที่ถูกตัดไป

เทสลาตั้งเป้าว่าโรงงานผลิตในเยอรมนีจะเปิดทำการได้ภายในปี 2021 (พ.ศ.2564) โดยประเมินว่าโรงงานแห่งนี้จะผลิตรถยนต์ได้ประมาณ 500,000 คันต่อปี และจะสร้างงานเพิ่มกว่า 12,000 ตำแหน่ง

ที่มา: AFP/ Fortune/ REUTERS/ Ruptly/ The Verge

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: