ไม่พบผลการค้นหา
สเปซเอ็กซ์เตรียมลงพื้นที่อินโดนีเซีย สำรวจความเป็นไปได้สร้างฐานปล่อยจรวดสู่อวกาศในอนาคต ตามคำเชิญจาก 'โจโก วิโดโด'

อินโดนีเซียอาจกลายเป็นชาติแรกในอาเซียนที่เป็นฮับด้านการขนส่งทางอวกาศในอนาคต หลังจากที่กระทรวงประสานงานด้านการเดินเรือและการลงทุนของอินโดนีเซีย (Coordinating Ministry for Maritime and Investment Affairs) เผยว่า อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเทสลา และสเปซเอ็กซ์ บริษัทด้านอวกาศ เตรียมส่งทีมงานเข้ามาสำรวจพื้นที่ในอินโดนีเซียช่วง ม.ค. 2564 เพื่อหาความเป็นไปได้ในการตั้งฐานปล่อยจรวดของสเปซเอ็กซ์ในอนาคต

ความคืบหน้านี้มีขึ้นจากที่ โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้ต่อสายคุยกับ อีลอน มัสก์ เรื่องการลงทุนก่อตั้งโรงงานผลิตแบตเตอร์รี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งนอกจากประเด็นอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ผู้นำอินโดฯ ยังเชิญชวนให้อีลอน มัสก์ ตั้งฐานปล่อยจรวดของสเปซเอ็กซ์ในอนาคต

อินโดนีเซีย มีข้อได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์จากการที่ตั้งอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร ส่งผลให้ช่วยลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในการปล่อยจรวด รวมถึงจรวดยังได้แรงส่งจากการหมุนของวงโคจรโลกที่ช่วยให้ย่นระยะเวลาที่จรวดเดินทางออกสู่อวกาศ โดยที่ผ่านมาสเปซเอ็กซ์มักเลือกพื้นที่บริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรในการปล่อยจรวด อาทิ ฐานปล่อยในรัฐเท็กซัส และศูนย์อวกาศเคนเนดีในรัฐฟลอริดา

แม้สเปซเอ็กซ์แสดงความสนใจพื้นที่แถบจังหวัดชวากลาง (Jawa Tengah) ในการก่อสร้างฐานส่งจรวด แต่หน่วยงานด้านการบินและอวกาศแห่งชาติอินโดนีเซีย (LAPAN) มีแผนก่อสร้างฐานปล่อยจรวดในพื้นที่จังหวัดปาปัว ทางตะวันตกของประเทศอยู่แล้ว ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั้งสองต้องหารือร่วมกัน แต่การที่เจ้าพ่อเทสลาแสดงความสนใจดังกล่าว กลายเป็นโอกาสให้อินโดนีเซียยกระดับเทคโนโลยีด้านการขนอวกาศให้กับประเทศ

สำหรับอุตสาหกรรมแบตเตอร์รี่รถยนต์ไฟฟ้าในอินโดนีเซียนั้น อีลอน มัสก์ ให้เหตุผลว่า อินโดนีเซียมีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นแหล่งของทองแดง นิกเกิล และ ดีบุก ซึ่งล้วนเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตแบตเตอร์รี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของเทสลาในระยะยาว ต่างจากพื้นที่อื่นๆ อย่าง ออสเตรเลียหรือแคนาดา ที่มีเพียงทองแดง และสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่มีนิเกิลจำนวนมาก แต่ที่อินโดนีเซียมีทรัพยากรเหล่านี้ครบถ้วน โดยเทสลาตั้งเป้าเปิดโรงงานผลิตแบตเตอร์รี่เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ถึง 200 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมงในปี 2566

ที่มา : CNA