ไม่พบผลการค้นหา
อดีต ส.ส.สองพรรคใหญ่ เมินคำเชิญนายกฯ ชวนทำสัญญากำหนดวันเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายเห็นชอบ ย้ำไม่เชื่อเลือกตั้งปี 2562 ชี้กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดวันเลือกตั้งแล้ว จวกเป็นเทคนิคยื้อเลือกตั้งออกไป

จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุในรายการ "ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน"เมื่อคืนวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่าจะเชิญทุกพรรคการเมืองมาหารือถึงกำหนดการวันเลือกตั้งที่เหมาะสมจะเกิดขึ้นเมื่อใด และต้องเป็นวันที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกัน ให้ถือเป็นวาระสำคัญของชาติที่อาจจะต้องเป็นสัญญาร่วมกัน เพื่อเดินหน้าประเทศไทยให้เป็นไปตามโรดแมปนั้น

ล่าสุด (24 ก.พ.) นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ระบุกับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ว่า ตามรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้แล้วว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นทันที เมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งประกาศใช้ครบ 4 ฉบับ จะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน แต่การพูดของพล.อ.ประยุทธ์ คือลีลาท่วงทำนองของผู้มีอำนาจที่ต้องการทำให้การเลือกตั้งช้าออกไปที่สุด

เช่นเดียวกับที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่เห็นชอบให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง 7 คน ก็เป็นความพยายามที่ทำให้เชื่อว่าต้องการเลื่อนโรดแมป ทั้งที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้คัดเลือกผู้สมควรมาเป็น กกต.แล้ว 

"นี่คือวิธีเทคนิค ไม่ว่าเทคนิคทางกฎหมาย เทคนิคของ พล.อ.ประยุทธ์ให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป เพราะกว่าจะเชิญพรรคการเมืองกว่าจะรวบรวมความเห็นก็ต้องใช้เวลา นี่คือเทคนิคทีละขั้น ใช้สถานการณ์แต่ละสถานการณ์ เป็นเทคนิคเลื่อนไปเรื่อยๆ ดังนั้น ถ้ากฎหมายเลือกตั้งประกาศใช้ครบเมื่อไร ก็ไม่จำเป็นต้องเชิญพรรคการเมืองมาหารือ เพราะกว่าจะเชิญมาครบ ก็ต้องใช้เวลาออกไปอีก"

"ถ้าคุณไม่เลือกตั้งประชาชน ก็ต้องออกมาทวงอำนาจคืน ถ้าเลือกตั้งแพ้ ก็กลืนไม่เข้าคายไม่ออก จึงยื้อการเลือกตั้ง ดังนั้นคุณ (รัฐบาลคสช.) ต้องได้เปรียบก่อนโดยใช้โครงการไทยนิยมก่อน แต่ไม่มีทางที่ประชาชนจะนิยมไทยนิยม เพราะเขานิยมพรรคเพื่อไทย" นายวรชัย ระบุ

'วัชระ' สับมติล้ม กกต.ชุดใหม่ ไม่ถูกใจ คสช.

ด้าน นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ใช้ยุทธวิธีดังกล่าวเพื่อเลื่อนเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ ให้นานทุกขณะ เพราะหากบอกว่าจะแช่แข็งไม่มีการเลือกตั้ง ก็เกรงว่าประชาชนจะรับไม่ได้ ส่วนตัวจึงไม่เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2562

เช่นเดียวกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็บอกว่าไม่เชื่อจะมีการเลือกตั้งในปี 2562 ดังนั้น ไม่มีความจำเป็นต้องเชิญพรรคการเมืองไปหารือถึงวันเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายเห็นพ้อง เพราะพรรคการเมืองทุกพรรคปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองอยู่แล้ว

"การที่ สนช.มีมติล้ม กกต. ชุดใหม่ เป็นไปตามคำพูดของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เคยพูดไว้ว่าเขาอยากอยู่ยาว เมื่อพล.อ.ประยุทธ์รับประกันจะไม่มีการคว่ำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ทำให้หวยจึงออกมาที่การล้มสรรหา กกต. เพื่อยืดเวลาเลือกตั้งออกไป ซึ่งทำให้การสรรหา กกต.ช้าออกไปอีก 5 เดือน และเพื่อให้คนของ คสช.มาเป็น กกต.ได้มากที่สุด เพราะที่ผ่านมา ยังไม่ได้บุคคลที่ถูกใจต่อผู้มีอำนาจ ทั้งที่บางคนเป็นสายของ คสช.อย่างชัดเจน" นายวัชระ ระบุ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง