ไม่พบผลการค้นหา
เหลืออีกเพียง 1 เดือน กกต. จะต้องประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ อย่างน้อยร้อยละ 95 ภายในวันที่ 9 พ.ค.นี้ ทว่า "สูตรคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ" ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 128 ยังไม่ได้บทสรุป

กำลังกลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวาง ตามที่แต่ละฝ่ายตีความบทบัญญัติไปคนละทาง แต่ละแนวทางจะส่งผลต่อการรวบรวมเสียงส.ส.ในสภา เพื่อจัดตั้งรัฐบาลของ "ฝ่ายที่คัดค้านการสืบทอดอำนาจของคสช." กับ "ฝ่ายที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคสช." อย่างมีนัยยะสำคัญ จาก 2 วิธีคิดหลักดังนี้

สูตรแรก ยึดหลักส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับต้องไม่เกินจำนวนส.ส.พึงมี ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (4) วรรคท้าย โดยแบ่งออกเป็นสองแนวทางคือ  

  • นำเสนอโดยพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ นายโคทม อารียา อดีตกกต. น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ รองประธานพีเน็ต และสื่อมวลชนหลายสำนัก ผลลัพธ์คือ จะมีทั้งสิ้น 16 พรรคที่ได้รับส.ส.

เริ่มจากการดำเนินการตาม มาตรา 128 (1) หาคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน ด้วยการนำคะแนนบัตรดี 35,532,645 หารด้วย 500 = 71,065.29

 (2) หาจำนวนส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค ด้วยการนำคะแนน 71,065 หารด้วยคะแนนดิบที่แต่ละพรรคได้รับทั้งประเทศ เช่น พรรคเพื่อไทย หรือพรรคเพื่อไทย มีคะแนนดิบ 7,920,630 หารด้วย 71,065 = 111.4561 ผลที่ได้รับคือจะมีทั้งสิ้น 16 พรรคที่มียอดส.ส.พึงมีเกิน 1 ขึ้นไป โดยลำดับสุดท้ายคือ พรรคพลังชาติไทย ที่มีคะแนนดิบ 73,871 หารด้วย 71,065 = 1.0394

(3) หาจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อเบื้องต้น ด้วยการนำ จำนวนส.ส.พึงมีตาม (2) ลบจำนวนส.ส.เขตที่แต่ละพรรคชนะไปแล้ว เช่น พรรคอนาคตใหม่ มีจำนวนส.ส.พึงมี 88.1717 เมื่อชนะส.ส.เขตไปแล้ว 30 ที่นั่ง ก็จะได้รับจัดสรรส.ส.บัญชีรายชื่อเบื้องต้น 58 ที่นั่ง แต่กรณีของพรรคเพื่อไทยที่มีจำนวนส.ส.พึงมี 111.4561 แต่เมื่อชนะได้รับส.ส.เขตไปแล้ว 137 เขต เกิน ก็ถือว่าไม่ได้รับการจัดสรรส.ส.บัญชีรายชื่อ เช่นเดียวกับพรรคประชาชาติที่มีจำนวนส.ส.พึงมี 6.8308 แต่ชนะส.ส.แบบแบ่งเขตไปแล้ว 6 เขตก็จะไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ   

เมื่อรวมจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของ 16 พรรค เฉพาะจำนวนเต็มแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้คือ 152 เกิน 150 จึงต้องปรับอัตราส่วนคือ นำจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อของทุกพรรค คูนด้วย 150 หารด้วย "ผลบวกของหนึ่งร้อยห้าสิบกับจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อที่เกินหนึ่งร้อยห้าสืบ" ซึ่งก็คือ 152 เช่น พรรคอนาคตใหม่ ส.ส.บัญชีรายชื่อเบื้องต้น 58 คูณ 150 หารด้วย 152 = 57.2368 (ดูตารางที่1 วงกลมสีแดงและน้ำตาล)

เมื่อได้ผลลัพธ์ตาม (7) แล้ว ก็ดำเนินการตาม (4) คือ จัดสรรจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อให้ครบ 150 คน โดยใช้จำนวนเต็มก่อน

ซึ่งเมื่อนำผลลัพธ์มารวมกันจะพบว่า จำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อของทั้ง 16 พรรคที่นำมาคิดนั้นคือ 138 ขาด 12 จึงจะครบ 150 จึงต้องดำเนินการตาม (6) โดยให้พรรคการเมืองที่มีเศษสูงสุด 12 อันดับ ก็จะทำให้เห็นจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคจะได้ครบ 150 คน (ดูตารางที่1 วงกลมสีเหลืองและสีฟ้า)


อนาคตใหม่ บัญชีรายชื่อ led.jpg

(สูตรคำนวณ ของ ปิยบุตร แสงกนกกุล จากพรรคอนาคตใหม่)

  • เสนอโดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ผลลัพธ์คือ จะมีทั้งสิ้น 16 พรรคที่ได้รับส.ส. แต่แตกต่างตรงปรับอัตราส่วน โดยนายสมชัยคิดโดยละเอียดกว่าคือ นำคะแนนส.ส.บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของทั้ง 16 พรรคมาบวกกันกันทั้งหมดโดยรวมเศษทศนิยมด้วย ทำให้ฐานคิดตอนปรับอัตราส่วนตาม มาตรา 128 (7) คือ 159.8349

จากนั้นจึงดำเนินการปัดเศษตาม (4) และ (6) ทำให้ผลลัพธ์จำนวนส.ส.ทั้งหมดของ 16 พรรค ต่างกับแนวทางที่1.1เล็กน้อยตรง พรรคอนาคตใหม่ และพรรคประชาธิปัตย์ จะได้จำนวนส.ส.ที่ +-1 เท่านั้น

สมชัย บัญชีรายชื่อ led.jpg

(สูตร คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อของ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.)

สูตร 2 ยึดหลักการคำนวณทุกคะแนนไม่ทิ้งน้ำ นำเสนอโดย นายประพันธ์ นัยโกวิท อดีต กรธ. และกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สมาชิก สนช. โฆษก กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และศูนย์ปฏิบัติการด้านการข่าวสำนักงานกกต. โดยผลลัพธ์คือ จะมีไม่น้อยกว่า 25 พรรคการเมืองที่ได้ส.ส.

โดยความแตกต่างของสูตรนี้ อยู่ที่การนำส.ส.บัญชีรายชื่อเบื้องต้น ที่เกิดจากการนำจนวนส.ส.พึง ลบด้วยจำนวนส.ส.เขต ทุกคะแนนรวมถึงทศนิยมของทุกพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อซึ่งมี 77 พรรคมาคิดรวมทั้งหมด

จึงทำให้การคิดตอนปรับอัตราส่วนตาม (7) ฐานคิดจะอยู่ที่ 175.5443 เมื่อนำมาดำเนินการตาม (4) จึงทำให้ผลรวมนั้นได้ 126 เหลือเศษทั้งหมด 24 ที่ต้องปัดให้

ซึ่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่งจุดแตกต่างที่สำคัญจากแนวทางที่ 1 คือการปัดเศษตามแนวทางที่ 2 นี้ จะปัดโดยยึดจากทศนิยมมากที่สุด 24 อันดับจาก ทั้ง 77 พรรค ไม่ได้คำนึงเรื่องจำนวนส.ส.พึงมีเป็นสำคัญแบบแนวทางที่ 1 ซึ่งยึดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 (4) วรรคท้าย ผลลัพธ์ที่ได้ จึงพบได้ดังตารางการคำนวณที่ไอลอว์คิดเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า จะมี 30 พรรคที่ได้รับส.ส. โดยมี 13 พรรคที่ได้รับส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คนโดยที่จำนวนส.ส.พึงมีนั้นไม่ถึง 1

บัญชีรายชื่อ _48455725.jpg

(ไอลอว์ เสนอสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สูตรที่สอง ที่กระจาย ส.ส.ให้พรรคขนาดเล็กที่ได้ ส.ส.พึงมี ไม่ถึง 1 ที่นั่ง)

หากเปรียบเทียบภาพรวมจาก 2 แนวทางการคิดหา ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้ว หลายฝ่ายเห็นพ้องกันว่า แนวทางที่ 1 นั้นมีความสมเหตุสมผลทางคณิตศาสตร์มากกว่า

เพราะผลลัพธ์สุดท้าย ที่ 16 พรรคได้ส.ส.นั้น ก็ไม่มีพรรคไหนได้เกินไปจากจำนวนส.ส.พึงมี ที่จะมีส.ส. 1 คนได้ต้องมีอย่างน้อย 71,065 เสียง

ต่างจากแนวทางที่สำนักงาน กกต. คิด ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตหักล้างในเรื่องพรรคเล็ก 13 พรรคได้ส.ส. โดยที่จำนวนส.ส.พึงมีไม่ถึง 1 กันอย่างมาก ต่ำสุดที่ได้ส.ส.มีคะแนนเพียง 2 หมื่นปลายๆเท่านั้น

เมื่อพิจารณาถึงคณิตศาสตร์การเมือง ในการชิงความได้เปรียบรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล โดยคำนวณตาม แนวทางที่ของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และนายสมชัย จะพบว่า "พรรคฝ่ายต่อต้านการสืบทอดอำนาจคสช." 7 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย 137 พรรคอนาคตใหม่ 87 (+-1) พรรคเสรีรวมไทย 11 พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 พรรคประชาชาติ 6 พรรคเพื่อชาติ 5 และพรรคปวงชนชาวไทย 1 รวมมีส.ส. 253 ที่นั่ง เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร 

พรรคฝ่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคสช. 5 พรรค คือ พรรคพลังประชารัฐ 118 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง พรรคพลังท้องถิ่นไท 2 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย 1 เสียง พรรคพลังชาติไทย 1 เสียง รวมมีส.ส. 127 ที่นั่ง ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แต่หากรวม 250 ส.ว.แต่งตั้ง ก็จะเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา

ขณะที่พรรคฝ่ายสงวนท่าทีรอร่วมรัฐบาลเสียงข้างมาก 4 พรรคคือ พรรคประชาธิปัตย์ 54 (+-1) พรรคภูมิใจไทย 52 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 11 เสียง พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง รวมมีส.ส. 120 ที่นั่ง กลายเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล

สุดารัตน์และธนาธร 7พรรค ตั้งรัฐบาล สัตยาบัน

(พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยแถลงข่าวรวมเสียงกันตั้งรัฐบาลเกิน 250 เสียง)

เมื่อพิจารณาจำนวน ส.ส.ตามแนวทางที่ 2 ที่เป็นสูตรคำนวณ ของ กกต. กรธ. จะพบว่า "พรรคฝ่ายต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช." 7 พรรค คือ พรรคเพื่อไทย 137 เสียง พรรคอนาคตใหม่ 80 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 10 เสียง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง พรรคประชาชาติ 7 เสียง พรรคเพื่อชาติ 5 เสียง และพรรคพลังปวงชนไทย 1 เสียง รวมมี ส.ส. 246 ที่นั่ง ไม่ถึงกึ่งของสภาผู้แทนราษฎรทันที

"พรรคฝ่ายสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคสช." 5 พรรค คือ พรรคพลังประชารัฐ 116 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 4 เสียง พลังท้องถิ่นไท 3 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย 2 พรรคพลังชาติไทย 1 รวมมีส.ส. 126 ที่นั่ง ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แต่หากรวม 250 ส.ว.แต่งตั้ง ก็จะเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา

"พรรคฝ่ายสงวนท่าทีรอร่วมรัฐบาลเสียงข้างมาก" 4 พรรคคือ พรรคประชาธิปัตย์ 49 เสียง พรรคภูมิใจไทย 51 พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคชาติพัฒนา 2 เสียง รวมมีส.ส. 112 ที่นั่ง กลายเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล สำหรับทั้ง 2 ฝ่าย โดยหากรวมกับพรรคฝ่ายต่อต้าน คสช.ก็จะมีส.ส.รวมกว่า 358 ที่นั่ง ในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้

ขณะที่พรรคขนาดเล็กที่ได้รับจากจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมกัน 16 ที่นั่ง จะถูกจับตามองว่า จะเป็นเบี้ยหัวแตกที่รวมกลุ่มกันแล้วจะมีอำนาจต่อรองในการร่วมรัฐบาลสูงมาก

ประยุทธ์-ปราศรัย-พลังประชารัฐ-สนามเทพหัสดิน-เลือกตั้ง2562

โดยนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ฝ่ายสนับสนุน คสช.จะเป็นผู้รวบเสียงพรรคเล็กเหล่านี้ไปร่วมรัฐบาล ซึ่งถ้ารวมกับพรรคฝ่ายที่ยังสงวนท่าทีเข้าด้วยนั้น ก็จะทำให้ พรรคฝ่ายสนับสนุน คสช. มี ส.ส.ทั้งสิ้น 254 ที่นั่ง เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร สามารถเลือกนายกฯและตั้งรัฐบาลได้โดยไม่ต้องพึ่ง 250 ส.ว.แต่งตั้ง แต่ด้วยเสียงที่ปริ่มน้ำก็อาจนำไปสู่ปัญหาหารการเจรจาต่อรอง เพราะเสียงที่ปริ่มน้ำมีผลต่อการผ่านกฎหมายฉบับสำคัญหรือการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ

แนวทางการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อทั้ง 2 แนวทางให้ผลที่แตกต่างกันอย่างมหาศาล จนมีผลต่อจำนวนส.ส.ของแต่ละพรรค ที่จะทำการรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และกำหนดโฉมหน้าของรัฐบาลถัดไปชนิดต้องลุ้นระทึก สำหรับ "ฝ่ายที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคสช." และ "ฝ่ายที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช."

แน่นอนว่า สุดท้ายแล้วการคำนวณส.ส.ที่กกต.จะใช้ มีเพียงสูตรเดียวตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น

แต่ผลที่ตามมาหมายถึงการเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองของทั้ง 2 ฝ่าย จึงมีการคาดหมายกันแล้วว่า สูตรคำนวณส.ส.ตามกฎหมาย จะกลายเป็นประเด็นทางการเมืองเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ชนิดที่ไม่มีใครยอมใคร ไม่ว่าหวยจะออกแนวทางไหน ก็เชื่อว่า จะต้องจบที่การฟ้องร้องต่อศาลอย่างแน่นอน

หากใช้สูตรที่ 1 พรรคเล็กจำนวนมากที่ได้เฮไปแล้วล่วงหน้าย่อมต้องมีการทวงถาม

หากใช้สูตรที่ 2 ก็ยังมีข้อโต้แย้งที่ยังไม่ได้รับความกระจ่างว่า ทำไมพรรคเล็กที่ได้คะแนนไม่ถึง 71,065 เสียง จึงได้ส.ส. และแน่นอนว่า ผู้เสียประโยชน์อย่างมากคือ พรรคอนาคตใหม่ และพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ที่จำนวนส.ส.จะหายไปพรรคละ 5-10 ที่นั่ง คงไม่อยู่นิ่งเฉย 

ด้าน นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ไว้ว่า สูตรคิดส.ส.บัญชีรายชื่อจะกลายเป็นระเบิดเวลาทางการเมืองลูกต่อไปที่อาจนับถอยหลังรอวันระเบิด นักร้องจำนวนมากพร้อมจะไปยื่นต่อศาลให้พิจารณาวินิจฉัย โดยชี้ว่า มาตรา 91 (4) วรรคท้ายที่กำหนดว่า การจัดสรรส.ส.บัญชีรายชื่อตามอัตราส่วน ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดมีส.ส.เกินจำนวนส.ส.พึงมี จะเป็น "คีย์เวิร์ด"ที่สำคัญในการยุติปัญหาได้

องศาร้อนการเมืองไทยจากระเบิดเวลาลูกถัดไปคงต้องฝากความหวังไว้กับ กกต.ที่ยังมีเวลาเคาะสูตรสุดท้ายในการคำนวณหาส.ส.บัญชีรายชื่อ ถึงวันที่ 9 พ.ค.นี้

กกต.จะเป็นผู้ "ถอดสลัก" หรือ "จุดชนวน" โปรดติดตามด้วยใจระทึก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง