ไม่พบผลการค้นหา
กรมอุทยานฯ แจงพื้นที่ก่อสร้างบ้านพักตุลาการ อยู่นอกแนวเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย ย้ำไม่ได้มีการเพิกถอนพื้นที่เพื่อให้มีการก่อสร้าง

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยถึงกรณี มีการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับพื้นที่ก่อสร้างบ้านพักตุลาการ ว่ากรมอุทยานแห่งชาติฯ มีการเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าวเพื่อนำไปสร้างบ้านพักตุลาการหรือไม่ ทางกรมอุทยานฯ ขอยืนยันว่าไม่ได้มีการออกประกาศในพระราชกฤษฎีกา (พรฏ.) เพิกถอนอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เพื่อนำพื้นที่ไปก่อสร้างบ้านพักตุลาการแต่อย่างใด

โดยก่อนหน้านี้เมื่อ ปี พ.ศ 2492 มีพรฏ. กำหนดเขตที่ดินหวงห้าม ไว้เพื่อใช้ประโยชน์แห่งกรมป่าไม้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2507 ได้มีกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยสุเทพ ก่อนจะมี พรฏ.กำหนดบริเวณที่ดินป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยสุเทพ ให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ 2504 โดยมีพื้นที่ทับซ้อนกับบริเวณที่หน่วยงานราชการต่างๆ ได้ขออนุญาตใช้ประโยชน์อยู่ก่อนแล้วในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา ได้มี พรฏ.เพิกถอนบริเวณที่หน่วยงานราชการขอใช้ประโยชน์อยู่เดิมออกจากเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จำนวน 9 หน่วยงาน ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) โครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี สำนักงานพิงคนคร (องค์การมหาชน) มูลนิธิโครงการหลวง ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวเชียงใหม่ กรมการข้าว ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จ.เชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จ.เชียงใหม่ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านการอารักขาพืช จ.เชียงใหม่ สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (วัดดอยปุย)

บ้านพักตุลาการ


"สาเหตุที่ต้องมีการเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าวออกจากเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เนื่องจากบริเวณที่หน่วยงานราชการใช้ประโยชน์อยู่ก่อนแล้ว ขัดกับแนวทางการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ" นายธัญญา กล่าว

ดังนั้น การเพิกถอนเขตอุทยานแห่งชาติ(บางส่วน)ครั้งนี้ ไม่ได้รวมกับบริเวณบ้านพักตุลาการซึ่งอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติมาแต่เดิมแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบความเป็นมาของบริเวณสถานที่ก่อสร้างบ้านพักตุลาการ พบว่าเมื่อปี พ.ศ. 2483 ได้มี พรฏ.กำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่อำเภอแม่ริมไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในราชการทหาร จากนั้นเมื่อปี พ.ศ 2500 มีการนำที่ดินดังกล่าวขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ ระบุว่าเป็นการใช้ในราชการกระทรวงกลาโหม และมีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) ให้อยู่ในความควบคุมดูแลของกรมธนารักษ์เนื้อที่ 23,787-2-37 ไร่

ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 ได้เริ่มมีการขอใช้พื้นที่ราชพัสดุเพื่อก่อสร้างบ้านพักศาลและอาคารที่ทำการ โดยสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 และมีการอนุญาตจากกรมธนารักษ์ให้ใช้พื้นที่ในปี พ.ศ. 2547 เนื้อที่ 147-3-30 ไร่ โดยเริ่มมีการก่อสร้างในปี พ.ศ.2557 จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ มีแผนที่แสดงแนวเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย กับพื้นที่ก่อสร้างบ้านพักตุลาการซึ่งอยู่นอกแนวเขตอุทยานฯ มาตั้งแต่เริ่มต้นอย่างชัดเจน และขอยืนยันว่าพื้นที่ก่อสร้างอาคารบ้านพักตุลาการไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการเพิกถอนเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย แต่ประการใด

บ้านพักตุลาการ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

สถาปนิกผังเมืองล้านนา ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยโครงการบ้านพักตุลาการ

ยันไม่รื้อ 'บ้านพักบนดอย' เล็งปรับพื้นที่ให้ปชช.ใช้ประโยชน์

คณะนิติศาสตร์ มช. ออกความเห็นกรณีบ้านพักตุลาการ