ไม่พบผลการค้นหา
ประชุมรัฐสภาวันแรกอภิปรายทั่วไปหาทางออกให้กับการชุมนุมนอกรัฐสภา ‘ชลน่าน’ ปิดท้ายซัดนายกฯ ต้องรับผิดชอบปล่อยขบวนเสด็จผ่านม็อบ บี้ 'ประยุทธ์' ต้องลาออก เปิดทางโหวตนายกฯ นอกบัญชีมาจาก ส.ส.

ในช่วงท้ายของการประชุมร่วมกันของรัฐสภา วันที่ 26 ต.ค. 2563 เพื่อพิจารณาญัตติขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า เมื่อมองปัญหาสำคัญในการบริหารราชแผ่นดิน มีสาเหตุมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.) กลาโหม เข้าสู่อำนาจสมัยเป็น คสช. จัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อสืบทอดอำนาจ เมื่อเข้าสู่อำนาจ 6 ปีที่ผ่านมา ถ้าบริหารดี คงไม่มีใครประท้วง แต่การบริหารของท่านทั้งเศรษฐกิจ การเมือง วิกฤติสังคมเหลื่อมล้ำ เกิดวิกฤตศรัทธา บริหารภาวะวิกฤตไม่เป็น แทนที่จะระงับยับยั้งกลับใช้วิธีขยายปัญหาโดยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการอ่อนด้อยในการบริหารราชการแผ่นดิน มีการสลายการชุมนุมแยกปทุมวันวันที่ 16 ต.ค. ใช้อำนาจเกินขอบเขต ลุแก่อำนาจ 

สิ่งที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องนั้นเรียกร้องมาก่อนเกิดโควิด-19 แต่เมื่อไม่ได้รับการตอบสนอง ข้อเรียกร้องก็ขยายออกไปรวมถึงเรื่องการปฏิรูปสถาบัน หลายคนมองว่า เป็นข้อเรียกร้องที่เกินเลย ไม่เหมาะสม การปฏิรูปสถาบันเป็นคำสามัญทั่วไป 

ส่วนข้อเสนอจะจาบจ้วงหรือไม่ ต้องไปดูที่ถ้อยคำ เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่รักสถาบัน อยากเห็นสิ่งที่รัก อยู่ในจุดที่เหมาะสม ทุกคนยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่การเปลี่ยนโครงสร้างหรือล้มล้าง หลังยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องใช้กฎหมายปกติดูแล การจับกุมคุมขังต้องใช้กฎหมายปกติ ความผิดที่เกิดจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินรวม 46 ราย ต้องได้รับการปล่อยตัวทันที

ส่วนขั้นตอนที่จะสั่งฟ้องต้องทำคำสั่งไม่ฟ้อง เมื่อยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว จะไปเอาความผิดตามกฎหมายใด นอกจากนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต้องมีการสอบข้อเท็จจริง โดยเฉพาะการรบกวนขบวนเสด็จ จะผ่านกรรมาธิการสามัญหรือตั้งวิสามัญสอบข้อเท็จจริงว่าใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนตัวเห็นว่านายกฯ ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้บริหารสูงสุด ปล่อยให้ขบวนเสด็จผ่านเข้าไปในที่ชุมนุมได้อย่างไร รวมทั้งต้องสอบข้อเท็จจริงเรื่องการสลายการชุมนุมว่า มีการใช้มาตรการเกินกว่าเหตุหรือไม่เพื่อคุ้มครองผู้ชุมนุม 

กระทุ้งนายกฯ ลาออก เปิดทางเลือกนายกฯ นอกบัญชี มาจาก ส.ส.

นพ.ชลน่าน ระบุว่า การแก้รัฐธรรมนูญที่ท่านรับไปว่าจะแก้นั้น ไม่มั่นใจว่าจะรับทั้ง 6 ร่างที่เสนอไป หรือมีแนวโน้มอาจรับ มาตรา272 หรือมาตรา 256 หรือมาตราเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ขอเพียงแค่มีความจริงใจ ส่วนร่างของไอลอว์ 1 แสนชื่อ ทราบว่าจะพิจารณาเสร็จในวันที่ 11 พ.ย. หากรอได้อยากให้นำมาพิจารณาพร้อมกันกับร่างอื่น ศูนย์รวมของปัญหาคือนายกฯ ขอให้เห็นแก่ชาติบ้านเมือง ท่านทำมาเยอะแล้ว แต่วันนี้บ้านเมืองไปไม่ได้ มีคำเดียวที่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด คือลาออกจากการเป็นนายกฯ แม้จะมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม เลือกนายกฯ เข้ามาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 แม้วรรคสองจะระบุว่าหากเลือกในบัญชีไม่ได้ เราก็ยินดีสนับสนุนให้เลือกคนที่เหมาะสมเป็นนายกฯ แต่ไม่ได้หมายถึงคนนอกสภาฯ ต้องเป็น ส.ส.ในสภาฯ ถือว่าเป็นทางออกในการแก้ปัญหา 

ชลน่าน _รัฐสภา_201026_660.jpg

นพ.ชลน่านระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่อยากให้มองอีกฝ่ายเป็นปัญหา อย่ามองข้อเรียกร้องของเยาวชนเพื่อใช้เป็นเครื่องมือแย่งชิงอำนาจทางการเมือง ความจริงใจของนายกฯ ที่จะไม่เติมเชื้อไฟเข้าสู่กองฟืน ตนหดหู่ใจมาก พ่อเป็นผู้ใหญ่บ้าน ต้องแต่งเสื้อเหลืองไปร้องเพลงชาติ ขณะที่ลูกไปชุมนุม สร้างความแตกแยกในสังคมระดับครอบครัวอย่างร้าวฉาน ภาพแบบนี้อย่าให้เกิดขึ้น เรารักชาติ เทิดทูนสถาบัน เราต้อง ยกสถาบันขึ้นเหนือเกล้าเหนือกระหม่อม การปฏิรูปสถาบันอาจเอาเหลือบ ริ้น ยุงที่แอบอิงเกาะกินสถาบันออกมาให้หมด สถาบันจะมีความสง่างาม

​ทั้งนี้ หลังจากที่สมาชิกฯ ได้อภิปรายในประเด็นต่าง ๆ เป็นเวลาพอสมควรแล้ว ประธานที่ประชุมได้กล่าวขอบคุณสมาชิกรัฐสภา เจ้าหน้าที่ สื่อมวลชน และประชาชนที่ได้ติดตามบทบาทภารกิจการทำหน้าที่ของรัฐสภา โดยประธานฯ ได้นัดประชุมครั้งต่อไปในวันอังคารที่ 27 ต.ค.นี้ และสั่งปิดการประชุม เมื่อเวลา 20.27 น.  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง