ไม่พบผลการค้นหา
หลายภาคส่วนออกมาประณามการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมแยกเกียกกาย ด้าน 'พิชัย' ชี้ผิดหลักสากล 'ประยุทธ์' ต้องรับผิดชอบ ขณะ 'นภาพร' จี้ตรวจสอบผู้ที่เกี่ยวข้องเหตุสลายการชุมนุม 'EnLAW' จี้ รัฐบาลเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ศูนย์เอราวัณ สรุปยอดผู้บาดเจ็บรวม 55 คน ในจำนวนนี้ถูกยิง 6 คน

พิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ขอประณามการกระทำที่มีการใช้น้ำผสมสารเคมีฉีด และใช้แก๊สน้ำตา กับผู้ชุมนุมที่เป็นประชาชน ที่รวมถึงนักเรียน นักศึกษาอย่างป่าเถื่อน ผิดหลักการสากล และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องการทำร้ายประชาชนนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพล.อ.ประยุทธ์ยังติดนิสัยของการเป็นเผด็จการอยู่จึงได้ปล่อยให้มีการทำร้ายประชาชนโดยขาดความสำนึกละอายใจเช่นนี้ 

พิชัย ระบุว่า ข่าวการทำร้ายผู้ชุมนุมได้กระจายไปทั่วโลกแล้วจากสื่อหลักต่างประเทศ ซึ่งได้ทำลายความหวังของประเทศไทยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างหมดสิ้น คงไม่มีนักลงทุนจากประเทศไหนอยากจะมาลงทุนในประเทศที่มีรัฐบาลที่ป่าเถื่อนขาดจริยธรรม และ ทำร้ายประชาชนได้ ภาพของเด็กนักเรียนถูกแก๊สน้ำตา แม้กระทั่งเด็กอนุบาลยังโดนทำร้าย ได้สร้างความสะเทือนใจคนที่เห็นในโซเชียลเป็นจำนวนมาก ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์หมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศอีกต่อไป ยิ่งอยู่ต่อไป ประเทศจะยิ่งเสียหายและเสียชื่อ ดังนั้นพล.อ.ประยุทธ์ จะต้องไม่เป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไปแล้ว ประเทศไทยถึงจะเดินหน้าได้ มิเช่นนั้นจะไม่มีใครเชื่อถือประเทศไทยอีกต่อไป 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยถูกสหรัฐฯ ตัดจีเอสพีถึง 2 ครั้งในปีนี้ และถูก 5 ทูตของประเทศคู่ค้าหลัก ทั้ง สหรัฐ อังกฤษ เยอรมัน ญี่ปุ่น และ ออสเตรเลีย ออกมาแนะนำอีกเป็นครั้งที่ 2 เหมือนเป็นการตำหนิความล้มเหลวในการบริหารประเทศไม่ต่างอะไรกับการถูกตบหน้า ถ้าหากพล.อ.ประยุทธ์จะเข้าใจและยังมีความละอายใจเหลืออยู่ 

ในภาวะที่โลกเผชิญวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด ถ้าหากมองทางด้านดีแล้ว เหมือนกับโลกกำลังรอประเทศไทยให้รีบจัดการปัญหาภายในประเทศของเราให้เรียบร้อยและให้กลับมาเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก เพื่อประเทศไทยจะได้กลับมาฟื้นและก้าวไปพร้อมกับโลกได้ทัน เพราะถึงไม่มีวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด ประเทศไทยก็ยังคงจะเสื่อมถอยจากความล้มเหลวในการบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์มาตลอด 6 ปีกว่า และปีนี้ถึงไม่มีไวรัสโควิดเศรษฐกิจไทยก็จะยังคงติดลบ แต่อาจจะไม่มากเท่านี้ ซึ่งไทยจะถูกประเทศอื่นแซงไปไกลเลยถ้าไม่เกิดปัญหาไวรัสโควิด

ดังนั้นไทยจะต้องใช้โอกาสนี้ในการแก้ไขปรับปรุงประเทศให้เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก และ การแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นฉบับของประชาชนอย่างแท้จริง และการแก้รัฐธรรมนูญตามที่ iLaw เสนอก็เป็นแนวทางที่จะช่วยประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับ และพรรคเพื่อไทยก็สนับสนุนให้มีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริงนี้ ซึ่งหากมีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนแล้ว เชื่อได้ว่าเผด็จการจะไม่สามารถสืบทอดอำนาจต่อไปได้ และจะไม่มีโอกาสจะมาทำร้ายประชาชนได้อีก แต่ในระหว่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไป เพราะไม่มีใครเชื่อถือแล้วทั้งในประเทศและ

รัฐสภา ตำรวจ กลุ่มราษฎร


'นภาพร' จี้ตรวจสอบผู้เกี่ยวข้องเหตุสลายชุมนุม

นภาพร เพ็ชร์จินดา ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเสรีรวมไทย แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นบริเวณหน้ารัฐสภาและขอประนามเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจกับผู้ชุมนุมเกินกว่าเหตุ โดยเฉพาะการจงใจปล่อยให้มวลชนอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามาปะทะกับม็อบราษฎร จนเหตุการณ์บานปลาย มีผู้บาดเจ็บถึง 41 คน และที่สำคัญครั้งนี้มีการยิงปืนใส่ผู้ชุมนุมด้วย จึงถือเป็นเรื่องที่จะต้องมีคนรับผิดชอบกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น

“รัฐบาลชุดนี้มีพฤติกรรม 2 มาตรฐานกับผู้ชุมนุมอย่างชัดเจน เพราะผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งตำรวจไฟเขียวให้เดินทางผ่านด่านแนวกั้นเข้ามาทำกิจกรรมหน้าสภาได้ แต่กับกลุ่มม็อบราษฎรตำรวจกลับใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ โดยเฉพาะการใช้แก๊สน้ำตาทั้งที่พวกเขามาชุมนุมด้วยความสงบเช่นเดียวกัน เพียงแต่คิดต่างจากรัฐบาลและมีจำนวนมากกว่ากลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลเท่านั้น” นภาพร กล่าว

นภาพร กล่าวต่อว่า รัฐบาลจะปฎิเสธความรับผิดชอบไม่ได้โดยเด็ดขาด โดยเฉพาะการที่ตำรวจปล่อยให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งสามารถนำอาวุธทั้งมีดและปืนเข้าไปทำร้ายม็อบราษฎรถึงหน้าสภาได้ ทั้งที่ตำรวจก็ควบคุมสถานการณ์อยู่ อย่างนี้จะให้ประชาชนเข้าใจว่าอย่างไร ดังนั้นรัฐบาลต้องมีคำตอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการปล่อยให้มีการใช้กระสุนจริงยิงใส่ม็อบราษฎร รัฐบาลจะต้องมีคำตอบกับสังคม

ม็อบ 17 พ.ย. ปะทะแยกเกียกกาย


EnLAW จี้ รบ.เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ออกแถลงการณ์ระบุว่า เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารที่สร้างความระคายเคืองใส่ผู้ชุมนุมหน้ารัฐสภา ถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ชุมนุม

ทั้งนี้ การชุมนุมของประชาชนเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธซึ่งได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และข้อบทที่ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

การที่รัฐบาลโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเลือกการกระทำที่เกินความจำเป็นและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้อำนาจละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนอย่างร้ายแรง มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ขอประณามการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ชุมนุม พร้อมทั้งมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังต่อไปนี้ 

1.ขอให้รัฐบาลเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนในฐานะคุณค่าสูงสุด

2.ขอให้ยุติการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม

3.ขอให้มีการตรวจสอบการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมและลงโทษเจ้าหน้าที่ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับใช้อำนาจเกินกว่าเหตุในการสลายการชุมนุม                                        

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

4.jpg

55 คนได้รับบาดเจ็บจากเหตุสลายการชุมนุม

ศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร สรุปผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุสลายการชุมนุมวานนี้ (17 พ.ย. 2563) ในพื้นที่โดยรอบอาคารรัฐสภา เกียกกาย รวม 55 คน แบ่งเป็น บาดเจ็บจากแก๊สน้ำตา 32 คน ถูกยิง 6 คน ป่วย 4 คน  และบาดเจ็บอื่นๆ 13 คน 

ทั้งนี้ ได้กระจายรักษาตัวในโรงพยาบาลต่างๆ มากที่สุดคือ รพ.วชิรพยาบาล 37 ราย รองลงมาคือ รพ.พระมงกุฎ 5 ราย รพ.พระรามเก้า 4 ราย รพ.ราชวิถี 4 ราย รพ.รามา 1 ราย รพ.เพชรเวช 1 ราย รพ.กลาง 1 ราย รพ.เลิดสิน 1 ราย และรพ.มิชชั่น 1 ราย

8.jpg


นักกฎหมายเอาผิด ตร.ละเว้นหน้าที่

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้ออกมาจดหมายเปิดผนึกถึง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ฐานจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าโดยไม่ชอบ ในการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมอย่างสันติของผู้ชุมนุมในนาม “ราษฎร” โดยไม่แสดงท่าทีใช้ความรุนแรง ระหว่างที่มีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ ซึ่งมีความกังวลจากภาคประชาชนว่า ฉบับร่างแก้ไขของประชาชนที่ผลักดันและนำเสนอโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ จะถูกตีตกโดยส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว.แต่งตั้งโดย คสช.

เนื้อหาจดหมายระบุว่า จากเหตุสลายการชุมนุมของคณะราษฎรและการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับมวลชนอีกฝ่ายเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ศูนย์เอราวัณรายงานยอดผู้บาดเจ็บรักษาตัวในโรงพยาบาล รวม 41 ราย ได้แก่ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล 37 ราย โรงพยาบาลรามาธิบดี 1 ราย โรงพยาบาลพระรามเก้า 2 ราย และโรงพยาบาลเพชรเวท 1 ราย ในจำนวนนี้ เบื้องต้นพบบาดแผลถูกยิงรวม 5 ราย ได้แก่ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล 1 ราย (บาดแผลที่ขา) โรงพยาบาลรามาธิบดี 1 ราย (บาดแผลที่ข้อมือ) โรงพยาบาลพระรามเก้า 2 ราย (บาดแผลที่ขา) และโรงพยาบาลเพชรเวท 1 ราย (บาดแผลที่ท้อง)

ในการชุมนุมหลายครั้งก่อนเหตุการณ์วันที่ 17 พ.ย. มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะพิสูจน์ทราบได้ว่าจะเกิดการทำร้ายร่างกายระหว่างที่มีการเผชิญหน้าของมวลชนทั้งสองกลุ่ม ผบ.ตร. หรือ ผบ.ชน. สามารถออกคำสั่งให้มีการดูแลความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ณ จุดที่มีมวลชนทั้งสองฝ่ายปักหลักอยู่ ดังจะเห็นได้จากภาพข่าวที่สื่อมวลชนรายงาน ปรากฏชัดเจนว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแนวกั้นอยู่ระหว่างผู้ชุมนุมทั้งสองกลุ่มอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ต่อมากลับมีการถอนกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากจุดดังกล่าว จนเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายในเวลาประมาณ 17.00 น.เศษ แต่ท่านก็ยังเพิกเฉย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อไม่เข้าระงับเหตุ จนกระทั่งมีการปะทะกันอีกครั้งในช่วงเวลาประมาณ 20.00 น.เศษ ทำให้ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรได้รับบาดเจ็บ และเป็นการบาดเจ็บที่เกิดจากกระสุนปืนถึง 5 ราย

ข้อเท็จจริงดังกล่าว ถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และ/หรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ซึ่งท่านมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

และในเวลา 16.00 น. ของวันนี้ (18 พ.ย.) จะมีการชุมนุมของกลุ่มราษฎรบริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งท่านมีหน้าที่ตามกฎหมายในการป้องกันเหตุอันตรายโดยการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดูแลความปลอดภัยในการชุมนุม หากท่านยังละเลย ปล่อยให้มีการใช้อาวุธ ใช้ความรุนแรงจนเกิดเหตุปะทะกันดังที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ย่อมเป็นการจงใจลิดรอนเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนโดยอาศัยมวลชนอีกฝ่ายเป็นเครื่องมือใช้ความรุนแรงเพื่อสร้างความหวาดกลัว

พฤติการณ์ของท่านดังกล่าวข้างต้น ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จะได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์หรือฟ้องคดีอาญาท่านตามกฎหมายต่อไป

https://pbs.twimg.com/media/EnE1YPaUUAMctJT?format=jpg&name=large

'ภาคีศิลปินเสรี' ประณาม ตร.ใช้ความรุนแรงสลายราษฎร

กลุ่มภาคีศิลปินและคณะดนตรีเสรีแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มศิลปินหลากหลากวง ออกมาเคลื่อนไหวเผยแพร่แถลงการณ์ ประณามการใช้ความรุนแรงจากภาครัฐและการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานต่อผู้เห็นต่างจากผู้มีอำนาจ โดยมีเนื้อความระบุว่า 

ในนามภาคีศิลปินและคณะดนตรีเสรีแห่งประเทศไทย เราขอประณามการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานของผู้บังคับใช้อำนาจ และการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบกับผู้ชุมนุม ที่เพียงต้องการไปติดตามผลการรับร่างรัฐธรรมนูญด้วยความสงบ

มีพี่น้อง และเพื่อนพ้องของพวกเราที่โดนแก๊สน้ำตา น้ำผสมสารเคมีที่ทำให้ เกิดการระคายเคืองจากเจ้าหน้าที่รัฐ มิหนำซ้ำ ยังปล่อยให้มีการใช้อาวุธ ขว้างปาสิ่งของ และแย่ที่สุด คือ มีการใช้กระสุนจริง กับผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง ทั้งที่เป็นหน้าที่ของตำรวจ ที่ต้องควบคุมการชุมนุมให้เป็นไปโดยความสงบ และปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

หากแต่เจ้าหน้าที่รัฐ หันหลังให้กับประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า หลับตาข้างเดียวปล่อยให้ประชาชนอีกกลุ่มเข้าไปบริเวณรัฐสภา เพื่อตั้งกำลังเตรียมมาทำร้ายผู้ชุมนุมอีกฝั่งได้อย่างหน้าตาเฉย พวกเราขอร่วมประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความอยุติธรรมและความรุนแรงไม่สมควรได้รับการยอมรับหรือเพิกเฉย

และขอเชิญชวนให้ทุกคนไปแสดงพลังกันที่แยกราชประสงค์ในวันพุธที่ 18 พฤศจิกายน เวลา 14.00 น. โดยพร้อมเพรียงกัน เราจะทำให้ ถนนที่ชื่อว่า ความประสงค์ของ ‘ราชา’ กลายเป็น ‘ราษฎร์’ ประสงค์ อย่างแท้จริง

ม็อบ 17 พ.ย. ฝ่าด่าน ลูกเกดเจรจา