ไม่พบผลการค้นหา
ตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางการเมืองอิตาลี โดยหุ้นตกทั้งตลาดยุโรป สหรัฐฯ เอเชีย ตั้งแต่เมื่อวานถึงวันนี้ (30 พ.ค.) เนื่องจากอิตาลีไม่สามารถตั้งรัฐบาลผสมได้ แม้การเลือกตั้งจะเสร็จสิ้นไปตั้งแต่เดือน มี.ค. ส่วน ปธน.ใช้สิทธิวีโต้ค้านชื่อ รมว.เศรษฐกิจ ทำให้นายกฯ ลาออก

นายแซร์โจ มัตตาเรลลา ประธานาธิบดีอิตาลี แต่งตั้งนายคาร์โล คอตตาเรลลี อดีตกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ เมื่อวานนี้ (29 พ.ค.) หลังจากที่นายมัตตาเรลลาใช้สิทธิตามตำแหน่งประธานาธิบดี คัดค้านการเสนอชื่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่มีแนวคิดต่อต้านการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ส่งผลให้ผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีประกาศถอนตัวจากตำแหน่งเมื่อ 28 พ.ค.

ผู้ที่ถูกคัดค้านการเสนอชื่อเป็น รมว.เศรษฐกิจ คือ นายเปาโล ซาโวนา ซึ่งมีแนวคิดต่อต้านการเป็นสมาชิกยูโรโซนของอิตาลี และ ปธน.มัตตาเรลลาให้เหตุผลว่า ถ้านายซาโวนาได้รับตำแหน่งดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของอิตาลี ซึ่งยังต้องพึ่งพาอียูและไม่อาจถอนตัวจากยูโรโซนที่ใช้สกุลเงินยูโรเป็นหลักได้

การตัดสินใจของ ปธน.มัตตาเรลลา ส่งผลให้ผู้นำพรรคขบวนการ 5 ดาว หรือไฟฟ์สตาร์มูฟเมนต์ (M5S) และพรรคลีก ซึ่งได้คะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เดินขบวนต่อต้านรัฐบาลที่เมืองเนเปิลส์ และเรียกร้องให้เปิดอภิปรายเพื่อถอดถอนนายมัตตาเรลลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี

ทั้งนี้ พรรคไฟฟ์สตาร์ฯ และพรรคลีกสนับสนุนนโยบายประชานิยม-ชาตินิยม รวมถึงต่อต้านการเป็นสมาชิกอียูของรัฐบาลอิตาลี และทั้งสองพรรคได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่ไม่ถึงร้อยละ 40 ของจำนวนที่นั่งในสภาทั้งหมด 690 ที่นั่ง จึงไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก แต่ต้องผนึกกำลังกันตั้งรัฐบาลผสม

การเมืองอิตาลี

(ลุยจี ดิ ไมโอ หัวหน้าพรรคไฟฟ์สตาร์ M5S ผู้ชูแนวทางประชานิยม ร่วมเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลที่เนเปิลส์)

ทั้งสองพรรคเสนอชื่อนายจูเซปเป คอนเต รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเสนอชื่อนายซาโวนา เป็น รมว.เศรษฐกิจ แต่เมื่อชื่อของนายซาโวนาถูกคัดค้าน ทำให้นายคอนเตถอนตัวจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้อิตาลีเกิดภาวะชะงักงันทางการเมือง ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้

สำนักข่าวดอยเชอเวลเลอร์ของเยอรมนีรายงานว่า ภาวะปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในอิตาลี ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดหลักทรัพย์ยุโรป แต่กระทบถึงสหรัฐฯ และเอเชีย เนื่องจากอิตาลีเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอียู หากรัฐบาลใหม่เสนอนโยบายถอนตัว หรือลดความร่วมมือระหว่างอิตาลีกับอียูเหมือนที่อังกฤษเคยลงประชามติถอนตัวจากอียู (Brexit) เมื่อปี 2559 ก็จะยิ่งทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจหนักกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ประเมินว่ามีแนวโน้มสูงที่อิตาลีจะจัดการเลือกตั้งใหม่ เพื่อหาทางออกจากสภาวะชะงักงันทางการเมือง ส่วนกรณีที่มีการเสนอให้ถอดถอน ปธน. มัตตาเรลลา เป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 90 ของรัฐธรรมนูญอิตาลี แต่ถึงแม้ว่าเสียงข้างมากจะโหวตให้ถอดถอน ปธน. อำนาจในการตัดสินชี้ขาดว่าจะถอดถอนหรือไม่ก็ยังอยู่ที่การวินิจฉัยของศาลฎีกา

ส่วนนายคาร์โล คอตตาเรลลี ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ถูกพรรคไฟฟ์สตาร์ฯ และพรรคลีกโจมตีว่าเป็น 'ลูกไล่' ของอียู และถูกตั้งฉายาว่า 'มิสเตอร์กรรไกร' เพราะเขาเป็นผู้เสนอนโยบายปรับลดงบประมาณและมาตรการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจช่วงที่เกิดวิกฤตหนี้ในกรีซและกลุ่มประเทศอียูช่วงปี 2550-2552

ที่มา: DW/ BBC/ Financial Times

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: