ไม่พบผลการค้นหา
ป.ป.ท. ส่งรายชื่อข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินคนจน จำนวน 270 รายชื่อ ให้ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการดำเนินการทางวินัย

วานนี้ (18 มิ.ย.) พันโทกรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบทุจริตเงินช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่ง ว่า หลังลงพื้นที่ตรวจสอบในล็อตที่ 1 และ 2 ได้ดำเนินการตั้งอนุกรรมการไต่สวนแล้ว 60 กว่าศูนย์ และส่งรายชื่อเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ดำเนินการทางวินัย 270 ราย ซึ่งบทลงโทษทางวินัยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของต้นสังกัดว่าเห็นควรอย่างไร 

ส่วนกรณีการย้ายเจ้าหน้าที่ออกจากตำแหน่งก็เพื่อความสะดวกในการดำเนินการทางวินัย เป็นไปตามอำนาจของต้นสังกัดเช่นกัน ซึ่งไม่กระทบกับการไต่สวนของ ป.ป.ท. อย่างไรก็ตาม ป.ป.ท.ได้แจ้งข้อกล่าวหากับเจ้าหน้าที่ศูนย์คนไร้ที่พึ่ง จ.บึงกาฬ ไปแล้วเป็นจังหวัดแรก ส่วนจังหวัดอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างการไต่สวน เนื่องจากในแต่ละจังหวัดมีพยานและผู้เกี่ยวข้องจำนวนหลาย 1,000 คน จะต้องสอบปากคำให้ครบถ้วน อาจต้องใช้เวลานาน 

สำหรับการขยายผลตรวจสอบทุจริตในล็อตที่ 3 จำนวน 28 จังหวัด ยังไม่มีการลงพื้นที่ตรวจสอบ เพราะต้องรอดำเนินการในล็อตที่ 1 และ 2 ให้เสร็จสิ้นก่อน เบื้องต้น พบพฤติการณ์ทุจริต หลายแห่ง ทั้งนิคมสร้างตนเอง ศูนยพัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง และสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เนื่องจากแต่ละที่ได้รับงบ 10 ล้านบาทขึ้นไป คาดว่าจะเสนอสำนวนคดีให้ บอร์ดป.ป.ท.มีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนให้ครบถ้วนภายในสัปดาห์นี้ และจะสรุปผลได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การตรวจสอบปัญหาทุจริตเงินคนจนงบประมาณปี 2560 ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ป.ป.ท. ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐในกองทัพบก กรณีเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น ทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและเงินสงเคราะห์ผู้ติดเอดส์ ซึ่งเป็นกรณีเดียวกับที่นักศึกษามหาวิทยาลัยดังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือถูกสั่งให้ปลอมเอกสารเบิกจ่ายเงินอุดหนุน 

ทั้งนี้ มีการสรุปผลการตรวจสอบ 76 ศูนย์ทั่วประเทศ ตามกรอบเวลาที่กำหนด พบข้อมูลส่อทุจริตงบประมาณ 67 จังหวัด วงเงินกว่า 264 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่มีพฤติการณ์โกงคล้ายคลึงกันคือนำเอกสารทางราชการของบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องไปตั้งเรื่องเบิกจ่ายงบประมาณ ขณะเดียวกัน ป.ป.ท.สรุปว่าไม่พบการทุจริตเพียง 9 จังหวัด ประกอบไปด้วย สิงห์บุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครศรีธรรมราช นนทบุรี แพร่ นครสวรรค์ สุโขทัย และ อุตรดิตถ์ 

อย่างไรก็ตาม ป.ป.ท. ร่วมกับอีก 4 หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างฝายชะลอน้ำ จำนวน 1,097 ฝาย ใน 45 จังหวัด งบประมาณรวม 109.7 ล้านบาท เพื่อตรวจสอบความโปร่งใส และเฝ้าระวังไม่ให้มีการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ โดยจะมีการลงพื้นที่ไปตรวจสอบทุกฝายที่มีการก่อสร้าง เบื้องต้นยังไม่มีมูลการทุจริต 


อ่านเพิ่มเติม