ไม่พบผลการค้นหา
ป.ป.ท. เผยพบ 60 จังหวัด ทุจริตเงินสงเคราะห์คนจน กวาดเงินหลวงร้อยละ 91 คาดภายในสิ้นเดือน เม.ย. ตรวจสอบครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ

พันโทกรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ประจำปี 2560 ประเภทเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง (ระหว่างวันที่ 13 ก.พ. - 26 เม.ย. 2561) วงเงินทั้งสิ้น 123,159,000 บาท พบว่า จากการตรวจสอบศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ที่ได้รับงบประมาณ จำนวน 76 ศูนย์ มีศูนย์ที่ได้รับงบประมาณสูง (หรือตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป) ที่ได้รับเบาะแสะ จำนวน 37 จังหวัด และได้ตรวจสอบเสร็จเมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา พบว่า มีความผิดปกติจริง 34 จังหวัด ส่วนอีก 3 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี ปราจีนบุรี และนครศรีธรรมราช ต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติม เนื่องจากพบว่าอาจมีการนำเงินสงเคราะห์ไปใช้ซื้อของที่ราคาแพงผิดปกติ เป็นต้น  

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบจนถึงวันที่ 26 เม.ย. พบว่า มีศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งที่พบความผิดปกติ รวมทั้งสิ้น 60 จังหวัด ประกอบด้วย ขอนแก่น เชียงใหม่ บึงกาฬ หนองคาย สุราษฎร์ธานี ตราด น่าน สระแก้ว อุดรธานี สระบุรี อยุธยา กระบี่ ตรัง ร้อยเอ็ด ยะลา พัทลุง ชุมพร สุรินทร์ อ่างทอง พิษณุโลก ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สงขลา นราธิวาส มหาสารคาม ลำพูน นครราชสีมา อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี นครพนม กาฬสินธุ์ พิจิตร ราชบุรี นครปฐม มุกดาหาร ลำปาง เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก อุทัยธานี สตูล ลพบุรี หนองบัวลำภู ศรีสะเกษ กำแพงเพชร พังงา สกลนคร จันทบุรี ระนอง เพชรบูรณ์ สมุทรสงคราม ภูเก็ต ปัตตานี ชลบุรี เลย พะเยา ปทุมธานี สมุทรปราการ ระยอง

โดยทั้ง 60 จังหวัด ที่พบความผิดปกติ มีงบประมาณรวมกันเป็น 111,609,000 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 91 ของงบศูนย์คุ้มครองฯ ขณะที่ คณะกรรมการ ป.ป.ท. รับไว้ไต่สวนข้อเท็จจริง จำนวน 33 จังหวัด และมีอีก 13 จังหวัดที่อยู่ระหว่างตรวจสอบ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 9 ของงบศูนย์คุ้มครองฯ และมีกำหนดดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 เม.ย.นี้ 

ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ประจำปี พ.ศ. 2560 ประเภทเงินอุดหนุนเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง ในส่วนของตรวจสอบนิคมสร้างตนเอง, ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง, ศูนย์ประสานงานโครงการฯ และสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ซึ่งได้รับงบประมาณ 370,000,000 บาท 

สำนักงาน ป.ป.ท. ดำเนินการตรวจสอบ 9 แห่ง วงเงินงบประมาณ 135,755,00 บาท พบว่า มี 2 แห่งที่อยู่ในขั้นตอนรับไว้ไต่สวน ได้แก่ นิคมสร้างตนเองเชียงพิณ จ.อุดรธานี และศูนย์ประสานงานโครงการฯ สันกำแพง จ. เชียงใหม่ และมี 3 แห่งที่ส่งเรื่องไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ได้แก่ นิคมสร้างตนเองเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น นิคมสร้างตนเองห้วยห้วง จ.อุดรธานี นิคมสร้างตนเองบ้านกรวด จ.บุรีรัมย์

ส่วนอีก 4 แห่งที่มีพฤติการณ์เช่นเดียวกับศูนย์คุ้มครองฯ แต่มีลักษณะมุ่งเน้นให้เงินทุนกลุ่มวิชาชีพและเบิกเงินสงเคราะห์จำนวนหลายครั้ง และเสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. พิจารณา ได้แก่ นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จ.สตูล ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จ.เชียงใหม่ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช นิคมสร้างตนเอง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีพฤติการณ์ที่ตรวจสอบพบเช่นเดียวกับศูนย์คุ้มครองฯ แต่มีลักษณะการกระทำความผิดที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง เนื่องจากประมาณร้อยละ 90 ที่สุ่มตรวจไม่ได้รับเงินเลย

ขณะที่ พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. กล่าวว่า ล่าสุด (ณ วันที่ 26 เม.ย.) พบความผิดปกติเพิ่มเติมอีก 4 จังหวัด ประกอบด้วย พะเยา ปทุมธานี สมุทรปราการ และ ระยอง จากเดิมที่พบความผิดปกติ 56 จังหวัด โดยคณะกรรมการ ป.ป.ท. รับไว้ไต่สวนข้อเท็จจริง จำนวน 33 จังหวัด

อย่างไรก็ตาม ภายในสิ้นเดือน เม.ย.นี้ จะสรุปผลการดำเนินการตรวจสอบให้เสร็จสิ้นทั้งหมด 76 ศูนย์ฯ

โกงเงินคนจน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: