ไม่พบผลการค้นหา
'พิชัย' จี้ 'ประยุทธ์' รับผิดชอบ ที่ฝ่ายความมั่นคงล้มเหลวทำไวรัสแพร่ ห่วงล็อกดาวน์ทำเศรษฐกิจไทยเข้าสู่โคม่า แนะ คุมแต่ละพื้นที่ ตรวจสุ่มให้ครบ และเร่งนำเข้าวัคซีน

พิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า รู้สึกกังวลที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ จะประชุมเรื่องการล็อกดาวน์ประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในวันนี้ ซึ่งหากล็อกดาวน์ประเทศจริง เศรษฐกิจไทยที่ทรุดหนักอยู่แล้วจะยิ่งทรุดหนักลงอีก อาจจะถึงขึ้นโคม่าและไม่ฟื้นเลยก็ได้

ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจไทยตกต่ำมาตลอด 6 ปี จนสื่อหลักต่างประเทศอย่าง เดอะ ไฟแนนเชียล ไทม์ ขนานนามประเทศไทยว่าเป็น คนป่วยแห่งเอเชีย และจะป่วยหนักขึ้น ตั้งแต่ก่อนมีการแพร่ระบาดของไวรัสแล้ว พอมาเจอล็อกดาวน์จากวิกฤติไวรัสโควิดช่วงต้นปี เศรษฐกิจไทยที่ป่วยจริงเลยยิ่งป่วยหนัก ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการล็อกดาวน์ช่วงต้นปี ยังส่งผลกระทบอย่างหนักและยังมีผลสืบเนื่องอยู่ โดยจะมีธุรกิจที่จะต้องปิดกิจการอีกเป็นจำนวนมาก จะมีหนี้เสียพุ่งสูง โดยจะเกิดการว่างงานเพิ่มอีกมาก ซึ่งถ้าหากล็อกดาวน์อีกจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้น เศรษฐกิจไทยอาจถึงขั้นโคม่าและอาจจะไม่ฟื้นเลยก็ได้ 

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์กันว่า การกลับมาแพร่ระบาดของไวรัสโควิดครั้งนี้ จะทำความเสียหายให้ประเทศอย่างน้อยวันละ 2,000 ล้านบาท หรือ เดือนละ 60,000 ล้านบาท เป็นอย่างต่ำ ดังนั้น การที่รัฐบาลจะหวังฟื้นเศรษฐกิจจากโครงการ “คนละครึ่ง” และ “เที่ยวด้วยกัน” จะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลย เพราะเป็นแค่การบรรเทาอาการชั่วคราว และการแพร่ระบาดจะทำให้ “เที่ยวด้วยกัน” ต้องล้มเหลวไปด้วย โดยรัฐบาลยังไม่มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาหลักทางเศรษฐกิจ เช่นการลงทุน และ การส่งออก แต่อย่างไร แถมซ้ำเติมด้วยการจะถูกสหรัฐตัดจีเอสพีเป็นครั้งที่สองในปลายปีนี้ และ หนังสือท้วงติงจากวุฒิสภาสหรัฐในเรื่องความไม่เป็นประชาธิปไตยและการดำเนินคดีผู้ชุมนุมแบบไม่ถูกต้อง รวมถึง ยูเอ็นก็ยังทักท้วง ม. 112 ที่รัฐบาลใช้จัดการกับผู้เห็นต่าง ยิ่งจะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงอีก ทั้งนี้ยังมีเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากทั้งที่เศรษฐกิจไทยทรุดหนัก พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจดูคล้ายจะไม่รู้เรื่องในปัญหาเหล่านี้เลย เหมือนจะหมดสติปัญญาในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแล้ว 

สาเหตุของการแพร่ระบาดของไวรัสในครั้งนี้ ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบเต็มๆคือฝ่ายความมั่นคง ที่ปล่อยให้มีการลักลอบนำแรงงานเถื่อนผ่านเข้ามาในประเทศ ทั้งที่ข้อมูลการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างหนักของประชากรในประเทศเมียนมาร์มีมาเป็นเดือนแล้ว แต่ฝ่ายความมั่นคงกลับไม่สามารถควบคุมการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาได้ ซึ่งเชื่อกันว่ามีผลประโยชน์จำนวนมหาศาลจากการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าวเถื่อนเหล่านี้ อีกทั้งฝ่ายความมั่นคงยังให้ข้อมูลสับสนย้อนแย้งกันเอง คนหนึ่งอ้างว่าชายแดนมีความยาวมากไม่สามารถควบคุมได้ ส่วนคนหนึ่งกลับแก้ตัวแบบน้ำขุ่นๆ ปฏิเสธว่าไม่มีการลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเถื่อนเข้ามา ซึ่งพูดเหมือนดูถูกภูมิปัญญาของประชาชนอย่างมาก และผู้ที่รับผิดชอบความมั่นคงก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ เองในฐานะ นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และยังคุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย จะมาปัดความรับผิดชอบหรือโทษคนอื่นไม่ได้เลย ซึ่งถ้าพลเอกประยุทธ์จะตระหนักล่วงหน้า ระมัดระวัง และกำชับเข้มงวดในการป้องกันการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าวเถื่อนเหล่านี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสอย่างรุนแรงคงไม่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องความรับผิดชอบจากพล.อ.ประยุทธ์ในความล้มเหลวครั้งนี้ ซึ่งสร้างปัญหาให้กับประเทศอย่างมากทั้งทางด้านเศรษฐกิจและด้านสุขภาพ

ในสถานการณ์ปัจจุบัน วิธีการที่ดีที่สุด น่าจะเป็นว่า ถ้าพบการแพร่ระบาดและหากจำเป็นก็ควรล็อกดาวน์เฉพาะจุด และทำการทดสอบประชาชนในบริเวณดังกล่าวทั้งหมด ใครติดเชื้อไวรัสก็ต้องรีบนำเข้ากักตัวและรักษา โดยไม่ควรล็อกดาวน์ทั้งประเทศเหมือนตอนต้นปี เพราะความเสียหายทางเศรษฐกิจจะมากเกินแบกรับ ประเทศที่พัฒนาแล้วและมีการแพร่ระบาดมากกว่าไทยก็ยังไม่ล็อกดาวน์ทั้งประเทศ

นอกจากนี้ ประเทศสิงคโปร์และ ประเทศมาเลเซียจะมีการนำเข้าวัคซีนเข้ามาฉีดป้องกันให้กับประชาชนแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าทำไมประเทศไทยยังไม่มีแนวโน้มที่จะได้วัคซีนในเวลาอันใกล้นี้เลย ได้ยินว่าจะเป็นช่วงกลางปีหรือปลายปีหน้าเลย ดังนั้นรัฐบาลจะต้องหาทางเร่งนำวัคซีนเข้ามาให้เร็วที่สุดเพื่อฉีดให้ประชาชนทั้งหมดโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยเริ่มจากบริเวณที่มีการระบาดก่อน 

ในสถานการณ์วิกฤติเช่นนี้ ประเทศต้องการผู้นำที่มีความรู้ความสามารถ และ มีวิสัยทัศน์ โดยต้องมีทิศทางชัดเจนในการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด ควบคู่ไปกับการประคองเศรษฐกิจให้สามารถดำเนินไปด้วยกัน โดยต้องหาภาวะสมดุลย์เท่าที่จะทำได้ และต้องดำเนินทั้งสองด้านให้ไปด้วยกันให้ได้ หากล้มเหลวด้านใดด้านหนึ่ง ประชาชนจะได้รับผลกระทบและจะลำบากกันอย่างมาก และ จะทนกันไม่ไหว เพราะที่ผ่านมาก็ทนกันมามากแล้ว 


'จิราพร' ดักคออย่าใช้เป็นข้ออ้างเพื่อยื้อเวลาแก้รธน.

จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมฯ เปิดเผยว่า หลังจากมีการยุติการประชุมกลางคัน ในวันที่ 17 ธ.ค. 2563 และประธานคณะกรรมาธิการฯ ยังสั่งงดการประชุมกะทันหัน ในวันที่ 18 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าในสัปดาห์นี้ประธานคณะกรรมาธิการฯ แจ้งว่าจำเป็นต้องงดการประชุมในวันที่ 24-25 ธ.ค. 2563 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งการงดการประชุมติดต่อกันถึง 3 ครั้งอาจกระทบต่อกรอบเวลาการพิจารณาของกรรมาธิการที่เคยตั้งเป้าไว้ว่าจะให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 8 ม.ค. 2564 และจะต้องนำรายงานของคณะกรรมาธิการและผลการพิจารณาให้รัฐสภาพิจารณาช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และลงมติวาระที่สามก่อนปิดสมัยประชุมฯ

“การควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นสำคัญ แต่การแก้รัฐธรรมนูญก็ถือเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับของประชาชนที่จะเป็นเครื่องมือในการพาประเทศออกจากวิกฤตโดยเร็วที่สุด จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาโควิด-19 ด้วยความจริงใจ ไม่ใช่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ติดต่อกันหลายเดือน แต่กลับปล่อยปละละเลยการสกัดตรวจตามแนวชายแดน จนเกิดการระบาดของโควิด19 ระลอกใหม่ และกระทบต่อการประชุมเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ อย่าทำให้ประชาชนแคลงใจว่ารัฐบาลจงใจใช้โควิด19 เป็นข้ออ้างในการยื้อเวลาแก้รัฐธรรมนูญ” จิราพร กล่าว


เสนอ 4 แนวคิด ล็อกดาวน์-คุมโรค

เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและวิชาการ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอศูนย์นโยบายฯพรรคเพื่อไทยเกี่ยวกับการล็อกดาวน์และคุมโรคให้สมดุล ดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ การล็อกดาวน์ทั้งประเทศนั้นต้องไม่เกิดจากการตัดสินในมิติของความรู้สึก ความกลัว และความตระหนก แต่อยากให้พิจารณาเงื่อนไขการสากลที่ใช้เพื่อตัดสินการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ นั่นคือ 1. ล็อกดาวน์เมื่อจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าระบบสาธารณสุขรับมือไหว นำไปสู่การเสียชีวิตในอัตราเร่ง และ 2. ล็อกดาวน์เมื่อระบบติดตาม สืบสวน ค้นหา นั้นได้ล้มเหลวและไม่สามารถหาทิศทางการกระจายของโรคได้อีกต่อไป ซึ่งทั้ง 2 เงื่อนไขนี้ ปัจจุบันประเทศไทยเราไปไม่ถึง ฉะนั้นอยากให้เรียนรู้บทเรียนจากในอดีตที่ใช้การล็อกดาวน์ทั้งประเทศอย่างไม่สมเหตุสมผล ทำให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศอย่างใหญ่หลวงและเกินความจำเป็นไปมาก

2. หากจะต้องล็อกดาวน์ การล็อกดาวน์เชิงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า โดยเน้นไปที่พื้นที่ก่อกำเนิดโรค พื้นที่การกระจายของโรค แต่ทั้งนี้ถ้าจะล็อกดาวน์ตรงไหน ต้องใช้ความเข้มงวดแบบจริงจัง เพราะต้นทุนของการล็อกดาวน์นั้นสูง มิใช่ล็อกดาวน์ให้ประชาชนทำมาหากินไม่ได้ แต่ปล่อยให้มีการเคลื่อนย้ายของกลุ่มเสี่ยงไปมาได้อย่างเสรี 

3. การตรวจโรคเชิงรุกกับกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นต้นตอของการระบาดครั้งนี้ ต้องคิดแยกกันระหว่างปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องการต้องค้นหาโรคเร่งด่วน กับปัญหาระยะยาวเรื่องการลักลอบของแรงงานผิดกฎหมาย หากนำสองเรื่องนี้มารวมกันแล้วใช้แนวทางด้านกฎหมายรุนแรงจัดการอย่างเดียวแล้วผลคือ แรงงานต่างด้าวจะหลบหนี กบดานและกระจายตัวไปทั่วประเทศ เพื่อหลบเลี่ยงความผิดด้านกฎหมาย ทั้งนี้ควรแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน โดยการตรวจโรคแรงงานข้ามชาติกลุ่มเสี่ยงให้มากที่สุด โดยการตรวจแบบไม่ระบุตัวตน โดยยึดหลักมนุษยชน หลีกเลี่ยงการขู่จับกุมในช่วงนี้ เพราะจะยิ่งสร้างปัญหาการกระจัดกระจายของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 

4. ประชาชนอีกจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ในรอบนี้เกิดจากผู้มีรายได้น้อย ผู้ใช้แรงงานข้ามชาติ พ่อค้าแม่ค้าในตลาด รัฐบาลต้องเรียนรู้จากบทเรียนในอดีตซึ่งการขาดแคลนหน้ากากอนามัยในช่วงแรก มีผลอย่างมีนัยสำคัญของการระบาดของโรค รัฐบาลต้องเร่งจัดหาและกระจายหน้ากากอนามัยให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย หากจัดหาหน้ากากอนามัยให้ประชาชนอย่างพอเพียงแล้ว แนวคิดการบังคับการสวมหน้ากากอนามัยก็สมควรนำมาพิจารณา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :