ไม่พบผลการค้นหา
'อนุทิน' ประชุมร่วม 'เกษตรกร' หารือแนวทางปลูกกัญชาทางการแพทย์ ย้ำการปลูก-นำมาใช้ต้องควบคุมโดยรัฐ

ที่ตึกบัญชาการ 2 ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชุมร่วมกันระหว่างนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายแพทย์มารุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และคณะผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นเกี่ยวกับการผลิตและใช้กัญชาทางการแพทย์

นายอนุทิน กล่าวว่า เราต้องนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์เป็นลำดับแรก หากประสบความสำเร็จ จะเข้าสู่การนำกัญชามาผลิตเป็นสินค้าต่างๆ เรื่องกัญชาต้องเดินหน้าเป็นขั้นเป็นตอน และไม่กระทบกับสุขภาพของคนไทย รวมไปถึงสังคมไทย ส่วนที่มีการอ้างกฎบัตร WHO ว่ากัญชาเป็นยาเสพติด ผิดกฎหมาย ขอย้ำว่า ถ้านำมาใช้ทางการแพทย์ สามารถทำได้ หลายชาติ ไม่แคร์เรื่องนี้กันแล้ว 

ในส่วนของภาคเกษตรกร เรารู้ว่าเกษตรกรไทยมีความสามารถ และภาครัฐต้องการวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูงจากเกษตรกรไทย แทนที่การนำของกลางมาใช้ แต่ทั้งนี้ ที่สุดแล้ว การปลูกต้องควบคุมโดยรัฐ การนำมาใช้ก็ต้องผ่านการรับรองโดยรัฐเช่นกัน

สำหรับนโยบายปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น เพื่อใช้รักษาโรค ยังเป็นเป้าหมายของตน นอกจากนั้น เรื่องการนิรโทษกรรมผู้ป่วยที่ครอบครองกัญชา ซึ่งจะหมดลงในวันที่ 21 สิงหาคม ตนจะไปดูแลเรื่องดังกล่าว 

"การปลูกกัญชา รวมไปถึงกิจกรรมทั้งหลาย ต้องอยู่ภายใต้การดูแลโดยภาครัฐเท่านั้น ทั้งการตรวจสอบคุณภาพ การรับซื้อ การสกัด การจำหน่ายจ่ายแจก และต้องเริ่มจากเรื่องการแพทย์ก่อน ทั้งนี้ อะไรที่เป็นประโยชน์ เราไม่ขัดขวาง"

ด้านนายประพัฒน์ กล่าวว่า ยืนยันว่าเราพร้อมผลักดันนโยบายการใช้กัญชาทางการแพทย์ ส่วนใครที่มาอ้างกฎหมายสากล อยากให้ไปตรวจสอบที่สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ที่เขาให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจกันแล้ว

นอกจากนี้ อยากให้ภาครัฐสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถปลูกกัญชาได้สะดวกขึ้น ทุกวันนี้ ตนร่วมมือกับกรมการแพทย์แผนไทย ปลูกนำร่องไว้ 5 ไร่ ลงทุนเองหลายบาท เพราะอยากให้สังคมรู้ว่าคนไทยปลูกได้ และปลูกเก่งไม่แพ้ต่างชาติเลย ซึ่งเกษตรกรไทยท่านอื่น ไม่ได้มีแนวคิดแบบตน ถ้าขาดการช่วยเหลือ รับรองไม่มีใครกล้าลงทุน  

นายประพัฒน์ กล่าวต่อว่า ต้องการให้มีการลงทะเบียนสายพันธุ์กัญชา เพื่อให้รู้ว่าตอนนี้ คนไทยปลูกกัญชาพันธุ์ไหนบ้าง และอยากให้ผ่อนปรนเรื่องวิจัยกัญชา เนื่องจากปัจจุบันมีเพียงรัฐมนตรี ที่เป็นผู้อนุญาต สวนทางกับจำนวนความต้องการวิจัยศึกษาที่มีมากมาย จนเกิดสภาวะคอขวด นอกจากนั้น อยากให้ดูแลเรื่องการนิรโทษกรรมกัญชาแก่ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ในการรักษาโรค

ขณะที่ นายแพทย์มารุต กล่าวตอบข้อสงสัยเรื่องการปลูกกัญชาของเกษตรกรว่า ปัจจุบันนี้ เกษตรกรสามารถปลูกได้ ในเงื่อนไขที่ต้องร่วมมือกับทางสถาบันทางการแพทย์ และสถาบันการศึกษา โดยผลิตนั้น ต้องเป็นไปเพื่อรักษาผู้ป่วยเป็นสำคัญ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :