ไม่พบผลการค้นหา
กรมทรัพย์สินทางปัญญา ขอความร่วมมือบริษัทขึ้นทะเบียนตัวแทน เพื่อตรวจสอบและป้องกันการใช้ช่องโหว่กฎหมายแจ้งจับ ยันการล่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด ตามกฎหมายทำไม่ได้

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เรียกหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยย้ำว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย แต่หากเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏข่าวประกอบกับแนวคำพิพากษาศาลฎีกา จะพบว่าคนที่โทรสั่งให้ทำกระทงรูปการ์ตูนอาจเป็นผู้ที่มีส่วนในการกระทำความผิดด้วย โดยการล่อให้ผู้กระทำความผิด ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีสิทธิ์ที่จะมาร้องทุกข์กล่าวโทษกล่าวทุกข์ผู้อื่น เพราะไม่ถือว่าเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย อีกทั้งพยานหลักฐานที่ได้มาจากการล่อให้ผู้กระทำความผิด ถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้มีรายงานจากตัวแทนของบริษัท เวอริเซ็ค จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดูแลลิขสิทธิ์โดยตรงว่าบริษัทฯ อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าในช่วงที่มีการออกไปแจ้งละเมิดลิขสิทธิ์ ตัวแทนช่วงได้มีเอกสารหนังสือมอบอำนาจ และบัตรตัวแทนลิขสิทธิ์หรือไม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้

ส่วนนางสาวนุสรา กาญจนกูล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ขณะนี้กรมไม่มีตัวเลขจำนวนตัวแทนลิขสิทธิ์ในประเทศไทย เนื่องจากตามกฎหมายตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ที่ได้รับอนุญาตจากบริษัทเครื่องหมายการค้าต่างๆ สามารถแต่งตั้งตัวแทนช่วงต่อได้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมาขึ้นทะเบียนกับกรมฯ ซึ่งปัจจุบันมี 2 ลักษณะ คือ การให้ตัวแทนลิขสิทธิ์ดำเนินการเชิงพาณิชย์มีสิทธิ์ในการผลิตสินค้าและจัดจำหน่าย และยังสามารถจ้างตัวแทนลิขสิทธิ์ช่วงต่อได้ 

โดยหลังจากนี้กรมได้ขอความร่วมมือกับตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้ดำเนินการขึ้นทะเบียน เพื่อให้ผู้ค้าได้เข้ามาตรวจสอบสินค้าก่อนว่า สามารถจะผลิตได้หรือไม่เพื่อให้ไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในสินค้านั้น รวมถึงให้สามารถเพื่อตรวจสอบและป้องกันการตัวแทนช่วงว่ามีสิทธิ์ในการแจ้งจับละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

“ยอมรับว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายลิขสิทธิ์ทุกประเทศต้องการดูแลทรัพย์สินทางความคิด ซึ่งการให้รัฐเข้าไปแทรกแซงเพื่อให้เจ้าของลิขสิทธิ์แจ้งกับกรมฯ จะเป็นการผิดรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานของลิขสิทธิ์” นางสาวนุสรา กล่าว

อ่านเพิ่มเติม