ไม่พบผลการค้นหา
กมธ.ศึกษาแก้ รธน. ชงตั้ง ส.ส.ร. ยกร่าง รธน.ฉบับใหม่ แนะกลับไปใช้เลือกตั้งบัตร 2 ใบ โละหมวดปฏิรูปประเทศทิ้ง

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 สภาผู้แทนราษฎร นำเสนอรายงานของกรรมาธิการฯในการแก้รัฐธรรมนูญ หลังกรรมาธิการฯ ศึกษาหาข้อมูล ประกอบการแก้ไขเพิ่มเติม และรวบรวมความเห็นอย่างรอบด้านเสร็จสิ้น ว่า เพื่อยึดผลประโยชน์ของประเทศ และประชาชนเป็นหลัก จึงเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้สามารถแก้ไขส่วนอื่นๆ ที่เป็นปัญหาได้ง่ายขึ้น

เมื่อพิจารณารายมาตราแล้ว พบว่า ทั้งเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน ,กระบวนการยุติธรรม ที่มีระบบถ่วงดุล ,หน้าที่ของรัฐ ที่ประชาชนควรมีอำนาจกำกับการใช้อำนาจรัฐได้ ซึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญในอดีตแล้ว มีเนื้อหาสาระดีกว่า จึงควรนำรายละเอียดรัฐธรรมนูญในอดีตมาปรับใช้เพิ่มเติมในปัจจุบัน โดยกรรมาธิการเสนอให้มีการยกร่างขึ้นมาใหม่ โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากประชาชน และจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ส่วนสถานะองค์กรต่าง ๆ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

พีระพันธุ์ ยังกล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติตามรัฐธรรมนูญว่า ควรมีการแก้ไขให้ทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อมุมมองหลากหลาย และปรับปรุงกรอบการทำยุทธศาสตร์ชาติให้เร็วขึ้น และอาจต้องปรับแผนทุกๆ 1-2 ปี ส่วนบทบัญญัติการขัดกันแห่งผลประโยชน์ พีระพันธุ์ ชี้แจงว่า ควรมีการบัญญัติห้ามตุลาการ และสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดอบรมหลักสูตรใด ๆ เพื่อไม่ให้มีการสร้างสายสัมพันธ์กับตุลาการศาล และรัฐสภา สามารถตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญได้บางกรณี รวมถึงมีกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอย่างเหมาะสม ผ่านกระบวนการรัฐสภา เพราะยึดโยงกับประชาชน

พีระพันธุ์ ยังเปิดเผยผลสรุปการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบการเมืองว่า ในระบบการเลือกตั้ง ควรกลับไปใช้ระบบการเลือกตั้ง แบบบัตร 2 ใบ แบ่งเป็นระบบแบ่งเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน พร้อมยกเลิกระบบการคำนวณ ส.ส.ระบบปัจจุบัน รวมถึงยกเลิกขั้นตอนการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ขณะที่ บทบัญญัติว่าด้วยสมาชิกวุฒิสภา ตามบทเฉพาะกาลกรรมาธิการยังมีความเห็น 2 ชุด ได้แก่ การยกเลิกวุฒิสภาชุดปัจจุบัน และกลับไปใช้วิธีการคัดเลือกแบบทางอ้อม และการวุฒิสภาอยู่ปฏิบัติหน้าที่จนครบวาระ แต่ปรับลดอำนาจการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และการติดตามการปฏิรูปประเทศออก รวมถึงยกเลิกนำหมวดว่าด้วยการปฏิรูปประเทศในรัฐธรรมนูญออก และนำไปบัญญัติเป็นกฎหมายรองแทน เพราะกระบวนการปัจจุบันล่าช้า และไม่มีความคืบหน้าใดๆ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง