ไม่พบผลการค้นหา
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 เพื่อถอดสลักวิกฤติการเมือง กำลังงวดเข้ามาทุกขณะ ล่าสุด คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผย รายงานปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ความยาว 152 หน้า

มีรายละเอียดการพิจารณารายหมวด รายมาตรา ตลอดจนแนวทางการแก้ไข ซึ่งตกผลึกจากที่ประชุมมีทั้งชนิดเอกฉันท์ และชนิดทางเลือก เปรียบเสมือน “พิมพ์เขียว” กำหนดเนื้อหาและทิศทางในการจัดทำกฎหมายสูงสุดฉบับใหม่ ดังนี้ 

  • เห็นพ้องตั้ง ส.ส.ร. - ไม่แตะหมวด 1-2

รายงานฉบับดังกล่าว ระบุชัดว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญส่วนใหญ่เห็นชอบให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เกือบทั้งฉบับ เนื่องด้วยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปี 2560 ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม จึงต้องแก้ไขหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มจากมาตรา 255 โดย กมธ.ส่วนใหญ่เห็นชอบให้ยกเลิกเงื่อนไขการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยใช้เสียง 1 ใน 3 ของ ส.ว. ในวาระ 1 และวาระ 3 กับเงื่อนไขร้อยละ 20 ของพรรคฝ่ายค้าน ในวาระที่3 โดยปรับให้เป็นการใช้หลักเสียงข้างมากของสมาชิกรัฐสภาเท่านั้นพอ ก่อนปูทางไปยังมาตรา 256 เปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากประชาชน ทำหน้าที่ร่างกฎหมายสูงสุด ยกเว้นหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ แล้วจึงนำมาทำประชามติ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งนี้ เงื่อนไขการคงอยู่ขององค์กรทางการเมืองให้เป็นไปตามเนื้อหาของรัฐธรรมนูญใหม่ที่ผ่านประชามติ

  • เล็งโละ 250 ส.ว.ลากตั้ง – ริบดาบเลือกนายกฯ

สาระสำคัญที่หลายฝ่ายให้ความสนใจในการล้มล้าง “มรดกคสช.” ในบทเฉพาะกาล มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง 2 ประเด็น คือ 1) 250 ส.ว. จากการแต่งตั้งโดยคสช. มีวาระ 5 ปี มีอำนาจลงมติเลือกนายกฯ 2 สมัย ตามมาตรา 269 และ 272 มีอำนาจมากเกินไป ประกอบกับแหล่งที่มาไม่ยึดโยงกับประชาชน ทำให้ยากต่อการเชื่อได้ว่า จะมีความเป็นกลางทางการเมือง สภาสูงชุดนี้มาจากคำถามพ่วงที่สะท้อนจุดมุ่งหมายของการสืบทอดอำนาจ จึงทำให้ไม่มีความชอบธรรม ไร้ซึ่งความเป็นประชาธิปไตย 

แนวทางการแก้ไขมีสองแบบ คือ ยกเลิก 250 ส.ว. ทันที หรือ ให้อยู่จนครบวาระ 5 ปี พร้อมตัดอำนาจในการเลือกนายกฯ ให้เป็นของส.ส.ตามหลักการของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นความคิดเห็นของกมธ.เสียงส่วนใหญ่ ตลอดจนยกเลิกอำนาจในการติดตามการปฏิรูปประเทศ 

ส.ว.ทหาร-บทเฉพาะกาล-รัฐสภา  วุฒิสภา


  • “ล้างมรดกคสช.” ยังต้องลุ้น

2) มาตรา 279 ว่าด้วยการนิรโทษกรรม รับรองการกระทำนอกกฎหมายของคสช.ตั้งแต่อดีตตามรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว 2557 ปัจจุบัน และอนาคต ผลการพิจารณาเป็นไปอย่างตรงไปตรงมาว่า ขัดต่อหลักประชาธิปไตย ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทำลายหลักกฎหมายสูงสุด เนื่องจากคณะรัฐประหารอยู่เหนือการตรวจสอบ ทว่ามี กมธ.จำนวนหนึ่งเห็นแย้งว่า การแก้ไขจะมีปัญหาตามมา เพราะการออกประกาศและคำสั่ง ในยุคคสช.มีจำนวนมาก และอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งของประชาชนถึงขั้นชุมนุมประท้วง โดยแนวทางการแก้ไขมีสองแบบ ยังไม่ตกผลึก คือ ตั้งทิ้ง หรือ คงไว้ 

ประชุมร่วมรัฐสภา รัฐสภา


  • รอเคาะ “สภาเดี่ยว-สภาคู่”

ในบทหลักประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ โครงสร้างทางการเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในระบบรัฐสภา ควรจะเป็นสภาเดี่ยวหรือสภาคู่ กมธ.ยังไม่ได้ข้อสรุป ความเห็นที่ 1 มองว่าควรเป็นระบบสภาเดี่ยว เนื่องจากปกครองในรูปแบบราชอาณาจักร ไม่ใช่สาธารณรัฐ ประกอบกับการกำหนดรูปแบบรัฐสภาเป็นสองสภาจะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณและประชาชนเกิดความสับสน ความเห็นที่ 2 มองว่า ควรใช้ระบบสองสภา โดยสภาที่สองหรือสภาสูงมาจากการเลือกตั้งกึ่งหนึ่ง และจากการเลือกกลุ่มวิชาชีพอีกกึ่งหนึ่ง ซึ่งต้องหากลไกคัดสรรให้ได้บุคคลที่เป็นตัวแทนแต่ละกลุ่มวิชาชีพอย่างแท้จริง

  • โละ “จัดสรรปันส่วนผสม” หวนคืนกาบัตร 2 ใบ

สำหรับ ส.ส. สถาบันทางการเมืองสุดท้ายที่มีความยึดโยงกับประชาชน รายงานของ กมธ.เห็นว่า ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม โดยบัตรใบเดียว คือ ปัญหา เต็มไปด้วยความคลุมเครือ เข้าใจยาก ต้องนำไปสู่การตีความ เช่น สูตรคิด ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ กกต.ในฐานะผู้รับผิดชอบไม่ให้ความชัดเจนว่า จะคำนวณอย่างไร ทั้งหลังการเลือกตั้งทั่วไป และการเลือกตั้งซ่อมในรอบปี ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้มีการซื้อเสียงจำนวนมาก มีพรรคเล็กจำนวนมาก ทั้งยังส่งผลต่อการขาดความมีเสถียรภาพของรัฐบาล

กมธ. จึงเห็นควรกำหนดแนวทางการแก้ไข โดยให้กลับไปใช้ระบบเลือกตั้ง และองค์ประกอบของ ส.ส. ตามแบบฉบับ รัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 คือ ให้มี ส.ส. 2 ที่มา คือ แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ จากการลงคะแนนของประชาชนในบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ตามความคุ้นเคยเช่นเดิม และควรแบ่งสัดส่วนชนิดส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ 2540 คือ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน และส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน

เลือกตั้ง สมุทรปราการ


  • ทุบบัญชี 3 ชื่อ - นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.

แนวคิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยหวนกลับไปหาแกนกลางของกฎหมายสูงสุด ฉบับ 2540 และ 2550 ยังปรากฏชัดในส่วนของ “นายกรัฐมนตรี” ซึ่ง กมธ.ส่วนใหญ่พิจารณาว่า ควรกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นส.ส. เพื่อให้นายกฯ มีความใกล้ชิดกับประชาชน ดังเช่นรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ที่ผ่านมา ซึ่งควรยกเลิกมาตรา 88 และ 89 ที่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องเปิดบัญชีนายกฯ ก่อนการเลือกตั้ง เพราะ ไม่ได้เป็นการการันตีว่า นายกฯ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนแต่อย่างใด

ประเด็นของศาลรัฐธรรมนูญ และบรรดาองค์กรอิสระที่สังคมให้ความสนใจ ในมาตรฐานการตรวจสอบถ่วงดุล และข้อครหาถึงความเป็นกลาง ผลการพิจารณาของ กมธ.โดยรวมเห็นว่า ในประเด็นที่มาและอำนาจหน้าที่ของตุลาการและคณะกรรมการนั้น ไม่ยึดโยงกับประชาชน แต่กลับใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจ ขณะเดียวกันยังมีการกำหนดสเปกสูงเกินจำเป็น จึงทำให้ได้ข้าราชการเกษียณที่เคยเป็นปลัดหรืออธิบดีมาดำรงตำแหน่ง โดยที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้อง แนวทางการแก้ไขจึงต้องมีการกำหนดคุณสมบัติให้ได้บุคคลที่เป็นกลางสามาถรทำงานอย่างอิสระและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

ประยุทธ์ สภา ประชุมสภา


  • เลิกปฏิรูป ปรับยุทธศาสตร์ชาติ

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอันเป็นนวัตกรรมใหม่หลังการรัฐประหาร อย่างยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ซึ่ง กมธ.ต่างเห็นว่า ประเด็นการปฏิรูปประเทศ และตามมาด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ เป็นเพียงข้ออ้างของการรัฐประหาร แต่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ตีกรอบการดำเนินการโดยไร้ซึ่งความยืดหยุ่น อาจไม่เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในระดับโลก คณะกรรมการมีอำนาจมากเกินไป เสมือนส่งเสริมให้รัฐราชการอยู่เหนือฝ่ายการเมือง

จึงนำไปสู่ข้อเสนอในส่วนของการปฏิรูปประเทศ ว่า ให้มีการนำประเด็นปฏิรูปทั้งหมดออกจากรัฐธรรมนูญ แล้วไปกำหนดไว้ในกฎหมายฉบับอื่น หรือยกเลิกแล้วดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเช่นเดิม ส่วนยุทธศาสตร์ชาติก็ควรมีการปรับปรุงแก้ไข ทบทวนองค์ประกอบคณะกรรมการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ตลอดจนควรกำหนดให้มีการพิจารณาทบทวนเร็วขึ้นเป็น 1 หรือ 2 ปี แทน