ไม่พบผลการค้นหา
คุณหญิงสุดารัตน์ ยืนยันหลักการประชาธิปไตย ไม่ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสืบทอดอำนาจทหาร และไม่ร่วมมือกับฝ่ายที่เรียกทหารมารัฐประหาร

'คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์' แกนนำพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ถึงแนวคิดเรื่องหลักการประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึงการให้โอกาสคนเข้าถึงทรัพยากรด้วยความทัดเทียม สร้างเศรษฐกิจ และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ดังนั้น พรรคการเมืองและตัวบุคคลที่เข้ามาทำงานการเมืองต้องทำให้ประชาธิปไตยไทยเข้มแข็ง ไม่ใช่เรียกทหารมาปฏิวัติขัดจังหวะการพัฒนาประชาธิปไตย

"ระบอบประชาธิปไตยมันต้องแข็งแรงด้วยตัวมันเอง ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบมีทหารมากำกับ ซึ่งเรากำลังจะเกิดขึ้นในการเลือกครั้งที่จะถึงนี้เหมือนกัน ซึ่งจะกลายเป็นประชาธิปไตยแต่เสื้อ...ถ้าการยึดอำนาจ การปฏิวัติทำให้ประเทศชาติดีขึ้น ป่านนี้ เราเจริญเท่าอเมริกาแล้ว เพราะเราเป็นประเทศที่ปฏิวัติมากที่สุดในโลก"

ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าพรรคเพื่อไทยคือเผด็จการทางรัฐสภา คุณหญิงสุดารัตน์ มองว่า เป็นการสร้างวลีเพื่อกล่าวหากัน เพราะระบบนี้เป็นระบบที่ใช้เสียงของประชาชนเลือกขึ้นมา ประชาชนเลือกพรรคไหนได้รับเสียงมากที่สุดก็เป็นฉันทนุมัติให้ไปจัดตั้งรัฐบาล เป็นเสียงข้างมากในสภา และมีการตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจ จากพรรคต่างๆ และองค์กรอิสระ หากพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาลก็ต้องมีเสียงข้างมากเช่นเดียวกัน เป็นระบบสากล เพียงแต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมาพรรคไทยรักไทย และพรรคเพื่อไทย ได้รับเสียงส่วนใหญ่มาตลอด

สุดารัตน์

คุณหญิงสุดารัตน์ เล่าให้ฟังว่า ความเข้าใจในหลักการประชาธิปไตยของเธอนั้น เริ่มต้นมาจากการตามคุณพ่อซึ่งเป็นอดีต ส.ส. นครราชสีมา ไปทำงาน ได้เห็นการพัฒนาตั้งแต่ช่วง 30-40 ปี ก่อนหน้านี้ ที่ชนบทมีความแตกต่างจากเมืองมากกว่านี้ ไฟฟ้า ถนน โรงเรียน ไม่มี แล้วพอมีประชาธิปไตย มีตัวแทนของประชาชนขึ้นมา ความเดือดร้อนของประชาชนก็ถูกนำมาแก้ไขปัญหา

ต่อมาในช่วงที่เข้ามาเป็น ส.ส. ใหม่ ตนก็ได้เข้าร่วมการประท้วงต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ พล.อ. สุจินดา คราประยูร ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬด้วย ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นมีความใกล้เคียงกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น หากมีการสืบทอดอำนาจ ประเทศไทยก็จะไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการเสนอทางแก้ปัญหาต่างๆ ผ่านตัวแทนที่เขาเลือก เพราะผู้มีอำนาจได้ตั้งกรรมการยุทธศาสตร์มาควบคุมสิ่งที่ควรจะทำไว้แล้ว ซึ่งขัดเจตนารมณ์ของหลักการประชาธิปไตย ไม่สะท้อนสิ่งที่ประชาชนต้องการ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวที่คุณหญิงสุดารัตน์รู้จักคุ้นเคยกับทหารและเป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างพรรคกับกองทัพ เธอยืนยันว่ารู้จัก แต่ไม่สนิท และไม่เคยคิดจะร่วมมือสืบทอดอำนาจของทหาร เพราะหน้าที่ของเธอคือทำให้ประชาธิปไตยที่ถูกบิดเบี้ยวด้วยกฎเกณฑ์ กติกา กฎหมายต่างๆ ที่ คสช. เขียน ให้กลับมาแข็งแรง

"พี่ไม่เคยเสียจุดยืน ไม่เคยไปอยู่กับผู้ที่ยึดอำนาจ แม้แต่ตอนที่ถูกยุบพรรค ถูกตัดสิทธิ์ มีพรรคพวกชวนย้ายพรรค พี่ก็เลือกที่จะหยุดและไปทำสิ่งที่มีความสุข ไม่อยากให้ใครมาว่าทรยศต่อทางนี้ ความเป็นนักการเมือง ความเป็นพรรคการเมืองเรามาจากประชาชน เราไม่สามารถทรยศประชาชน และอุดมการณ์ของเราได้ ถ้าใครทรยศต่อประชาชนที่เลือกเราขึ้นมา ก็ถือว่าไม่ใช่นักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง"

ส่วนโอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ตนยินดีร่วมงานกับฝั่งประชาธิปไตย แต่ต้องมีความเชื่อเหมือนกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการทำงาน ถ้าความเชื่อไม่เท่ากัน ศีลไม่เสมอกัน ก็จะทำงานด้วยกันไม่ได้

"คนที่จะมาทำงานต้องยึดมั่นและเชื่อมั่นอย่างจริงๆ ทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาระบอบนี้ ไม่ใช่เชื่อมั่นเป็นช่วงๆ บางช่วงแพ้เลือกตั้ง ไปกวักมือทหารมาปฏิวัติ บางช่วงแพ้เลือกตั้ง ไปจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร"

สุดารัตน์

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวถึงแนวทางของพรรคเพื่อไทยในอนาคต 1. ต้องปฏิรูปตัวเอง ไม่ทำในสิ่งที่เคยทำในอดีต ทั้งการใช้วาทะทำให้เกิดการขัดแย้ง และเป็นเหตุให้ผู้ที่มีอำนาจอยู่ในมือ มาอ้างเหตุและยึดอำนาจไป 2. ทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง และในยุคประชาธิปไตยอ่อนแอ 3. พรรคการเมืองต้องตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ 4. ใช้เทคโนโลยีสื่อสารความต้องการกับประชาชน สร้างรายได้ และควบคุมคอร์รัปชัน

อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยที่เปลี่ยนจากพรรคไทยรักไทย มีข้อได้เปรียบ คือ การทำนโยบายให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้จริง จึงยืนอยู่ได้ในหัวใจคนมาเกือบ 20 ปี เพราะใช้ประชาธิปไตยมาเป็นโอกาสในการทำมาหากินให้กับประชาชน จึงเกิดคำว่าประชาธิปไตยกินได้ ซึ่งคนที่เป็นคู่แข่งที่ไม่เห็นคุณค่าของประชาธิปไตย ก็จะบอกว่าประชาธิปไตยกินได้หมายถึงการแจกเงินซื้อเสียง แต่ไม่ใช่เลย เพราะการแจกเงินซื้อเสียงไม่สามารถครองใจประชาชนอยู่ได้ยาวแบบนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: