ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต เฝ้าระวังแม่น้ำเพชรบุรีที่ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณน้ำที่ล้นอาคารระบายน้ำของเขื่อนแก่งกระจาน มีแนวโน้มน้ำจะล้นตลิ่งที่อ.เมืองเพชรบุรีวันนี้ ขณะแม่น้ำโขงระดับน้ำสูงขึ้น หลังฝนตกหนักในลาวและแนวโน้มระดับน้ำสูงเพิ่มขึ้น

ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต (สทนช.) สรุปสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงสำคัญ ประจำวันอังคารที่ 21 สิงหาคม 2561 (07.00 น.) สถานการณ์ฝนยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมาก 9 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บึงกาฬ นครพนม สกลนคร ภาคตะวันออก จันทบุรี ตราด ภาคใต้ ระนอง กระบี่ ตรัง และ สตูล โดยประเทศไทยยังคงมีฝนตกปานกลางถึงหนักในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และ ภาคใต้

สำหรับ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ที่มีปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ มี 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก และ เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำปริมาณน้ำ 777 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 109% น้ำล้นทางระบายน้ำ สูง 1.44 ม. ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 25.61 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ24.36 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณการระบายน้ำยังคงสูงแต่มีแนวโน้มทรงตัว ส่วนสภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ล้นตลิ่ง 0.22 ม. และที่ อ.เมืองเพชรบุรี จ.เพชรบุรี ต่ำกว่าตลิ่ง 0.05 ม. ทำให้พื้นที่ริมสองฝั่งลำน้ำในบริเวณ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง และ อ.บ้านแหลม ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด การบริหารจัดการน้ำ ต้องเร่งระบายน้ำผ่านระบบชลประทานและแม่น้ำเพชรบุรี โดยประสานจังหวัดและพื้นที่เพื่อแจ้งเตือน

ทั้งนี้ มีการแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ ศูนย์ฯ ได้ออกประกาศฉบับที่ 7/2561 (19 ส.ค.61) ให้เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำตั้งแต่ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง และอ.บ้านลาด แนวโน้มน้ำจะล้นตลิ่งที่อำเภอเมืองเพชรบุรีในวันนี้

เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำปริมาณน้ำ 527 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 528) คิดเป็น 101% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 4.37 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 5.23 ล้าน ลบ.ม. สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง บริเวณบ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม บ้านพอกใหญ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร การบริหารจัดการน้ำ ต้องเร่งพร่องน้ำ ให้เต็มศักยภาพของลำน้ำท้ายน้ำ เพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อนโดยประสานจังหวัด และพื้นที่ โดยมีการแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งให้ติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดสกลนคร บึงกาฬ และนครพนม 

เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำ 8,014 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 90% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 72.18 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 42.00 ล้าน ลบ.ม. สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ กระทบพื้นที่รีสอร์ทที่สร้างอยู่ในแม่น้ำแควน้อย แม่น้ำแม่กลอง จ.กาญจนบุรี แต่ยังไม่ล้นตลิ่ง มีการบริหารจัดการน้ำ 23-27 ส.ค. 61 มีแผนการระบายน้ำเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 53 ล้าน ลบ.ม. โดยมีการแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ

เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำ 194 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 86% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 7.37 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 7.46 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นสูง 0.60 ม. โดยการบริหารจัดการน้ำ ต้องเร่งพร่องน้ำ ให้เต็มศักยภาพของลำน้ำท้ายน้ำ เพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อนโดยประสานจังหวัด และพื้นที่ 

เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำ 335 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 86% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 16.35 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 10.78 ล้าน ลบ.ม. โดยการบริหารจัดการน้ำ มีแผนระบายลงแม่น้ำปราณบุรีเพิ่มขึ้น คาดว่าระดับน้ำในแม่น้ำปราณบุรีจะมีระดับสูงขึ้น ทั้งนี้จะค่อยๆเพิ่มอัตราการระบาย โดยติดตามดูผลกระทบท้ายน้ำเป็นระยะ

สำหรับ สถานการณ์แม่น้ำโขงฝั่งประเทศไทยมีระดับน้ำสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำโขงในประเทศลาวเพิ่มขึ้นจากฝนตกหนัก และคาดการณ์ฝนในช่วงสัปดาห์นี้ จะมีปริมาณฝนตกสะสมทั้งในประเทศลาวและบริเวณจังหวัดชายแดนของประเทศไทยในปริมาณมาก ส่งผลให้ลำน้ำสาขาของไทยในบริเวณดังกล่าวกระทบต่อการไหลลงแม่น้ำโขง ปัจจุบันมีน้ำล้นตลิ่งบริเวณ จ.หนองคาย และต้องเฝ้าระวัง จ.นครพนม และ จ.อุบลราชธานี 


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :