ไม่พบผลการค้นหา
'วัฒนา เมืองสุข' ยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว 5 ล้านบาท ศาลฎีกาฯอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว 'คดีบ้านเอื้ออาทร' โดยห้ามเดินทางออกนอกประเทศจนกว่าคดีจะสิ้นสุด

เวลา 15.00 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอนุญาตให้นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จำเลยในคดีทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยทนายได้เสนอหลักทรัพย์ประกันจำนวน 5 ล้านบาทต่อศาล และศาลฯมีคำสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศจนกว่าคดีจะสิ้นสุด

ทั้งนี้ นายวัฒนา ยืนยัน ไม่หนักใจ เพราะมั่นใจในความบริสุทธิ์ อีกทั้งพยานหลักฐานในสำนวนของ ป.ป.ช.ไม่มีน้ำหนักตั้งแต่แรก โดยข้อกล่าวหาเรื่องการเรียกรับประโยชน์ก็พิสูจน์ได้ชัดเจนจากเส้นทางการเงินที่ไม่ได้มีความผิดปกติใดๆ อีกทั้ง การที่คดีนี้อยู่ในขั้นตอนสอบสวนยาวนานถึง 12 ปี โดยไม่มีการส่งฟ้อง เพราะไม่มีหลักฐานใดๆ เอาผิดได้ แต่การส่งฟ้องในยุคนี้ ที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ต่ออายุ อาจเป็นเพราะมีผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลัง พร้อมตั้งข้อสังเกตุว่า ป.ป.ช. มักไม่เร่งรัดคดีที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายผู้มีอำนาจ แต่กลับเร่งรัดคดีของฝ่ายตรงข้าม อย่างไรก็ตามตนจะต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม โดยขอรอดูคำฟ้อง เพื่อเตรียมพยานหลักฐานต่อสู้ ไม่มีการหลบหนี เช่นเดียวกับการต่อสู้ในคดีอื่นๆ พร้อมย้ำว่า จะร่วมให้กำลังใจกลุ่มคนอยากเลือกตั้งชุมนุมใหญ่ วันที่ 19-22 พฤษภาคม ครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร ในฐานะคนหนึ่งที่อยากให้มีการเลือกตั้ง

โดยในช่วงเช้า นายวัฒนา เข้าพบอัยการตามนัดหมายที่จะมีการส่งฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีทุจริตในการอนุมัติโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ ตามความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ กรณีเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการเอกชนในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ 3 ข้อหา คือ

  • จัดทำทีโออาร์ใหม่เอื้อประโยชน์เอกชน
  • มีการเรียกรับประโยชน์
  • มีการรับประโยชน์ โครงการบ้านเอื้ออาทร 7 โครงการ 7,500 ยูนิต ทำให้รัฐเสียหายกว่า 2,500 ล้านบาท

โดยคดีนี้มีการกระทำความผิดในสมัยที่นายวัฒนาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในปี 2548 จากนั้นคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้ตรวจสอบพบว่ามีการทุจริตจึงส่งให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญา ในวันที่ 30 มิ.ย. 2551 แต่ทางอัยการเห็นว่าสำนวนยังไม่สมบูรณ์จึงต้องตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง คตส.กับอัยการ แต่ยังไม่ทันได้ข้อยุติ คตส.ก็หมดวาระไปก่อน

ทางอัยการสูงสุดจึงส่งเรื่องกลับไปให้ ป.ป.ช.พิจารณาต่อ แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ เนื่องจากอัยการยังเห็นว่าสำนวนมีข้อไม่สมบูรณ์ จึงต้องตั้งคณะทำงานร่วมอีกครั้งระหว่างอัยการกับ ป.ป.ช.ใช้เวลานานกว่า 10 ปี ก่อนที่อัยการจะนำตัวนายวัฒนาส่งฟ้องในวันนี้ โดยนายวัฒนาได้เตรียมหลักทรัพย์ค้ำประกันวงเงินสองล้านบาท เพื่อขอประกันตัวไว้ล่วงหน้าแล้ว

นายวัฒนา ยืนยันว่าคดีนี้เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ข่มขู่มาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อทำลายในทางการเมืองและคดีนี้ก็เกิดหลังรัฐประหารปี 2549 เป็นการตั้งคดีเพี่อสร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจ โดยคดีค้างอยู่เป็นเวลานานแล้ว ถือเป็นเรื่องดีที่มีการส่งฟ้องจะได้ได้ข้อยุติ

ทั้งนี้ตนไม่มีความเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรมขั้นต้นทั้งการทำงานของ ป.ป.ช. และอัยการ แต่ยังหวังพึ่งการพิจารณาของศาลฎีกาฯซื่งตนจะสู้คดีจนถึงที่สุดไม่หนีคดี เพราะคดีนี้ไม่ได้มีความซับซ้อนสามารถชี้แจงได้ทุกประเด็น เช่น ข้อกล่าวที่ว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการหน่วยละ 11,000 บาท กลางที่ประชุมก็เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่ากำหนดทีโออาร์เอื้อประโยชน์แต่กลับไมมีการดำเนินคดีใด ๆ กับผู้ว่าการเคหะฯกับบอร์ดการเคหะที่เป็นผู้ปฏิบัติ กลับดำเนินคดีกับตนเพียงแค่คนเดียว อีกทั้งประชาชนมีความต้องการโครงการนี้ และโครงการนี้ก็ขายหมด รัฐไม่มีความเสียหายใด ๆ

“โครงการบ้านเอื้อาทรเป็นโครงการที่ขายหมด การเคหะฯ ไม่ได้รับความเสียหายใดๆ ประชาชน มีความต้องการ แต่ว่ามันเป็นเรื่องการเมืองคือต้องทำลาย เพื่อ Justify การยึดอำนาจ” 

โดยฐานความผิดที่อัยการส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ ฐานเป็นเจ้าหน้าที่พนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148, 157, 83, 91 ระวางโทษสูงสุดจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาทหรือประหารชีวิต