ไม่พบผลการค้นหา
ศาลฮอด พิพากษาให้ 'สุรพล' อดีต ส.ส.เชียงใหม่ เพื่อไทยชนะคดี กกต.แจกใบส้ม โดยสั่ง กกต.ให้จ่ายค่าเสียหาย 70 ล้านบาท พร้อมชี้ว่า กกต.เร่งรีบรวบรัดไม่ไตร่ตรองในการแจกใบส้มแก่อดีต ส.ส.เชียงใหม่ จนกลายเป็นนักการเมืองคนแรกที่ถูก กกต.แจกใบส้มหลังเลือกตั้ง

วันที่ 20 เม.ย. 2565 ที่ จ.เชียงใหม่ สุรพล เกียรติไชยากร อดีต ส.ส.เชียงใหม่ 8 สมัย เปิดเผยถึงกรณีที่ตนเองได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และเจ้าหน้าที่ รวม 14 คน เพื่อเรียกค่าเสียหายและเยียวยาฐานทำให้เสียชื่อเสียงภาย หลังศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องคดีบูชาเทียน เพื่อทำบุญวันเกิด จำนวน 2,000 บาท ไม่ใช่เป็นการซื้อเสียง หรือทุจริตเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป เมื่อปี 2562 ซึ่งหลังการเลือกตั้ง กกต.ได้แจกใบส้ม หรือเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตนเองไว้เป็นการชั่วคราว 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. 2562 ทำให้หมดสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เชียงใหม่ เขตเลือกตั้งที่ 8

ทั้งนี้ สุรพล เปิดเผยว่า วันนี้ (20 เม.ย.65) ศาลจังหวัดฮอด ต.หางดง อ.ฮอด ได้พิพากษาคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.164/2562 และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ. 23/2565 ให้ตนชนะคดีดังกล่าว และสั่งให้ กกต.จ่ายค่าเสียหายและเยียวยา รวมกว่า 64.1 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย รวมทั้งสิ้นกว่า 70 ล้านบาท จากที่ตนเรียกค่าเสียหายจาก กกต.ที่ทำให้ตนเสื่อมเสียเกียรติในฐานะ ส.ส. 8 สมัยไปจำนวนเงิน 86 ล้าน แต่ยังต้องรอให้ กกต.จะขออุทธรณ์คดีหรือไม่ โดยมีกำหนดระยะเวลาภายใน 1 เดือน

สุรพล กล่าวว่า ในคำพิพากษาระบุว่า กกต.วินิจฉัยโดยไม่ให้ความเป็นธรรม รวบรัด เร่งรีบ ไม่ได้ไตร่ตรองวินิจฉัยอย่างรอบคอบ แล้วให้ใบส้มใบแรกของประเทศไทยกับตนในการเลือกตั้งปี 2562 จนในที่สุดศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้ยกฟ้องว่า ตนไม่มีความผิด ทั้งนี้การเลือกตั้งครั้งต่อไปตนจะลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทยพื้นที่เดิมแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม ผลจากการที่ สุรพล ไม่ได้กระทำการทุจริตการเลือกตั้ง หากย้อนไปในการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 สุรพลได้รับคะแนนเสียงในเขตเลือกตั้งที่ 8 จ.เชียงใหม่ มาเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนนเสียง 52,165 คะแนน ซึ่งหากไม่ได้มีการแจกใบส้ม จะทำให้พรรคเพื่อไทยมี ส.ส.เพิ่มขึ้นอีก 1 เสียง

แต่ภายหลังการเลือกตั้ง กกต.ได้วินิจฉัยแจกใบส้มแก่ สุรพล และถือเป็นนักการเมืองไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ถูกแจกใบส้ม และต่อมามีการเลือกตั้งซ่อมเกิดขึ้น ทำให้ ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้สมัครของพรรคอนาคตใหม่ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 75,819 คะแนน 

สำหรับคดีดังกล่าว กกต. กล่าวหาว่า การใส่ซองทำบุญให้กับพระสงฆ์ จำนวน 2,000 บาท มีมูลความผิดตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73 (2) ฐานให้เงิน หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม แก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใดในช่วงที่มีการเลือกตั้ง 

ทั้งนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เห็นว่า เงินดังกล่าวเป็นค่าเทียนสะเดาะเคราะห์ และในวันที่ไปทำบุญนั้นไม่ได้พูดหาเสียง เพียงแต่ทักทายกับประชาชนเท่านั้น ไม่ได้ฝากเนื้อฝากตัวกับชาวบ้านจึงยังไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่า เป็นการบริจาคเงินทำบุญให้กับวัดเพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ตนเอง และไม่จำเป็นต้องชดใช้ค่าเลือกตั้งซ่อมตามคำร้อง 

ภายหลังศาลฎีกาไม่ยืนตามคำร้องของ กกต. ทำให้เวลาต่อมา สุรพลได้ไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความสมาชิกภาพของ สุรพล ว่าจะยังเป็น ส.ส.ได้หรือไม่

กระทั่งเมื่อวันที่  18 ส.ค. 2564 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องที่ สุรพล เกียรติไชยากร อดีต ส.ส.เชียงใหม่พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า ผลการเลือกตั้งส.ส. เมื่อวันที่ 24 มีค. 2564 ในเขตเลือกตั้งที่ 8 จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งและขอให้วินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ถูกร้องที่ 2 ภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีคำพิพากษารวมทั้งขอให้วินิจฉัยความเป็นสมาชิกภาพของผู้ร้องเนื่องจากการเลือกตั้งในครั้งดังกล่างเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 โดยสำนักงาน กกต. ผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 เพิกเฉยไม่ได้ดำเนินการให้ผู้ร้องกลับคืนสู่สถานะเดิม

การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นโดยมีมติเสียงข้างมากสั่งไม่รับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย เนื่องจากการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง เป็นการใช้อำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย หากผู้ร้องเห็นว่าผู้ถูกร้องทั้งสองกระทำการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องตามที่กล่าวอ้างอาจใช้สิทธิเยียวยาทางศาลอื่นได้ และกรณีนี้ยังไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ.2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213

แม้ศาลจังหวัดฮอดจะมีคำพิพากษาให้ สุรพล ชนะคดีดังกล่าว พร้อมสั่งให้ กกต.ชดใช้ค่าเสียหาย แต่สถานะความเป็น ส.ส.ก็ไม่ได้คืนสู่ สุรพล และพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด ทำให้ พรรคเพื่อไทยและตัว สุรพล ต้องถูกพรากสิทธิในการได้รับการเลือกตั้งจากราษฎร ส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง