ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มเอกชน BBS ได้รับมติเห็นชอบจากคณะกรรมการคัดเลือก ประมูลชนะได้โครงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารอู่ตะเภา อีอีซีแถลงรอส่งเรื่องเข้า ครม.อาจได้ลงนามเดือน พ.ค.นี้

ในการประชุมคณะอนุกรรมการบริหาร การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาพตะวันออก (กบอ.) ประจำวันที่ 27 เม.ย.พลเรือตรี เกริกไชย วจนาภรณ์ เลขานุการและกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ชี้ว่า หลังคณะกรรมการคัดเลือกใช้เวลาทำงานกว่า 1 ปี 6 เดือน ซึ่งแบ่งเป็นการประชุมคณะกรรมการคัดเลือก 17 ครั้ง และมีการประชุมคณะกรรมการเจรจาสัญญา 19 ครั้ง ที่ประชุมมีมติให้ กลุ่มกิจการร่วมค้า BBS ซึ่งประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS, บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ได้ชนะการเปิดซองประมูลราคา

พลเรือตรี เกริกไชย ชี้ว่า เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2562 ซึ่งเป็นวันยื่นซองประมูลโครงการ มีเอกชนเพียง 3 ราย จากทั้งหมด 42 รายที่เข้ามาซื้อซองประมูลก่อนหน้า เข้ามายื่นซองประมูล โดยแบ่งเป็นกลุ่ม BBS และอีก 2 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มกิจการค้าร่วม บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด (เครือซีพี.) และพันธมิตร ที่ประกอบด้วย บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด บริษัท Orient Success International Limited บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และบริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM
  • กลุ่มแกรนด์ คอนโซเตียม(GRAND Consortium) ประกอบด้วย บริษัท แกรนด์ แอสเสท โอเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAND อยู่ในกลุ่ม บริษัท พร็อพเพอร์ซี่ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน)หรือ PF บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด และบริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย)จำกัด (มหาชน)หรือ CNT

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือก ได้เปิดซองประมูลซองที่ 3 คือซองเสนอราคาเงินประกันขั้นต่ำตลอดระยะสัญญาซึ่งกลุ่ม BBS เสนอสูงที่สุด หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทั้ง 3 กลุ่มเอกชน ผ่านเกณฑ์ซองประมูลที่ 1 และ 2 คือ คุณสมบัติทั่วไป และด้านเทคนิคด้วยกันทั้งหมด 

ล่าสุดวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกเห็นชอบผลการะเจรจากับกลุ่มบริษัท BBS ตามที่คณะทำงานทั้งร่างสัญญาและทางด้านเทคนิคเสนอ และเห็นชอบให้เสนอต่อกองทัพเรือในฐานะหน่วยเจ้าของโครงการ พร้อมเสนอร่างสัญญาทั้งหมดให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาเพื่อเสนอเข้าคณะกรรมการนโยบายของอีอีซีและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

โดยนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)ชี้ว่า น่าจะสามารถลงนามกับกลุ่มบริษัทเอกชนได้ในเดือน พ.ค. 


โครงการสนามบิน ไม่จบแค่สนามบิน

นอกจากตัวโครงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารสนามบินอู่ตะเภาที่กลุ่ม BBS ได้ไปนั้น นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อีอีซี ชี้ว่า โครงการดังกล่าวยังต้องมีภารกิจอีกหลายเรื่องที่ต้องดำเนินการไปพร้อมกัน 

ภายใต้การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารดังกล่าวที่จะมีขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของผู้โดยสารกว่า 60 ล้านคน/ปี นายโชคชัย ชี้ว่า ยังมีโครงการอย่าง ศูนย์ซ่อมอากาศยานของการบินไทย ที่ปัจจุบันต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในการหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ หลังบริษัทแอร์บัสประกาศถอนเม็ดเงินการลงทุนอันเนื่องมาจากวิกฤตโควิด-19 ที่บริษัทกำลังเผชิญอยู่ อย่างไรก็ตาม แอร์บัส ยังคงพร้อมที่จะสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยีการซ่อมอากาศยานให้การบินไทยอยู่

การบินไทยฉีดพ้นไวรัส-เครื่องบิน-การบินไทย-ไวรัสโคโรนา

โครงการดังกล่าวยังต้องทำงานร่วมกันกับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (CPH) ประมูลได้ไป และเซ็นสัญญาไปตั้งแต่ปีที่แล้ว นอกจากนี้ โครงการด้านสาธารณูปโภค ไปจนถึงหอบังคับการบิน และศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรก็ต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กับการสร้างอาคารผู้โดยสารเช่นเดียวกัน

นายคณิศ ปิดท้ายว่า ปัจจุบันแม้จะมีสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำลายความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวลงไป แต่แผนการดำเนินการยังคงอยู่เช่นเดิม เนื่องจากกว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จและเปิดให้ใช้งานจริง ก็คาดว่าจะอยู่ในปี 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่หลายฝ่ายมองว่าอุตสาหกรรมการบินจะกลับมาบ้างแล้ว โดยคาดการณ์ว่าธุรกิจการบินโลกจะกลับมาเป็นปกติได้ราวร้อยละ 50 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 และกลับมาประมาณร้อยละ 70 ในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า จึงเป็นไปได้ว่าเมื่อถึงเวลาเปิดใช้งานตามกำหนด ธุรกิจการบินจะกลับมาเป็นปกติแล้ว และจะยิ่งกลายบินโอกาสให้กับประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;