ไม่พบผลการค้นหา
การตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือจีเอสพี (Generalized System of Preference : GSP) สินค้าไทยที่ส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 573 รายการ 'ไม่ใช่เรื่องใหม่' และไม่ใช่เป็นมาตรการแรกเพี่อตอบโต้ทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาต่อรัฐบาลไทยทั้งทางตรง-ทางอ้อม

เพียงแต่ต่างกรรม-ต่างวาระ “รอวันเอาคืน” ขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐอเมริกาจะมีมาตรการ-วาระตอบโต้ทางเศรษฐกิจ หรือ ทางการเมือง “ระหว่างประเทศ” ที่มีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนเป็น “ศัตรูเบอร์หนึ่ง”

เมื่อหลายเหตุการณ์ “เข้าทาง” ทั้งการ “แบน 3 สารเคมี” ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ทำให้สหรัฐออกหนังสือถึงทางการไทย ลงนามโดย “เท็ด เอ.แมคคินนีย์” ปลัดกระทรวงเกษตรสหรัฐ ฯ ให้ทบทวนการแบน 3 สารเคมี

แม้กระทั่งภาพการจับมือกับ “แครี่ ลัม” ผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง กับ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีไทย ในงานสัมมนายุทธศาสตร์เศรษฐกิจกวางตุ้ง ฮ่องกง มาเก๊า เป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์แนบแน่น-ฉันท์มิตร  

เมื่อ “ศัตรูของศัตรู” คือ “มิตร” เมื่อ “มิตรของศัตรู” คือ “ศัตรู” นโยบายการต่างประเทศ-การทูตของไทยจึงต้อง “แยบยล” ไม่ให้ “ตกหลุม” สงครามการค้าของประเทศมหาอำนาจ 

ยิ่งเมื่อ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา “เล่นเกมการเมือง” ภายในประเทศ ก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง สหรัฐอเมริกาจึงพร้อม “หยิบยก” มาตรการทางภาษีเพื่อเรียก “คะแนนนิยมทางการเมือง”  

รวมถึง “สั่งสอน” รัฐบาลไทยที่อิงแอบกับรัฐบาลจีน-ศัตรูตัวฉกาจของสหรัฐอเมริกาจน “เกินงาม”

เช่นเดียวกับเมียนมาที่ถูกสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิจีเอสพี เช่นกันเพราะ “เลือกข้าง” จีน

ทรัมป์.jpg

สัญญาเตือนของสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่มีนโยบาย “American first” เป็น “ธงนำ” ต่อรัฐบาลไทย คือ การ “หมายหัว” ประเทศคู่ค้าที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศไทยอยู่อันดับที่ 11 ที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ มูลค่าราว 20.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2017

รวมถึง “กำแพงภาษี” มาตรการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อสินค้านำเข้าของจีนจาก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็น 25 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลกระทบ “ทางอ้อม” ต่อนักลงทุนไทยที่ผลิตสินค้าในจีนและส่งออกเข้าสหรัฐอเมริกา แต่ “ผลพลอยได้” คือ สินค้าไทยมีโอกาสเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐอเมริกาได้มากขึ้น

แม้รัฐบาลไทยจะ “ฉวยจังหวะ” ดึงนักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า “ย้ายฐาน” เข้ามายังประเทศไทยก็ตาม แต่เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วเทียบไม่ได้กับผลกระทบจากสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวมระยะยาว

ในยุค “สงครามเย็น” สหรัฐอเมริกาใช้มาตรการทางการเมือง-ความมั่นคงในการตอบโต้อริราชศัตรู แต่ในยุค “สงครามการค้า” ที่มีนโยบาย “American first” เป็น “เรือธงนำ”  

หลังวันที่ 22 พ.ค.2557 ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) – รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 1 อาทิ เรื่องสิทธิทางปัญญา เรื่องการค้ามนุษย์ เรื่องมาตรฐานการบินสหรัฐ

รวมถึงการตัดสิทธิ GSP ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 2 รับรู้มาก่อนล่วงหน้า ตั้งแต่รัฐบาลประยุทธ์ 1 สมัยที่ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เป็น รมว.พาณิชย์ โดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2561 เรื่อง “รับทราบข้อมูลการต่ออายุโครงการสิทธิจีเอสพี ของสหรัฐฯ” ซึ่งได้ประกาศต่ออายุโครงการจีเอสพี แก่ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา อีก 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561-31 ธ.ค. 2563 รวมทั้งจำเป็นต้องทบทวนรายชื่อประเมินคุณสมบัติประเทศที่ได้รับสิทธิด้วย โดยได้ประกาศรายชื่อประเทศที่ต้องถูกทบทวนประเมินคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย และคาซัคสถาน เป็นต้น

โดยไทยไม่อยู่ในรายชื่อดังกล่าว เนื่องจากไทยมีแผนปฏิบัติการด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงาน และการปราบปรามและการบังคับใช้กฎหมาย และการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้อง

“อย่างไรก็ดี สภาผู้ผลิตสุกรสหรัฐฯ (National Pork Producers Council : NPPC) ได้ยื่นคำร้องขอให้ United States Trade Representatives (USTR) พิจารณาตัดสิทธิ GSP แก่ไทย เนื่องจากไทยไม่เปิดตลาดสินค้าให้แก่สหรัฐฯ อย่างเป็นธรรมและสมเหตุผลจากการที่ไทยห้ามนำเข้าเนื้อสุกรจากสหรัฐฯ ที่มีสารเร่งเนื้อแดง ซึ่ง USTR จะนำประเด็นดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาข้อเท็จจริงก่อนที่จะประกาศรับคำร้องในช่วงพฤษภาคม 2561 ต่อไปตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ”มติครม.ระบุ

มติครม.ดังกล่าวยังระบุอีกว่า ให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เช่น การติดตามการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการด้านการคุ้มครองสิทธิแรงงานของไทย และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างใกล้ชิด เพื่อประโยชน์ต่อการทบทวนประเมินคุณสมบัติประเทศที่ได้รับสิทธิ (Country Assessment) เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับสิทธิจีเอสพี อย่างต่อเนื่อง และการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐฯ ในอนาคต อาทิ ขยายการค้าไปยังตลาดใหม่ ๆ และส่งเสริมผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในประเทศที่ได้รับสิทธิดังกล่าว เป็นต้น ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

ประยุทธ์ สหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ 71003040827.jpg

อย่างไรก็ตามไทยได้ใช้เวทีการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐ ฯ (TIFA JC) ประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 9-10 เม.ย.2561 ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ชี้แจงประเด็นที่สหรัฐ ฯ ใช้เป็นเงื่อนไขในการพิจารณาทบทวนการให้สิทธิ จีเอสพีแก่ไทย เช่น การคุ้มครองสิทธิแรงงานของไทย การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

รวมถึงข้อเรียกร้องจากสหรัฐอเมริกาที่ต้องการให้ไทยนำเข้าเนื้อสุกร (หมูเนื้อแดง) โดย “ไทยจะยอมรับค่าความปลอดภัยของสารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมูและเครื่องในตามมาตรฐาน Codex ก็ต่อเมื่อมีผลการศึกษาและมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับระดับความปลอดภัยของการใช้สาร Ractopamine รองรับความปลอดภัชองผู้บริโภค”

“ซึ่งการประชุมไทย-สหรัฐ ฯ กำหนดแผนการดำเนินการคู่ขนานด้าน Food Safety และ Animal Health และแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามความคืบหน้าร่วมกัน”

โดยกระทรวงต่างประเทศที่มี “ดอน ปรมัตถ์วินัย” เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศในวันนั้น-ในวันนี้ รายงานการทบทวนการให้สิทธิจีเอสพี แก่ประเทศไทยเกี่ยวข้องกับ 2 ประเด็นหลัก ได้แก่

1.การเปิดตลาดเนี้อสุกร ซึ่งรวมถึงเครื่องในสุกรและเนื้อสุกรที่ผลิตโดยสารเร่งเนื้อแดง เป็นประเด็นที่สหรัฐฯ ติดตามเร่งรัดกับฝ่ายไทยในหลายระดับอย่างต่อเนื่อง อาทิ การหารือระหว่างพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับ นายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2560 การหารือระหว่าง นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ขณะนั้น) กับ นาย Peter Haymond รองหัวหน้าสำนักงานสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทคไทย เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2561

และการหารือระหว่าง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กับ นายกลิน ที. เดวิส เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย (ขณะนั้น) เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2561 ตลอดจนการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ (Trade and Investment Framework Agreement Joint Council: TIFA JC) เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 รวมถึงการพบหารือของ NPPC กับฝ่ายไทยโดยตรง ซึ่งขณะนี้ NPPC กำลังพยายามกดดันฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ให้ดำเนินการเพื่อให้ไทยเปิดตลาดในเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว

“เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2561 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จำนวน 44 คน ไดัมีหนังสือ ลงวันที่ 21 พ.ค. 2561 ถึงเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน แสดงความห่วงกังวลต่อการจำกัดการนำเข้าสินค้าเกษตร สหรัฐฯ โดยไทย ซึ่งรวมถึงการห้ามนำเข้าเนื้อสุกร และเรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกการจำกัดดังกล่าว ซึ่งหากไม่มีความคืบหน้าอย่างสำคัญในเรื่องนี้ คาดว่า สหรัฐฯ อาจพิจารณาความเหมาะสมในการระงับสิทธิประโยชน์บางประการ ที่ประเทศไทยได้รับภายใต้โครงการจีเอสพี ในไม่ช้า”

2.การคุ้มครองสิทธิแรงงาน ซึ่งรวมถึงแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.... ซึ่งสหพันธ์แรงงานสหรัฐฯ และสภาองค์กรอุตสาหกรรม (American Federation of Labor and Congress of Industrial Organizations: AFL-CIO) ได้เคยยื่นคำร้องเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิแรงงานของไทย

สำหรับการ “หาทางหนีทีไล่” เช่น การขยายการค้าไปยังตลาดใหม่ ๆ และส่งเสริมผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนในประเทศที่ได้รับสิทธิจีเอสพี

หลังจากนี้รัฐบาลไทยมีเวลา 6 เดือนก่อนถึง “เส้นตาย” ในวันที่ 25 เม.ย.2563 ไม่ให้สินค้าไทยส่งออกไปสหรัฐอเมริกาต้องแบกรับภาระภาษีแต่ละปี ปีละ 1,500-1,800 ล้านบาท เป็นต้นทุนทางการค้า-เครื่องยนต์ส่งออกไทยดำดิ่ง-ติดดิน  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง