ไม่พบผลการค้นหา
ย่างเข้าสู่ปีที่ 15 ของปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ เหตุรุนแรงเริ่มลุกโชนขึ้นอีกครั้ง ในช่วงรอยต่อจากปลายปี 2561 ถึงต้นปี 2562 ปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 5 เหตุการณ์ใหญ่

1.ลอบสังหารโต๊ะอิหม่าม สะมาแอ เจะมะ ประจำมัสยิดบ้านท่าราบ จ.ปัตตานี

2.ยึดโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านกาหนั๊วะ จ.นราธิวาส

3.ลอบสังหารโต๊ะอิหม่าม ดอเลาะ สะไร ประจำมัสยิดปูโปะ จ.นราธิวาส 

4.การปะทะกันของเจ้าหน้าที่กับกลุ่มก่อการในเขตโรงเรียนบ้านตือกอ จ.นราธิวาส

และ 5.บุกเข้าไปในวัดรัตนานุภาพ บ้านโคกโก จ. นราธิวาส สังหาร พระครูประโชติรัตนานุรักษ์ (สว่าง เวทหามะ) เจ้าอาวาสวัดรัตนานุภาพและเจ้าคณะอำเภอสุไหงปาดี และพระลูกวัดจนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ

นำไปสู่การตั้งคำถามถึงต้นสายปลายเหตุว่าแท้จริงแล้วเกิดจากอะไร เพราะเมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนใหม่ เพิ่งพบกับ มร.ตัน สรี อับดุล ราฮิม บิน โมฮัมหมัด นูร์ หัวหน้าคณะผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซีย อย่างเป็นทางการครั้งแรก 

รอมฎอน ปันจอร์ ไฟใต้ _1298501330179651_4965178609374451182_n.jpg

(รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการเว็บไซต์ Deep South Watch)

'วอยซ์ ออนไลน์' สัมภาษณ์ นายรอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการเว็บไซต์ Deep South Watch อธิบายถึงเหตุไฟใต้ที่ลุุกโชนขึ้นอีกครั้ง โดยเขาเริ่มจากการตั้งสมมติฐาน ตามที่นักวิเคราะห์และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ชายแดนใต้ประเมินกันในภาพรวมว่า มี 5 สาเหตุหลักคือ

1.การปรับเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยและโครงสร้างการทำงานของฝ่ายรัฐไทยตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 327/2561 ท่าทีของ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข คนใหม่ ก็อยากเปิดกว้างการพูดคุยแบบไม่เป็นทางการ กับกลุ่มก่อความไม่สงบกลุ่มอื่นๆ ที่ยังไม่เข้าร่วมพูดคุย

“ประกอบกับกระแสข่าวในพื้นที่ รายงานถึงแรงกดดันจากฝั่งรัฐบาลมาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวก ให้กลุ่มบีอาร์เอ็นบางส่วนที่ยังไม่เข้าร่วมการพูดคุยมาร่วมพูดคุย แม้การให้ข้อมูลอย่างเป็นทางการจะระบุว่า รัฐไทยและมาเลเซีย ไม่ต้องการให้มีการกดดันก็ตาม”

2.เหตุรุนแรงเป็นไปตามวงรอบตามปกติ ของลักษณะการโจมตีแบบกองโจร

3.คล้ายสมมติฐานที่ 2 แต่เป็นการใช้กำลังโต้ตอบเอาคืนกันไปมา

4.นัยยะทางการเมือง ผ่านสัญลักษณ์ของรัฐไทย ด้วยการโจมตีเจ้าหน้าที่และเป้าหมายอยู่ทีพลเรือนอ่อนแออย่างครู ซึ่งความโน้มเอียงของเหตุรุนแรงในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา เห็นแบบแผนว่าอยู่ละแวกโรงพยาบาล ซึ่งกติกาสงครามสากล โรงพยาบาลคือข้อยกเว้น จึงอาจตีความไปยังข้อเรียกร้องหนึ่งที่สำคัญคือ กลุ่มก่อความไม่สงบ อยากเร่งเปิดกว้างให้ตัวแทนระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลประเทศที่สาม หรือองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาร่วมเป็นสักขีพยานการพูดคุยมากกว่านี้

และ5.พลวัตตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ที่อุดมด้วยความขัดแย้งอื่นๆ ทับซ้อนอยู่ในความขัดแย้งใหญ่นี้

ไฟใต้ นราธิวาส อิสลาม ละหมาด Cover Template.jpg

รอมฎอน อธิบายว่า สมมติฐานทั้ง 5 คือความเป็นไปได้ของวงรอบเหตุรุนแรงช่วงต้นปีนี้ แต่ยังไม่อาจชี้ชัดหรือให้น้ำหนักไปยังด้านในด้านหนึ่งได้เป็นพิเศษ การก่อความรุนแรงแต่ละครั้งไม่มีการสื่อสารหรือคำอธิบายตามมา จึงต้องประเมินตามบริบทและเหตุรุนแรงในช่วงนั้นๆ ประกอบกับข่าวสารที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ

เมื่อให้วิเคราะห์ในมุมมองผู้เกาะติดกระแสข่าวความไม่สงบอย่างตอเนื่อง รอมฎอน ตีความว่า เรื่องใหญ่อย่างหนึ่งของรัฐบาล คสช.ในการพูดคุยคือ การเปลี่ยนชื่อจากการพูดคุย "สันติภาพ" เป็น "สันติสุข" เพื่อจำกัดไม่ให้ทิศทางการพูดคุยไปสู่ทิศทางการยกระดับให้ต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศนอกจากรัฐบาลมาเลเซีย มาร่วมอำนวยความสะดวก ซึ่งสวนทางกับข้อเรียกร้องของกลุ่มก่อความไม่สงบ ที่อยากให้มีองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมเป็นคนกลางรับฟังอีก

“นี่คือความไม่ลงตัวของทีโออาร์ร่วมกับระหว่าง รัฐไทย ปาร์ตีเอ และ มาราปาตานี ปาร์ตี้บี อย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับเรื่องการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย หรือ safety zone ที่ยังไม่ลงตัวนับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา”

ประยุทธ์ มหาเธร์ 1024063751.JPGเปรม มหาเธร์ .jpg

(มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกฯ มาเลเซีย เมื่อครั้งเยือนไทย เมื่อปลายเดือน ต.ค. 2561)

สำหรับการพบปะระหว่างฝ่ายไทยและมาเลเซียเมื่อต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมานั้น บรรณาธิการ DSW มองว่า นายตัน สรี หัวหน้าคณะผู้อำนวยความสะดวก เร่งรีบขีดเส้นตาย 2 ปีจบ จากฝั่งรัฐบาลมาเลเซีย ก็อาจตั้งข้อสังเกตได้เช่นเดียวกันว่า เรื่องนี้ก็อาจถูกนำมาเป็นเรื่องการเมืองภายในของแต่ละประเทศ ซึ่งข้อความการสื่อสารการพบกันอย่างเป็นทางการของรัฐไทยและมาเลเซีย เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา เรื่องการยุติปัญหาสงครามตัวแทน ที่มาเลเซีย ต้องเผิชญกับพรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ซึ่งลงนามกันที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อปี 2532 ก็สะท้อนได้ 2 มุมคือ

มุมหนึ่ง นี่จะเป็นตัวแบบความร่วมมือยุติปัญหาความไม่สงบในครั้งนี้ โดยไม่ต้องพึ่งโมเดลของอาเจะห์ หรือไอร์แลนด์เหนือ

และ อีกมุมหนึ่ง นี่คือการทวงบุญคุณหรือต่างตอบแทนกัน เมื่อครั้งก่อนที่ตอนนั้น ไทยคือผู้อำนวยความสะดวก ในการจบปัญหาให้มาเลเซีย ซึ่งในยุคนั้น นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ก็เป็นนายกฯอยู่ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่านายมหาเธร์ก็ได้ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับรัฐไทยอย่างเต็มที่เมื่อครั้งที่ มาเยือนไทยครั้งล่าสุด เข้าพบเพื่อนเก่าอย่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ มีนัยยะถึงการขอให้รัฐไทยไว้วางใจ

"บางฝ่ายก็มองว่า มหาเธร์ขีดเส้น 2 ปี ให้พอดีกับการลงจากอำนาจ ถือเป็นการทิ้งทวนตำนานทางการเมือง ทว่าก็นำไปสู่ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจให้กลุ่มก่อความไม่สงบ ที่กระแสข่าวในพื้นที่ระบุว่า แกนนำเริ่มลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม ซึ่งก็อาจนำไปสู่การยกระดับปัญหาให้ซับซ้อนมีประเทศที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่เป็นสิ่งที่รัฐไทยไม่ต้องการ"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง