ไม่พบผลการค้นหา
บุคคลการเมืองแห่งปีที่อาจมองข้ามไม่ได้อีก 1 คน ที่เรียกสีสันด้วยวาทะที่สื่อมวลชนมักหยิบไปเล่นเป็นประเด็นข่าว หนีไม่พ้น 'อนุทิน ชาญวีรกูล' รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ซึ่งล่าสุดสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล จัดฉายาให้เขาว่า 'ทินเนอร์'

เพราะสื่อมวลชนให้เหตุผลว่า ชื่อของ 'อนุทิน' ซึ่งพ้องกับสารระเหยที่มี ทั้งคุณและโทษ ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท หากสูดเดาเข้าไปมาก อาจทำลายระบบประสาท กระทบกระเทือนความรู้สึกนึกคิด คล้ายพฤติกรรมการใช้คำพูดที่ขาดความยั้งคิด ส่งผลลบต่อตัวเอง และรัฐบาลโดยเฉพาะการให้สัมภาษณ์ จนเป็นประเด็นลดความน่าเชื่อถือของตนเอง เช่น โควิด..กระจอก ไล่นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับประเทศ หรือ ตอบโต้กับบุคลากรทางการแพทย์ จนเกิดกระแสต่อต้านหลายครั้ง

'วอยซ์' ประมวลเหตุการณ์นับแต่ต้นศักราชปี 2563 จนถึงปลายปี 2563 ซึ่งก่อนตั้งแต่ประเทศไทยจะถูกเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เข้ารุมโจมตีจนถึงขั้นต้องงัดยาแรงด้วยการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 

กลิ่นเค้าลาง 'โควิด-19' เริ่มส่งสัญญาณเตือนประเทศไทยและรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2563

เริ่มตั้งแต่ 8 ม.ค. 2563 ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 คนแรกในประเทศ โดยเป็นหญิงชาวจีน อายุ 61 ปี 

ประยุทธ์ หน้ากาก อนุทิน โคโรนา โควิด 027000000.jpg

13 ม.ค. 2563 'อนุทิน' เปิดแถลงย้ำว่าขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก การพบผู้ป่วยถือว่าเป็นประสิทธิภาพของระบบการเฝ้าระวังโรคของเรา มั่นใจว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี

25 ม.ค. 2563 'อนุทิน' ยืนยันควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศได้

"ไม่ได้บ้าจี้ตามข่าวที่กระหน่ำเข้ามา เพราะกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ของไทยมีความคุ้นเคยกับการควบคุมโรคระบาดมาค่อนข้างชั้นนำ ไม่แพ้ใครในโลกนี้ ขั้นตอนการดำเนินงานวิธีการมีหมดแล้วไม่ต้องไปสอนและแนะนำ"

"ถ้าไม่ไหวเราต้องเอาสุขภาพประชาชนไว้ก่อน แต่ตอนนี้มีผู้ป่วยยืนยันรายที่ 7 เท่านั้น ทั้งที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นแสนๆคน ไม่มีใครหลุดรอดไปได้ 3-4 คนแรกก็หายไปแล้ว ประเทศไทยรักษาหายจากอาการเจ็บป่วย กลับประเทศจีนไปแล้ว ทำไมคนไทยต้องกังวลว่าคนจีนปิดเมืองไม่ให้คนเดินทางเข้าและออกแล้ว"

อนุทินยังทิ้งท้ายว่า ไวรัสนี้ก็เหมือนโรคหวัดโรคหนึ่ง การทำตัวให้เหมือนคนเจอหวัดก็อย่าไปสัมผัสหรือทานอาหารร่วมกัน ให้ใช้ชีวิตตามปกติ อย่าไปสัมผัสซากสัตว์ตายแล้ว พร้อมขอให้อย่าไปกินอาหารที่ผิดปกติ โดยเฉพาะค้างคาว กบ กระต่าย ซึ่งตอนนี้เป็นการตื่นตระหนก

"ผมเอาคำจากองค์กรอนามัยโลก (WHO) ยิ่งตรวจก็ยิ่งเจอ ยิ่งเจอก็ยิ่งดี แสดงว่าประสิทธิภาพในการค้นหามันทำงาน ถ้าไม่เจอก็ยุ่ง แล้วตอนนี้อย่างกรณีอู่ฮั่น ไทยไม่มีเที่ยวบินเข้าและออกแล้ว" อนุทิน ระบุ

อนุทิน-แอร์เอเชีย-อู่ฮั่น-ไวรัส-โคโรนา

27 ม.ค. 2563 'อนุทิน' ยังย้ำว่าควบคุมสถานการณ์ได้ เพราะผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบทั้งหมด มาจากเมืองอู่ฮั่นซึ่งเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง ยังไม่ได้กระจายไปเมืองอื่น และเป็นการติดเชื้อนอกประเทศไทย ยังไม่มีกรณีติดต่อจากคนสู่คนในประเทศไทย ยังถือว่าเฝ้าระวังและควบคุมสถานการณ์ได้อยู่ 

อนุทิน ระบุ เรื่องการติดจากคนสู่คน มีความเป็นไปได้ เวลาเข้าไปใกล้สารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำตา ไอจาม สิ่งที่ควรทำคือหลีกเลี่ยง ที่จะไปอยู่ในชุมชน หรือสถานที่แออัด เช่น ช่วงตรุษจีน ที่มีนักท่องเที่ยวมาไทยเยอะ ก็พยายามหลีกเลี่ยง ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ให้ใส่หน้ากากป้องกัน ยืนยันว่าโรคนี้ คนที่ติดเชื้ออยู่ ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงสาธารณสุข ยังไม่มีหลุดออกไป 

31 ม.ค. 2563 สถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศไทยเริ่่มส่งสัญญาณทักทายการป้องกันของภาครัฐ

เมื่อชายไทยคนแรกที่ไม่ได้เดินทางไปประเทศจีน ได้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นคนแรกของประเทศ ซึ่งเขามีอายุ 50 ปี มีอาชีพเป็นคนขับแท็กซี่

7 ก.พ. 2563 'อนุทิน' โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ว่า "กระทรวงสาธารณสุขจะทำงานหนัก และทำงานมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยของคนไทยทุกคน สำหรับคนที่กำลังเอาเปรียบ และ ค้ากำไรจากการกักตุน ขึ้นราคา หน้ากากอนามัย และเจลล้างมือ จนทำให้ประชาชนเดือดร้อนของประชาชนเพื่อนร่วมชาติ เป็นเรื่องที่ควรทำ และไม่ละอายใจ ก็เชิญทำต่อไป ผมเก็บข้อมูลไว้หมดแล้ว วันหนึ่ง เราคงได้คิดบัญชีกัน"

สถานการณ์การระบาดในประเทศเริ่มเข้าขั้นวิกฤตหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากสนามมวยลุมพินีและสถานบันเทิงในต้นเดือน มี.ค. 2563

กระทรวงสาธารณสุขรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. - มีนาคม 2563 มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 16 ราย กลับบ้านแล้ว 33 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมสะสม 50 ราย

โดยผู้ป่วยสะสมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 16 มี.ค. 2563 โดยมีผู้ป่วยสะสมถึงหลักร้อยครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2563 จำนวน 114 คน กระทั่งถึงวันที่ 31 มี.ค. 2563 มีผู้ป่วยสะสม 1,651 คน  ขณะที่ยอดผู้ป่วยรายใหม่มีจำนวนหลักร้อยเป็นส่วนใหญ่นับแต่กลางเดือน มี.ค.จนถึงสิ้นเดือน มี.ค.

โควิด มีนาคม 63 titled.jpg

10 มี.ค. 2563 อนุทิน ยืนยันว่าการแก้ไขปัญหาโควิด -19 จะไม่ทำให้รัฐบาลนั้นสั่นคลอน แต่จะทำให้เกิดความแน่นเหนียวมากยิ่งขึ้น โดยขอให้มั่นใจว่าสถานการณ์ยังไม่ร้ายแรงเกินความควบคุม

21 มี.ค. 2563 อนุทิน ประชุมร่วมกับสถาบันการแพทย์ องค์กรวิชาชีพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมรับมือกับโควิด-19 โดยระหว่างแถลงข่าว อนุทิน แถลงด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและร่ำไห้ต่อสาธารณะ โดยระบุว่า เรานำบุคลากรณ์ชั้นนำทั่วประเทศมาต่อสู้ป้องกันโควิด-19 ไม่ให้โควิด-19 ทำอะไรกับประชาชนได้ 

"นี่เป็นพลังที่พี่น้องประชาชนมี ทุกบาททุกสตางค์ที่ท่านเสียภาษีให้กับประเทศนี้ วันนี้พวกเรารวมหัวใจกันมาต่อสู้เพื่อให้พี่น้องประชาชนปลอดภัย ขอให้มั่นใจในพวกเรา และเราจะไม่ทำให้ท่านผิดหวัง" อนุทิน ร่ำไห้

วิกฤตโรคโควิด-19 ยังลุกลามบานปลายทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2563 เพื่อป้องกันและระงับยับยั้งการระบาดของโควิด-19 นำอำนาจเบ็ดเสร็จการแก้ไขวิกฤตโควิด-19 มาอยู่ในมือนายกฯ

26 มี.ค. 2563 'อนุทิน' ระบุถึงบุคลากรทางการแพทย์ติดโรคโควิด-19 โดยไม่ระวังตัวเองว่า 

"เท่าที่ผมได้รับรายงานมานะครับ การติดเชื้อของแพทย์จากการปฏิบัติหน้าที่ ให้การรักษาโควิดไม่มี นี่คือสิ่งที่ต้องไปหวดกัน อันนี้ต้องยอมรับพวกเราก็ไม่พอใจนะครับ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เฝ้าระวังตัวเอง ซึ่งเราควรจะเป็นบุคคลตัวอย่าง เราจะต้องเป็นคนที่ Alert ตลอดเวลา ว่าช่วงนี้มีสถานการณ์ระบาด โรคแบบนี้เราต้องเซฟตัวเองให้มากที่สุด"

ทำให้เกิดการกระแสถล่ม 'อนุทิน' ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย แฮชแท็ก #อนุทิน พุ่งทะยานในโลกทวิเตอร์

เป็นผลให้ 'อนุทิน' ต้องออกมาขอโทษโดยชี้แจงว่า "ผมเป็นห่วงพวกท่านทุกคน ถ้าผมสื่อสารไม่ดีต้องขออภัย เพราะความกดดันเยอะ จะพยายามปรับปรุงตัวเองให้ชัดเจน ขอให้ท่านมั่นใจว่า ผมเป็นห่วงพวกท่านทุกคน เอาชนะโรคโควิด-19 ไปด้วยกัน ผมเสียใจสิ่งที่สื่อสารไม่ผ่าน และจะปรับปรุงตัวขอให้โอกาสผม ไม่ได้มีเจตนาร้ายกับพวกท่านเลย"

อนุทิน

2 เม.ย. 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ภายในประเทศยังอยู่ในขั้นร้ายแรง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผอ.ศบค. แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) รณรงค์ให้ทุกคน 'อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ' พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการคุมเข้มโค วิด-19 โดยลดการสัญจรของประชาชนออกประกาศข้อกำหนดห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ตั้งแต่ 22.00 - 04.00 น. ทั่วราชอาณาจักร เว้นผู้มีเหตุจำเป็นหรือผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ เป็นต้น โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน ทำให้ทั่วไทยต้องจำเป็นล็อคดาวน์ และส่งผลกระทบต่อวิกฤตเศรษฐกิจปากท้องของคนหาเช้ากินค่ำในทุกสาขาอาชีพ

13 พ.ค. 2563 เป็นวันแรกหลังเกิดการแพร่ระบาดภายในประเทศอย่างหนัก โดยไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นวันแรก นับแต่วันที่ 9 มี.ค. 2563 (ผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 3,017 ราย รักษาตัว 117 ราย หายแล้ว 2,844 ราย เสียชีวิต 56 ราย)

นับจากนั้นมายอดผู้ป่วยในประเทศอยู่ในขั้นนิ่งมาโดยตลอดไม่ลุกลามเข้าขั้นวิกฤตเหมือนช่วง มี.ค. - เม.ย.

สถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศเริ่มส่งสัญญาณให้ภาครัฐต้องตั้งการ์ดให้สูงขึ้นอีกครั้ง

ปลายเดือน พ.ย. 2563 พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เดินทางข้ามจากประเทศเมียนมา ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2563 จนมียอดผู้ติดเชื้อจนถึงวันที่ 7 ธ.ค. 2563 รวม 38 ราย

อนุทิน โควิด กระทรวงสาธารณสุข โอภาส เกียรติภูมิ  8525933145459_n.jpg

โดยระหว่างนี้ 5 ธ.ค. 2563 'อนุทิน' เคยให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และมีการชุมนุมของม็อบในขณะนั้น ว่า "เวลานี้ความพร้อมของเรามีเต็มที่ อย่างไรก็สามารถควบคุมได้ อีก 6 เดือนก็มีวัคซีนออกมา จึงขอให้มั่นใจไม่จำเป็นต้องปิดจังหวัด เพราะโควิดกระจอก ถ้าเราเข้าใจและมีอาวุธพร้อม สามารถรับมือได้”

สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่เริ่มกำลังมาวิกฤตอีกครั้งในช่วงปลายปี

17 ธ.ค. 2563 สมุทรสาคร แถลงพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เป็นหญิงอายุ 67 ปี เจ้าของแพปลา ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร 

19 ธ.ค. 2563 สมุทรสาครและกรมควบคุมโรค แถลงยอดผู้ป่วย จากการตรวจคัดกรองในกลุ่มแรงงานต่างด้าว จำนวน 1,192 ราย พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 516 ราย คิดเป็นร้อยละ 43 ของผู้ที่ได้รับการตรวจทั้งหมด ทำให้ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อสะสมรวม 548 ราย

วีระศักดิ์ วิจิตรแสงศรี ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ย้ำว่า จำเป็นต้องยกระดับการควบคุมตั้งแต่ 19 ธ.ค. - 3 ม.ค. 2564 กำหนดพื้นที่ควบคุมโรคเด็ดขาด ปิดสถานที่ตลาดกลางกุ้ง หอพักศรีเมือง ห้ามเข้าออกพื้นที่โดยเด็ดขาด 

27 ธ.ค. 2563 อนุทิน ลงพื้นที่ ท่าเรือรับลม มหาชัย จ.สมุทรสาคร โชว์ลีลาการควงตาหลิวแบบพ่อครัวมืออาชีพ โดยยังรับประทานกุ้ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าอาหารทะเล จ.สมุทรสาคร สามารถกินได้้ดวยวิธีปรุงสุกและปลอดภัย 100 %

28 ธ.ค. 2563 วีระศักดิ์ ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ติดเชื้อโควิด-19 จากการทำงานอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ 'อนุทิน' ที่ลงพื้นที่ใกล้ชิดกับผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ต้องกักตัวใน 14 วันทันที แม้ผลการตรวจเชื้อจะออกมาเป็นลบก็ตาม

บทบาทของ 'อนุทิน' ในรอบปี 2563 จึงยังถูกมองว่า ตั้งการ์ดป้องกันโควิด-19 ได้ไม่สม่ำเสมอ และหลายครั้งตกเป็นเป้าโจมตีจากวาทะหลายเหตุการณ์ กลายเป็นกระแสมุมกลับให้สั่นคลอนศรัทธาของ 'อนุทิน' ในปีหนูที่เพิ่งผ่านพ้นไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง