ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสินเผยผลสำรวจ การใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเปิดเทอม ปี 2562 คาดเงินหมุนเวียนในตลาด 3.5 หมื่นล้าน ครัวเรือนใช้จ่ายเฉลี่ย 7,030 บาทลดลงจากปีก่อนร้อยละ 18 เน้นเลือกใช้ของเดิมที่มีอยู่

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน เผยผลสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเปิดเทอม ปี 2562 จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาททั่วประเทศจำนวน 2,186 ตัวอย่าง พบว่า ประชาชนฐานรากส่วนใหญ่ ร้อยละ 67.3 มีภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตร/หลาน 1 คน และอยู่ในระดับการศึกษาในชั้นประถมศึกษามากที่สุด 

โดยภาพรวมการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเปิดเทอมคาดว่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยประมาณ 34,970 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือน อยู่ที่ 7,030 บาท ปรับลดลงจากปีที่แล้ว เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างบางส่วนเลือกที่จะใช้สิ่งของเดิมที่มีอยู่แล้ว อาทิ ชุดนักเรียน อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนหนังสือเรียนจากโรงเรียน 

เมื่อสอบถามถึงการเตรียมตัวหรือการจัดการค่าใช้จ่ายของบุตร/หลานช่วงเปิดเทอมของประชาชนฐานราก พบว่า กลุ่มตัวอย่างได้มีการเตรียมตัวโดยการปรับลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต (ร้อยละ 69.4) เลือกซื้อสินค้าจากแหล่งที่ราคาถูกที่สุด (ร้อยละ 43.5) และหารายได้เสริม (ร้อยละ 38.5)

ส่วนแหล่งที่มาของเงินที่นำมาใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมปี 2562 พบว่า ส่วนใหญ่เกินครึ่งมาจากรายได้ (ร้อยละ 54.7) เงินจากคนในครอบครัว (ร้อยละ 24.4) เงินออม (ร้อยละ 10.2) เงินสวัสดิการจากภาครัฐ (ร้อยละ 5.8) และเงินกู้ยืม/จำนำ (ร้อยละ 4.9) ซึ่งมีทั้งเงินกู้นอกระบบและในระบบ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ต้องนำเงินที่ได้จากการเก็บออมมาใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปีก่อน นอกจากนี้การใช้เงินจากเงินกู้ก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โดยเป็นการกู้เงินจากนอกระบบมากกว่าในระบบ 

เมื่อสำรวจการใช้จ่ายด้านต่างๆ ในช่วงเปิดเทอม พบว่า กิจกรรมการใช้จ่าย 3 อันดับแรกที่กลุ่มตัวอย่างประชาชนฐานรากมีภาระที่ต้องรับผิดชอบ คือ

  • ชุดนักเรียน/เครื่องแต่งกาย ร้อยละ 75.1 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,575 บาท
  • ค่าเทอม/ค่าบำรุงการศึกษา ร้อยละ 56.1 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 5,470 บาท
  • ค่าอุปกรณ์การเรียน ร้อยละ 51.3 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 895 บาท

ทั้งนี้ เมื่อสอบถามเรื่องที่ ประชาชนฐานรากมีความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตร/หลาน พบว่า มีเพียงร้อยละ 29.1 ที่มีความกังวล โดย 3 อันดับแรก

  • ค่าเทอม/ค่าบำรุงการศึกษา ร้อยละ 61.5
  • ค่าชุดนักเรียน/เครื่องแต่งกาย ร้อยละ 47.0
  • ค่าหนังสือเรียน/ตำราเรียน ร้อยละ 23.3

สำหรับสิ่งที่ประชาชนฐานรากต้องการความช่วยเหลือ/สนับสนุน ในอนาคต พบว่า 3 อันดับแรก คือ

  • ทุนการศึกษา ร้อยละ 38.5
  • ค่าเทอม/ค่าบำรุงการศึกษา ร้อยละ 21.4
  • อาชีพที่รองรับเมื่อจบการศึกษา ร้อยละ 19.1 ซึ่งเป็นความต้องการที่คล้ายกับปีที่ผ่านมา

เมื่อสอบถามถึงปัจจัยสำคัญในการเลือกโรงเรียนให้กับบุตร/หลาน พบว่า ปัจจัยสำคัญ 3 อันดับแรกในการเลือกโรงเรียนให้บุตร/หลาน คือ 1) เลือกโรงเรียนที่มีนโยบายเรียนฟรี 2) เลือกการเดินทางสะดวก/ใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงานของผู้ปกครอง และ 3) เลือกเพราะมีค่าเทอม/ค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมาก 

ส่วนความคาดหวังทางการศึกษาของบุตร/หลาน พบว่า กลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมด ร้อยละ 99.4 มีความคาดหวัง 3 อันดับแรก คือ ต้องการให้บุตรหลานศึกษาต่อให้ถึงระดับสูงสุดเท่าที่จะทำได้ (ร้อยละ 54.8) รองลงมาคือ ศึกษาถึงระดับปริญญา (ร้อยละ 44.5) และศึกษาระดับอาชีวศึกษา (ปวช./ปวส.) (ร้อยละ 3.3)

ภาพรวมช่วงเปิดเทอม ปี 2562 ประชาชนฐานรากมีการใช้จ่ายลดลงจากปีก่อน โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยลดลงถึงร้อยละ 18 เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีความระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น เช่น เลือกที่จะใช้ สิ่งของเดิมที่มีอยู่แล้ว ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่คาดการณ์ว่าจะมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในช่วงเปิดเทอมปีนี้ ได้มีการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น อาทิ การปรับลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น เลือกซื้อสินค้าจากแหล่งที่ราคาถูกที่สุด และหารายได้เสริม

ส่วนเรื่องเป้าหมายทางการศึกษาพบว่าส่วนใหญ่ยังมุ่งเน้นไปในการศึกษาสายสามัญเพื่อมุ่งหวังปริญญามากกว่าการศึกษาในสายอาชีพ

นอกจากนี้ จากผลสำรวจพบว่าในปี 2562 ประชาชนฐานรากมีการใช้เงินกู้สำหรับการศึกษาของบุตร/หลานเพิ่มขึ้นจากปีก่อน และยังเป็นการกู้เงินจากนอกระบบมากกว่าในระบบ ดังนั้นการที่รัฐบาลออกมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ในช่วงเปิดเทอม 500 บาทต่อบุตร 1 คน ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ได้รับครั้งเดียวภายใน 15 พฤษภาคมนี้) จะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้มีรายได้น้อยได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :