ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน เผยผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างประชาชนฐานรากที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท มีเงินออมเพียง 32.2% ส่วนใหญ่ออมไว้เพื่อใช้ยามฉุกเฉิน/เจ็บป่วย และมีเพียง 1 ใน 4 ที่ออมเพื่อใช้ในยามเกษียณ ชี้อุปสรรคสำคัญคือไม่มีเงินเหลือพอที่จะเก็บออม

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน ทำการวิจัยและสำรวจพฤติกรรมการออมของประชาชนฐานราก จากการศึกษาพบว่าภาพรวมการออมของประเทศในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มีปริมาณการออมเบื้องต้นของประเทศอยู่ที่ 5.4 ล้านล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อน 12.9% โดยคิดเป็น 34.8% ของจีดีพี 

สำหรับการออมของประชาชนฐานรากจากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาททั่วประเทศจำนวน 2,150 ตัวอย่าง พบว่า ประชาชนฐานราก 32.2% มีเงินออม โดยส่วนใหญ่ 56.9% ของผู้ที่มีเงินออมออมแบบรายเดือนเฉลี่ย 1,500 บาทต่อเดือน โดยเป็นการออมเพื่อไว้ใช้ยามฉุกเฉิน/เจ็บป่วย 71.7% สำรองไว้ใช้ 67.0% และเป็นทุนประกอบอาชีพ 39.3% เป็นที่น่าสังเกตว่าประชาชนฐานรากที่ออมเพื่อใช้ยามเกษียณมีเพียง 23.5%

ทั้งนี้ พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีการออมหรือการลงทุน 3 อันดับแรก คือ ฝากไว้กับธนาคาร 80.3 % เก็บไว้ที่บ้าน/ครัวเรือน 22.9% และ เล่นแชร์ 8.5% โดยพบว่าอุปสรรคสำคัญที่ไม่สามารถ ออมเงินได้ คือ ไม่มีเงินเหลือไว้ออม 52.3% มีเหตุจำเป็นต้องใช้เงิน 24.2% และมีภาระหนี้สิน 18.6%

นอกจากนี้ ยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 92.3% คิดว่าการเปิดบัญชีเงินฝากพื้นฐานเป็นเรื่องที่ดีเพราะไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้า/รายปีของการใช้บัตรเอทีเอ็มช่วยเหลือผู้สูงอายุให้มีเงินออม และไม่กำหนดเงินฝากขั้นต่ำ ขณะที่กลุ่มตัวอย่าง7.7% เห็นว่าไม่ควรกำหนดเรื่องเกณฑ์อายุ เกณฑ์รายได้ และควรจ่ายดอกเบี้ยพิเศษกว่าปกติ เป็นต้น


“อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ประชาชนฐานรากไม่สามารถเก็บออมได้ คือไม่มีเงินเหลือพอที่จะเก็บออม ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลได้พยายามหาทางแก้ไข และสร้างให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงาน และสถาบันต่างๆ อาทิ กองทุนการออมแห่งชาติ และการเปิดบัญชีเงินฝากพื้นฐานสำหรับผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”นายชาติชายกล่าว


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :