ไม่พบผลการค้นหา
รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ยอมรับกรรมการสรรหาตรวจพบคุณสมบัติ ส.ว.ถือหุ้นสื่อ โยนศาล รธน.วินิจฉัยความผิด เชื่อไม่กระทบการทำงานในสภา ปัดออกแสดงความเห็นหากถูกวิจารณ์ยืนยันในความบริสุทธิ์

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณียื่นตรวจสอบคุณสมบัติสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ในการถือหุ้นสื่อ ว่าจะเหมือนกับกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส.ที่มีการยื่นตรวจสอบกันไปมาอยู่ อย่างเช่น กรณี 41 ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลกับฝ่ายหนึ่งที่ยื่นตรวจสอบพรรคฝ่ายค้าน หากมีข้อสงสัยก็สามารถยื่นตรวจสอบได้ที่ประธานรัฐสภา ก่อนจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาซึ่งจะกระทบกับการทำงานหรือไม่ว่า ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของศาล ว่าจะให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เพราะมันมีเกณฑ์การพิจารณาอยู่แล้ว ไม่สามารถตอบแทนศาลได้ 

โดยหากมีข้อสงสัยก็มีขั้นตอนการร้องเรียน คือ 1. ยื่นให้ตรวจสอบ 2. ยื่นผ่านประธานรัฐสภา 3. ประธานรัฐสภาจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา และ 4. ศาลวินิจฉัย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ถูกต้อง โดยส่วนตัวไม่ขอวิจารณ์เรื่องนี้ ส่วนแสดงความกังวล หลังจากมีการยื่นตรวจสอบ คุณสมบัติข้อนี้ ซึ่งมีจำนวนสมาชิกทั้ง ส.ส. และ ส.ว. เข้าข่ายถือหุ้นสื่อ เกือบครึ่งสภานั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่ดุลยพินิจของศาล เช่นเดียวกับกรณีของศาลปกครอง จะคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่อยู่ในหลักเกณฑ์เดียวกัน หากสมาชิกในสภาหาย 100 คน ตามกฎหมายแล้วสามารถทำงานต่อในสภาได้ แม้จำนวนสมาชิกจะลดลง หลังถูกวินิจฉัยในเรื่องนี้ ส่วนตัวมองว่าไม่กระทบกับองค์ประชุมในการพิจารณาเรื่องต่างๆ

นายวิษณุ กล่าวถึงความบกพร่องในขั้นตอนการสรรหา ส.ว.ว่า คณะกรรมการตรวจพบรายชื่อบุคคลที่เข้าข่ายถือหุ้นสื่อ อยู่แล้วแต่ศาลยังไม่ได้วินิจฉัย ว่าถือในลักษณะใด หรือตามกฎหมายเอง ก็ไม่ได้ระบุว่าถือในลักษณะไหน ยังดำเนินกิจการอยู่หรือไม่ แต่ยืนยันว่า หากตรวจสอบพบว่าเป็นบุคคลที่ถือหุ้นสื่อ อย่างเช่น ประกอบกิจการธุรกิจสื่อ หนังสือพิมพ์ ที่จัดจำหน่ายรายวัน รายสัปดาห์ โดยมีราคาซื้อขาย ก็เข้าขาดคุณสมบัติต้องห้าม

แต่เบื้องต้นก็มีรายชื่อ ส.ว.สำรองไว้รองรับอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรจึงได้แต่งตั้ง เพราะมองว่ามีคุณสมบัติต้องห้ามอย่างอื่นที่พึงระวังมากกว่านี้ ยืนยันว่า คุณสมบัติการถือหุ้นสื่อของ ส.ว. มีลักษณะเดียวกับ ส.ส. แต่ กกต .ก็ไม่กล้าวินิจฉัย ยังไม่ชี้หรือระบุว่ามีความผิดเพียงรอให้มีผู้ร้องเรียน และให้ศาลได้วินิจฉัย เรื่องดังกล่าวก่อน แต่ส่วนตัวไม่ทราบว่า คำจำกัดความ คุณสมบัติต้องห้ามการหุ้นสื่อของ ส.ว.หมายถึงอะไร หรือ ครอบคลุมถึงไหน โดยยืนยันถึงความบริสุทธิ์ผุดผ่องในการแต่งตั้ง ส่วนคำวินิจฉัยของศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิผู้สมัคร ส.ส.เนื่องจากถือหุ้นสื่อบางรายก่อนหน้านี้นั้น ไม่ได้เป็นบรรทัดฐานให้กับบุคคลอื่น เพราะต้อง ตรวจสอบรายบุคคลอีกครั้ง ไม่เหมือนกับ การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่ามีผลผูกมัดกับบุคคลนั้น