ไม่พบผลการค้นหา
ประธาน นปช. วิเคราะห์ พปชร.ขัดแย้ง ตอกย้ำสัจธรรมการเมืองไทย “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” ยังใช้กับนักการเมืองได้ทุกยุค พร้อมให้จับตาการปรับ ครม. จะมีแรงกระเพื่อมไปถึงพรรคร่วมรัฐบาล

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ รายการ PEACETALK วิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะลุกลามให้เกิดการเปลี่ยนทางการเมืองวงกว้างขึ้น ทั้งในพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน ตามสัจธรรมที่ว่า “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร”

โดยนายจตุพร กล่าวว่า ถ้อยคำ “ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร” นั้น เป็นสัจธรรมการเมืองไทย และบางคนถึงพูดประชดว่า อย่าหาเพื่อนแท้เลย จะหาเพื่อนกินยังลำบาก เนื่องจากห้วงเวลาทางการเมืองนั้นเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ตลอดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2475 มาจนถึงขณะนี้ คำว่าไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร เป็นความจริงอย่างยิ่ง เพราะมีหลายตัวอย่าง เช่น กรณีจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ประกาศสัจจะวาจาทหารจะไม่วัดรอยเท้า แต่พอได้เวลาก็ยึดอำนาจจากจอมพล ป.

เมื่อมาถึงการเมืองสมัยนี้ แม้มีนักการเมืองน้อยมากที่ผูกขาดเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ส.ส.ล้วนเวียนวนเข้า-ออกพรรคต่างๆกันเสมอ ดังนั้นการวิเคราะห์การเมืองไทยต้องมองเป็นตอนๆ กับสถานการณ์หนึ่งๆเท่านั้น ส่วนสิ่งที่เกิดกับ พปชร. เคยเกิดกันมาหลายพรรคมาแล้ว เมื่อกรรมการบริหารลาออก 18 คน และเกินครึ่ง จึงต้องมีการเลือก กก.บห.ชุดใหม่มาแทนใน 45 วัน แต่เหตุการณ์นี้มีการวิเคราะห์กันว่า หัวหน้าพรรคคนต่อไปคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์

นายจตุพร กล่าวว่า ส่วนรัฐมนตรี 4 กุมาร กับหนึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ นั้น เมื่อถึงเวลาต้องมีอันเป็นไป เนื่องจากทั้ง 4 กุมาร คือ นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เป็นหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เลขาธิการพรรค นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษาฯ รองหัวหน้าพรรค อีกทั้งนายสมคิด หัวหน้าใหญ่ของกลุ่ม ซึ่งทุกคนมีตำแหน่งมากกว่าทุกกลุ่มทั้งใน พปชร.และคุมกระทรวงใหญ่

อย่างไรก็ตาม ในทางการเมืองสามารถมองเห็นเวลาต้องเบื่ออยู่เช่นกัน แต่สิ่งน่าคิดคือ นายสมคิดกับอีก 3 หรือ 4 กุมารนั้นจะมีอาการเลือดสุพรรณ คือ มาด้วยกันและไปด้วยกันหรือไม่ เพราะการเมืองมาถึงช่วงของอำนาจและผลประโยชน์กันแล้ว

“ความจริง พล.อ.ประวิตร เป็นผู้ทรงอำนาจทั้งใน ครม.และในพรรค ดังนั้น การบริหารจัดการอำนาจในตำแหน่งรัฐมนตรีที่มีจำกัดนั้น เมื่อ 4 กุมาร ซึ่งมีภาระรับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ ถ้ามีการเปลี่ยนผู้เล่นอาจสร้างความหวังให้ประชาชนอีกสักระยะหนึ่งก็ได้ เพราะเป็นสิ่งใหม่ ต้องรอการพิสูจน์อีกที”

นายจตุพร กล่าวว่า นายสมคิด ผ่านการเมืองมากกว่า 3 กุมาร เป็นมือทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ยุค ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ยังเกี่ยวข้องกับการเมืองหลายพรรค เมื่อครั้งยึดอำนาจปี 2549 ได้เข้าไปอยู่วงในด้านเศรษฐกิจ แต่ถูกแรงต้าน ทำให้ภาพทางการเมืองจึงไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อ คสช.ยึดอำนาจปี 2557 ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯ ได้เป็นมือเศรษฐกิจ แล้วต่อเปลี่ยนมาเป็นนายสมคิด

อย่างไรก็ตาม 3 ป. แห่งบูรพาพยัคฆ์ ร่วมชีวิตกันมาค่อนชีวิต ใครคิดว่าจะมีปัญหากันนั้น ตนคิดว่าเป็นสิ่งที่ผิดอย่างมาก การยึดอำนาจเมื่อ 2557 เป็นการศึกษาทำไม่ให้เสียของจากทุกคณะรัฐประหารมาหมด ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงใน พปชร.จะสร้างความแตกแยกใน 3 ป นั้น อาจจะผิด เพราะทหารเขาไม่ขัดแย้งกัน

การเปลี่ยนแปลงทั้งใน พปชร.กับ ครม.จะเกิดขึ้นโดยเร็ว ดังนั้นเกมของ พปชร.จะเกี่ยวข้องกับตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ใครจะเข้าไปเป็นรัฐมนตรีน่าสนใจอย่างยิ่ง รวมถึงการปรับ ครม.ของพรรคการเมืองอื่นด้วย เข้าใจกันว่า การปรับ ครม.คราวนี้คงทำในคราวเดียวกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีคงต้องสอบถามไปยังพรรคร่วมรัฐบาลว่า จะมีพรรคใดปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีกันบ้าง และแรงกระเพื่อมนี้ไม่ได้อยู่เฉพาะ พปชร.เท่านั้น แต่จะลามไปยังพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ต้องเกิดความขัดแย้งกัน ส่วนพรรคภูมิใจไทยมีอาการน้อยมาก

สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นั้น ภายในจะเกิดความขัดแย้งกันขึ้น เพราะสะสมปัญหาจากคนที่เป็นรัฐมนตรีกับคนไม่ได้เป็นรัฐมนตรี และระหว่างฝ่ายอดีตหัวหน้าพรรคกับหัวหน้าพรรคคนปัจจุบันกันไว้ โดยคนได้เป็นรัฐมนตรีก็ไม่อยากออก คนที่จ่อรัฐมนตรีย่อมเคลื่อนบทบาท จนจะทำให้เกิดการเกลี่ยกันใหม่ เพื่อรองรับโอกาสทางการเมือง แล้วผลตามมาจะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองกันอีกพักหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม