ไม่พบผลการค้นหา
ขีปนาวุธนิวเคลียร์ รัฐบาลใช้ความรุนแรง ไปจนถึงนโยบายแตกหักไม่สนใครหน้าไหน หรือปี 2017 จะยิ่งย้ำชัดว่า มนุษย์โลกคงอยู่ร่วมกันอย่างสันติไม่ได้อีกต่อไป?

ปี 2017 เป็นปีที่เต็มไปด้วยเรื่องอื้อฉาวมากมาย ตั้งแต่เรื่องการเมือง สิทธิมนุษยชน ไปจนถึงการก่อการร้าย ทำให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในทุกมุมโลก โดยเฉพาะการดำรงตำแห่งประธานาธิบดีสหรัฐฯของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งทำให้โลกต้องรับมือกับหลายนโยบายที่เกินความคาดหมาย และส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อนานาประเทศ


1. การขึ้นสู่ตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์ 20 ม.ค.

โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะเหนือฮิลลารี คลินตัน ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2016 และขึ้นดำรงตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2017 ท่ามกลางการประท้วงของคนทั่วโลก โดยเฉพาะขบวนการ Women's March ของผู้หญิงทั่วทุกมุมโลก

โดนัลด์ ทรัมป์

หลังจากนั้นเขาออกนโยบายที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักหลายประการ ตั้งแต่การออกจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ภายใน 2 วันหลังเป็นประธานาธิบดี ต่อด้วยการออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก และประกาศสร้างกำแพงกั้นพรมแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก 

และที่ร้ายแรงที่สุดก็คือการออกนโยบายแบนพลเมือง 6 ชาติมุสลิมเข้าสหรัฐฯ ซึ่งทำให้เกิดการประท้วงกว้างขวางทั่วประเทศ และศาลสหพันธรัฐต้องออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวบรรดาผู้อพยพ แต่สุดท้าย ในเดือนธันวาคม ศาลสูงสุดสหรัฐฯก็ตัดสินว่าคำสั่งของทรัมป์ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทำให้การแบนพลเมือง 6 ชาติมุสลิม และ 2 ชาติที่ไม่ใช่มุสลิม ได้แก่ซูดาน ซีเรีย อิหร่าน ลิเบีย โซมาเลีย เยเมน กับเวเนซุเอลาและเกาหลีเหนือ มีผลอย่างเป็นทางการ โดยมีข้อยกเว้นเพียงผู้มีญาติใกล้ชิดในสหรัฐฯ และผู้ถือสองสัญชาติ รวมถึงผู้ได้กรีนการ์ดแล้วเท่านั้น

Travel Ban.jpg


2. ก่อการร้าย 5 ครั้งในอังกฤษ

หลังจากปีที่ผ่านมา ประเทศในยุโรปภาคพื้นทวีปต่างเจอเหตุก่อการร้าย ไม่ว่าจะเป็นฝรั่งเศสหรือเยอรมนี ปี 2017 ก็ถึงคิวของอังกฤษ พันธมิตรที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯในการปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย IS ในตะวันออกกลาง 1 ปีที่ผ่านมาอังกฤษเจอการก่อการร้ายใหญ่ๆไปถึง 5 ครั้ง 

Britain Attack_truck.jpg

- 22 มีนาคม เหตุขับรถชนคนและไล่แทงบนสะพานเวสต์มินสเตอร์และหน้ารัฐสภาอังกฤษ คาลิด มาซูด ขับรถพุ่งชนคนเสียชีวิต 4 ราย และลงจากรถมาแทงตำรวจเสียชีวิต 1 นาย มีผู้บาดเจ็บอีก 50 คน ก่อนจะถูกวิสามัญในที่เกิดเหตุ เขาเป็นชายมุสลิมชาวอังกฤษวัย 52 ปี ตำรวจยืนยันว่าเขาก่อการเพียงคนเดียว แต่อาจได้แรงบันดาลใจจาก IS 

- 22 พฤษภาคม เหตุระเบิดในคอนเสิร์ตอาริอานา กรานเด นักร้องดังชาวอเมริกัน ที่เมืองแมนเชสเตอร์ นายซัลมาน อาเบดี ชายชาวอังกฤษเชื้อสายลิเบียวัย 22 ปี นำเป้ใส่ระเบิดไปวางที่หน้าทางเข้าคอนเสิร์ต ทำให้มีผู้เสียชีวิต 22 รายรวมถึงเด็ก อาเบดีเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และกลุ่ม IS อ้างว่าอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดพลีชีพครั้งนี้ 

Manchester.jpg

- 3 มิถุนายน เหตุขับรถชนที่ลอนดอนบริดจ์และไล่แทงตลาดโบโร ชาย 3 คนขับรถตู้พุ่งชนคนบนลอนดอนบริดจ์และลงจากรถมาไล่แทงคนในบาร์ที่ตลาดโบโร ตลาดเก่าแก่ที่สุดของกรุงลอนดอน มีผู้เสียชีวิต 8 รายและบาดเจ็บอีก 40 คน ขณะที่ชายผู้ก่อเหตุทั้งหมดถูกวิสามัญในที่เกิดเหตุ กลุ่ม IS ออกมาอ้างว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตี แต่ไม่มีหลักฐานว่าผู้ก่อเหตุกลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับ IS จริงหรือไม่

- 19 มิถุนายน เหตุขับรถพุ่งชนคนหน้ามัสยิดในย่านฟินสเบอรีพาร์ค ลอนดอน นายแดเรน ออสบอร์น ชายชาวเวลส์ ขับรถตู้พุ่งชนชาวมุสลิมที่อยู่หน้ามัสยิดหลังจากเพิ่งเสร็จจากการละหมาดรอบดึกในช่วงเดือนรอมฎอน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 11 คน ออสบอร์นถูกจับกุมและโดนข้อหาฆาตกรรมรวมถึงก่อการร้าย โดยเขาตะโกนในระหว่างก่อเหตุว่าทำไปเพื่อแก้แค้นเหตุก่อการร้ายลอนดอนบริดจ์ 

- 15 กันยายน เหตุระเบิดรถไฟใต้ดินลอนดอน มีผู้นำระเบิดแสวงเครื่องไปวางในรถไฟใต้ดิน และเกิดระเบิดที่สถานีพาร์สันส์ กรีน กลางลอนดอน ในช่วงเวลาเร่งด่วนประมาณ 8.20 น. ทำให้มีผู้บาดเจ็บกว่า 25 คน แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต เนื่องจากแม้จะเบิดจะมีขนาดใหญ่ แต่ระเบิดขัดข้องทำให้ทำงานไม่สมบูรณ์ เหตุการณ์นี้ยังไม่สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้แม้แต่รายเดียว โดยเจ้าหน้าที่ยืนยันว่ากำลังสอบสวนขยายผล


3. วิกฤตโรฮิงญา 25 ส.ค. 

นับตั้งแต่กลุ่ม ARSA หรือกองกำลังกู้ชาติโรฮิงญาอาระกัน โจมตีเจ้าหน้าที่เมียนมาระลอกใหญ่ในวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดการกวาดล้างครั้งใหญ่ในยะไข่ โดยกองทัพเมียนมาอ้างว่าเป็นปฏิบัติการปราบปรามการก่อการร้าย

หมู่บ้านโรฮิงญา เผา

ภายในเวลา 4 เดือน หน่วยแพทย์ไร้พรมแดนรายงานว่ามีชาวโรฮิงญาถูกสังหารกว่า 6,700 ราย และมีผู้อพยพออกจากยะไข่ไปยังบังกลาเทศกว่า 640,000 คน กลายเป็นวิกฤตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ใหญ่ที่สุดในโลกของปีนี้ และเป็นคลื่นผู้ลี้ภัยลูกใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่การไหลบ่าของผู้ลี้ภัยซีเรียเข้ายุโรปในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 

รัฐบาลเมียนมาถูกกดดันจากนานาชาติให้แก้ปัญหาความรุนแรงในยะไข่ โดยสหประชาชาติและสหรัฐฯเห็นพ้องต้องกันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในยะไข่เป็นการจงใจลบล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา แต่นางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมายืนยันว่ารัฐบาลจำเป็นต้องปราบปรามกลุ่มก่อการร้าย และสิ่งที่เกิดขึ้น ต้นเหตุมาจากกลุ่ม ARSA โจมตีเจ้าหน้าที่ก่อน

โรฮิงญา

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายเธอก็ได้ตกลงกับรัฐบาลบังกลาเทศ เริ่มกระบวนการพิสูจน์สัญชาติและส่งชาวโรฮิงญากลับประเทศ 

แต่นานาชาติยังกังวลว่ากระบวนการพิสูจน์สัญชาติจะทำได้อย่างไร เนื่องจากชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำบัตรประชาชน และเอกสารสำคัญทั้งหมดมักถูกเผาทำลาย หรือทิ้งไว้ที่บ้านในระหว่างที่หลบหนีไปบังกลาเทศ นอกจากนี้รัฐบาลเมียนมายังไม่สามารถการันตีความปลอดภัยให้กับผู้ที่จะถูกส่งกลับได้ เนื่องจากความรุนแรงในพื้นที่ยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน

โรฮิงญา


4. ประชามติกาตาลูญญา 1 ต.ค.

กระแสเรียกร้องเอกราชกาตาลูญญาซึ่งมีมานานหลายสิบปี เข้มข้นขึ้นในปีนี้จากแรงหนุนในการประชามติ Brexit ปี 2016 และการประชามติเอกราชสกอตแลนด์เมื่อปี 2014 ทำให้ในที่สุด รัฐบาลกาตาลูญญาเดินหน้าจัดประชามติในวันที่ 1 ตุลาคม แม้ศาลรัฐธรรมนูญและรัฐบาลสเปนจะยืนยันว่าการกระทำดังกล่าวผิดกฎหมาย 

04 Catalonia (1).jpg

ในวันประชามติ ตำรวจสเปนถูกส่งมาจากส่วนกลาง ทำหน้าที่ปิดคูหา ยึดอุปกรณ์ลงคะแนน ตั้งข้อหานักการเมืองท้องถิ่นว่าใช้งบประมาณในทางมิชอบ และขัดขวางประชาชนที่จะไปลงประชามติทุกวิถีทาง ทำให้มีผู้ลงประชามติเพียงร้อยละ 42 แต่ผลออกมาว่าคนกาตาลันร้อยละ 90 ต้องการเอกราชจากสเปน รัฐบาลกาตาลูญญายังไม่ได้ประกาศเอกราชทันที แต่รอการเจรจากับรัฐบาลกลางอยู่หลายสัปดาห์ แต่ในที่สุด เมื่อรัฐบาลสเปนไม่ยอมอ่อนข้อ รัฐสภากาตาลูญญาก็ประกาศเอกราชในวันที่ 27 ตุลาคม ทำให้รัฐบาลกลางตอบโต้ด้วยการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญสั่งยุบสภาและปลดคณะรัฐมนตรีกาตาลูญญา ริบอำนาจการปกครองตนเองชั่วคราว และเข้าควบคุมแคว้นกาตาลูญญาอย่างเบ็ดเสร็จ 

นายการ์ลัส ปุดจ์ดาโมน ประธานาธิบดีกาตาลูญญา และบุคคลในรัฐบาลอีกหลายคน รวมถึงประธานสภากาตาลูญญา ถูกออกหมายจับ นายปุดจ์ดาโมนหลบหนีไปยังเบลเยียม แต่สุดท้ายก็ยืนยันว่าจะเข้ามอบตัวสู้คดี ส่วนรัฐบาลสเปนจัดการเลือกตั้งใหม่ในกาตาลูญญาในวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา ตั้งรัฐบาลใหม่ ถือเป็นการดับฝันเอกราชอย่างเป็นทางการ 


5. แฉพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศของฮาร์วี ไวน์สตีน

ฮาร์วี ไวน์สตีน โปรดิวเซอร์หนังคนดังของฮอลลีวูด ถูกเปิดโปงเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศนักแสดงหลายคน รวมถึงคนดังระดับเอลิสต์อย่างแองเจลินา โจลี และกวินเน็ธ พัลโทรว์ และล่าสุด ผู้ที่ออกมาเปิดเผยว่าเป็นเหยื่อของเขาเช่นกัน ก็คือซัลมา ฮาเย็ค นักแสดงเชื้อสายเม็กซิกัน 

05 Harvey Weinstein (2).jpg

ผู้ออกมาเปิดโปงเจ้าพ่อฮอลลีวูดอย่างไวน์สตีนคนแรกผ่านหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส คือโรส แม็คโกแวน และแอชลีย์ จัดจ์ โดยผู้ที่เคยถูกไวน์สตีนล่วงละเมิดทางเพศให้การตรงกันว่าเขามักขอให้เหล่านักแสดงมีเพศสัมพันธ์ด้วย นวดให้ หรือดูเขาเปลือยร่าง แลกกับคำมั่นสัญญาว่าจะช่วยผลักดันให้พวกเธอโด่งดัง หรือได้รับบทบาทในโปรเจ็คของตนเอง 

ฮาเย็ค ซึ่งเป็นนักแสดงคนล่าสุดที่เปิดเผยเรื่องที่เธอถูกคุกคามทางเพศโดยไวน์สตีน บอกว่าเขาเป็น "ปีศาจ" สำหรับเธอ และเคยขู่ฆ่าเธอเมื่อโดนเธอปฏิเสธไม่ยอมมีเพศสัมพันธ์ด้วย รวมถึงยอมรับว่าถูกบังคับให้เล่นบทเลิฟซีนเปลือยร่างทั้งตัวในหนัง "ฟรีดา" เพราะโดนไวน์สตีนขู่ ว่าจะล้มเลิกโปรเจ็คหนังหากเธอไม่ยอมเล่น

05 Harvey Weinstein (1).jpg

การเปิดโปงไวน์สตีนทำให้เกิดกระแสผลักดันให้ผู้เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ออกมาเปิดเผยตัวและสะท้อนปัญหานี้ทั่วโลก ผ่านแฮชแท็ก #metoo และเหล่า "ผู้ทำลายความเงียบ" หรือ "silence breaker" หรือผู้ที่กล้าลุกขึ้นมาเปิดเผยการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ก็ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลแห่งปีของนิตยสารไทม์ประจำปี 2017


6. คิมจองอึนทดสอบขีปนาวุธครั้งใหญ่ที่สุด 29 พ.ย.

ปี 2017 เป็นหนึ่งในปีที่สถานการณ์คาบสมุทรเกาหลีตึงเครียดที่สุด รับการขึ้นสู่ตำแหน่งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธถึง 16 ครั้ง มากเป็นประวัติการณ์ และมีถึง 2 ครั้งที่ขีปนาวุธไม่ได้ตกลงในบริเวณน่านน้ำเกาหลีหรือแค่ทะเลญี่ปุ่น แต่ถูกยิงข้ามมายังฮอกไกโด ซึ่งหมายถึงความก้าวหน้าของระบบส่งขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ รวมถึงท่าทีคุกคามที่แข็งกร้าวขึ้นของคิมจองอึน เนื่องจากในรอบ 19 ปีที่ผ่านมา มีเพียง 6 ครั้งเท่านั้นที่เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธข้ามน่านฟ้าญี่ปุ่น

06 North Korea (2).jpg

การที่เกาหลีเหนือตัดสินใจยิงขีปนาวุธไปยังญี่ปุ่นถึง 2 ครั้งในปีนี้ ส่อนัยว่าหากเกาหลีเหนือจะโจมตีชาติใด ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นญี่ปุ่น เพราะสหรัฐฯเป็นเป้าที่ไกลและเสี่ยงถูกตอบโต้อย่างหนัก ส่วนเกาหลีใต้เป็นคนเชื้อชาติเดียวกัน การโจมตีเกาหลีใต้อาจไม่มีความชอบธรรมเท่าศัตรูทางประวัติศาสตร์อย่างญี่ปุ่น

นอกจากความถี่ในการทดสอบขีปนาวุธ เกาหลีเหนือยังมีความก้าวหน้าอย่างชัดเจนในด้านศักยภาพการพัฒนาขีปนาวุธนิวเคลียร์ การทดสอบครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในการส่งขีปนาวุธข้ามทวีป ฮวาซง-15 ขึ้นสู่ชั้นบรยากาศ เป็นการส่งขีปนาวุธที่ทรงอานุภาพสูงสุดเท่าที่เคยมีการทำมา และทำให้นักวิเคราะห์ยอมรับว่าขณะนี้เกาหลีเหนือได้ก้าวขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์อย่างเต็มตัว และมีศักยภาพในการยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ถึงเกือบทุกพื้นที่ในโลก รวมถึงสหรัฐฯ 

06 North Korea (3).jpg

อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางอาวุธไม่ได้หมายถึงเกาหลีเหนือพร้อมเข้าสู่สงคราม ในทางตรงกันข้าม ความสำเร็จดังกล่าวทำให้เกาหลีเหนือมีแต้มต่อสำคัญเพียงพอในการเริ่มต้นการเจรจาอีกครั้ง หลังการทดสอบฮวาซง-15 ไม่กี่สัปดาห์ นายเจฟฟรีย์ เฟลท์แมน รองเลขาธิการสหประชาชาติฝ่ายการเมือง ซึ่งเป็นชาวอเมริกัน เดินทางเยือนเกาหลีเหนือ คาดว่าเพื่อเปิดช่องทางการเจรจา ส่วนรัสเซียก็นำสาสน์จากเกาหลีเหนือมาบอกสหรัฐฯเช่นกันว่าเกาหลีเหนือพร้อมเจรจากับสหรัฐฯ ทำให้ล่าสุด นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยอมรับว่าพร้อมเจรจากับเกาหลีเหนือแบบไม่มีเงื่อนไข แม้ทำเนียบขาวจะยังแสดงท่าทีขัดแย้งกับทิลเลอร์สัน โดยบอกว่าเกาหลีเหนือต้องระงับโครงการนิวเคลียร์ก่อนเท่านั้น ทำให้ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไปในปี 2018 ว่าการเจรจาจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ และใครจะเป็นคนกลาง 

06 North Korea (1).jpg


7. ทรัมป์รับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอล 6 ธ.ค.

ปัญหาความรุนแรงในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ถูกปัญหา IS แซงหน้าอยู่หลายปี จนกระทั่งปีนี้ เมื่อมีการประกาศชัยชนะเหนือ IS ทั้งในอิรักและซีเรียช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ก็กลับปรากฏว่าปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ปะทุขึ้นมาอีกครั้งพอดี โดยปมเหตุครั้งนี้เกิดจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้ระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง ก็คือการย้ายสถานทูตสหรัฐฯประจำอิสราเอลไปยังเยรูซาเลม เมืองที่อิสราเอลประกาศให้เป็นเมืองหลวงแทนกรุงเทลอาวีฟตั้งแต่ปี 1980 แต่ไม่มีใครยอมรับ เนื่องจากปาเลสไตน์ต้องการให้เยรูซาเลมตะวันออกเป็นเมืองหลวงของตนเองเช่นเดียวกัน 

เยรูซาเลม.jpg

การย้ายสถานทูตเป็นไปตามกฎหมายสหรัฐฯที่ต้องตั้งสถานทูตในเมืองหลวงของแต่ละประเทศเท่านั้น แต่สำหรับกรณีนี้ มีความอ่อนไหวทางการเมืองสูง เนื่องจากหากสหรัฐฯย้ายสถานทูตไปเยรูซาเลม ก็เท่ากับรับรองอธิปไตยของอิสราเอลเหนือเยรูซาเลม ทำให้จุดยืนของสหรัฐฯในการแก้ปัญหาความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ด้วยหลัก "2 รัฐ" หรือการอยู่ร่วมกันระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ต้องเสียความเป็นกลางไป รัฐบาลสหรัฐฯจึงชะลอการตัดสินใจดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 1995 ด้วยการออกคำสั่งเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการตั้งสถานทูตในกรณีนี้ และต่ออายุคำสั่งทุก 6 เดือน จนกระทั่งวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา คำสั่งหมดอายุลงโดยนายทรัมป์ไม่สั่งต่ออายุ และในวันที่ 6 ธันวาคม เขาก็ประกาศย้ายสถานทูตและรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลอย่างเป็นทางการ

เยรูซาเล็ม.jpg

การตัดสินใจดังกล่าวสร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก เกิดการประท้วงใหญ่ในกาซาและเวสต์แบงค์ ผู้ประท้วงชาวปาเลสไตน์ถูกจับกุมและเสียชีวิต กองทัพอิสราเอลสั่งทิ้งระเบิดโจมตีกาซาอีกครั้ง ขณะที่ประเทศมุสลิม แม้แต่พันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯอย่างซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และตุรกี ต่างออกโรงต่อต้านการตัดสินใจของสหรัฐฯอย่างเต็มกำลัง นายมาห์มูด อับบาส ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ ประกาศว่านับจากนี้ สหรัฐฯไม่อยู่ในสถานะตัวกลางไกลเกลี่ยความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์อีกต่อไป วิกฤตนี้จะยืดเยื้อไปจนถึงปี 2018 อย่างแน่นอน จนกว่าทรัมป์จะแก้ปัญหาด้วยการประกาศรับรองให้เยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของปาเลสไตน์ด้วย เพื่อความเท่าเทียม ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่นักวิเคราะห์มองว่าจะช่วยคลี่คลายข้อขัดแย้งครั้งนี้ได้

Trump Jerusalem_Rata.jpg