แอ็บบี ฮันต์สแมน หนึ่งในพิธีกรรายการ Fox & Friends กล่าวขออภัยทั้งในรายการและผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัว เมื่อวานนี้ (10 มิ.ย.) หลังจากที่เธอรายงานว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดินทางถึงสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ และเตรียมตัวพบกับคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ ที่โรงแรมแชงกรี-ลาของสิงคโปร์ในวันที่ 12 มิ.ย. ที่จะถึง พร้อมระบุว่าเป็นการพบกันครั้งประวัติศาสตร์ระหว่าง 'สองผู้นำเผด็จการ' ซึ่งแอนโทนี สการามุชชี พิธีกรชายอีกคนหนึ่ง ไม่ได้ทักท้วงแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม เดอะการ์เดียนรายงานว่า ฮันต์สแมนได้กล่าวขอโทษผู้ชมในช่วงท้ายรายการ และย้ำว่าการเรียกทรัมป์และคิมเป็น 2 ผู้นำเผด็จการ คือความผิดพลาดที่ไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้หมายความว่าทรัมป์เป็นผู้นำเผด็จการ
นอกจากนี้ เธอยังทวีตขอโทษผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว โดยระบุว่า คนเราต้องเคยพลาดกันบ้าง และควรสนใจการประชุมครั้งนี้ในประเด็นที่สำคัญกว่าการพูดผิดจะดีกว่า
ทั้งนี้ แอ็บบี ฮันต์สแมน เป็นลูกสาวของจอน ฮันต์สแมน เอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ประจำรัสเซีย และอดีตผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรครีพับลิกันเพื่อเลือกตั้งประธานาธิบดี ขณะที่ฟ็อกซ์นิวส์เป็นสื่อที่สนับสนุนพรรครีพับลิกันและแนวคิดอนุรักษ์นิยม ซึ่งที่ผ่านมามีจุดยืนสนับสนุนทรัมป์
คนอเมริกัน-คนญี่ปุ่น มองการประชุม 'ทรัมป์-คิม' ต่างกัน
เว็บไซต์เดอะโพลิทิโค เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นชาวอเมริกันและชาวญี่ปุ่นที่มีต่อการประชุมระหว่างทรัมป์และคิมที่สิงคโปร์ จัดทำโดยมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์และบริษัทนีลเซน สการ์โบโรห์ ซึ่งสอบถามความคิดเห็นชาวอเมริกัน 1,215 คน และชาวญี่ปุ่น 1,000 คน ช่วงวันที่ 18 พ.ค.-3 มิ.ย. ที่ผ่านมา พบว่าชาวอเมริกันร้อยละ 61 และชาวญี่ปุ่นร้อยละ 52 ของผู้ตอบแบบสอบถาม อยากให้ความสัมพันธ์ของประเทศตนและเกาหลีเหนือกลับสู่ภาวะปกติหลังจากที่เกาหลีเหนือยอมปลดอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด
ส่วนทัศนคติของชาวอเมริกันและชาวญี่ปุ่นที่มีต่อการประชุมครั้งนี้ค่อนข้างแตกต่างกัน เนื่องจากร้อยละ 38 ของชาวอเมริกัน มองว่าการประชุมทรัมป์-คิม เกิดขึ้นได้เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยของทรัมป์ ดำเนินนโยบายขั้นเด็ดขาดและกดดันจนกระทั่งเกาหลีเหนือต้องยอมกลับเข้าสู่กระบวนการพุดคุยเจรจา โดยความคาดหวังสูงสุดจากการประชุมครั้งนี้ คือ จะต้องยุติปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ที่ก่อให้เกิดความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีได้
(ผู้ชุมนุมรวมตัวหน้าสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงโซลของเกาหลีใต้ วันที่ 11 มิ.ย. พร้อมทั้งชูป้ายเรียกร้องให้สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ ผลักดันให้เกิดการลงนามสันติภาพ)
ขณะที่ชาวญี่ปุ่นร้อยละ 39 มองว่าเกาหลีเหนือยอมกลับเข้าสู่การพูดคุยเจรจากับสหรัฐฯ เป็นผลจากการลงมติคว่ำบาตรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) และการกดดันจากรัฐบาลจีน แต่ร้อยละ 29 ของชาวอเมริกัน และร้อยละ 26 ของชาวญี่ปุ่น มองว่าเกาหลีเหนือยอมกลับสู่กระบวนการพูดคุยเจรจา เพราะมีความเชื่อมั่นว่าประเทศของตนมีอำนาจในการต่อรองมากพอ เป็นผลสืบเนื่องจากความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปและระเบิดนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2017 จนถึงต้นปี 2018 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ชาวอเมริกันที่ตอบแบบสอบถามครึ่งหนึ่งไม่ได้มองว่าเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามอันดับ 1 แต่มองว่า 'รัสเซีย' เป็นประเทศที่อันตรายต่อสหรัฐฯ มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 50 ส่วน 'เกาหลีเหนือ' เป็นอันตรายต่อสหรัฐฯ อันดับ 2 (ร้อยละ 44) ขณะที่ชาวญี่ปุ่นร้อยละ 53 มองว่า 'เกาหลีเหนือ' เป็นภัยคุกคามประเทศอันดับ 1 และรัสเซียเป็นอันดับ 2 คิดเป็นร้อยละ 45
ประเด็นสำคัญ คือ คำนิยาม-ขอบเขต-วิธีการ 'ปลดอาวุธนิวเคลียร์'
สำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้รายงานเพิ่มเติมว่า ทั่วโลกจับตามองการประชุมระหว่างเกาหลีเหนือและสหรัฐฯ โดยคาดหวังว่าการพบปะพูดคุยระหว่างทรัมป์และคิมจะเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่การผลักดันกระบวนการเจรจาสันติภาพ เพื่อให้เกิดสันติภาพถาวรในและคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งจะต้องพูดคุยกันถึงการปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือด้วย
(สื่อเกาหลีเหนือรายงานว่าภาพดังกล่าวถ่ายมื่อคิมจองอึน ผู้นำสูงสุด เยี่ยมชมคลังอาวุธของกองทัพเมื่อปีที่แล้ว)
ประเด็นสำคัญที่ผู้นำสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือต้องตกลงร่วมกันให้ได้ คือ การกำหนดคำนิยาม ขอบเขต และวิธีการที่จะนำไปสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนืออย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่สื่อเกาหลีใต้รายงานว่าผู้นำทั้งสองประเทศอาจเห็นขัดแย้งกันใน 3 ประเด็นดังกล่าว เพราะเกาหลีเหนือไม่เคยเปิดเผยว่ามีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองเป็นจำนวนเท่าใด ทำให้ไม่อาจตรวจสอบได้ว่าการปลดอาวุธนิวเคลียร์จะรวมถึงสารประกอบอื่นๆ ที่อาจจะนำไปใช้ผลิตอาวุธนิวเคลียร์รอบใหม่ด้วยหรือไม่
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยืนกรานมาตลอดว่าจะไม่ยอมถอนกำลังทหารอเมริกันไปจากเกาหลีใต้ ทำให้เกาหลีเหนือโจมตีว่าสหรัฐฯ ไม่คิดจะล้มเลิกการแทรกแซงกิจการภายในคาบสมุทรเกาหลี และเกาหลีเหนือกับจีนก็ไม่เห็นด้วยกับการติดตั้งระบบยิงต่อต้านขีปนาวุธเพดานบินสูง หรือทาดของสหรัฐฯ บริเวณชายแดนเกาหลีใต้-เกาหลีเหนือ
ด้านมุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ผู้สนับสนุนให้สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือเข้าสู่กระบวนการประชุมหารือ เผยว่า การจะบรรลุข้อตกลงสันติภาพและปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ มีหนทางที่ต้องไปต่ออีกยาวไกล แต่ก็ถือว่าการประชุมทรัมป์-คิม ที่สิงคโปร์ เป็นก้าวแรกที่ดี
ที่มา: CNBC/ The Guardian/ Politico/ Yonhap
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: