ไม่พบผลการค้นหา
เรื่องไหนถูกยกย่องว่าเป็น "ภาพยนตร์แห่งปี 2017" คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง รวบรวมโผรายชื่อหนังที่สำคัญมาไว้ให้แล้วในคอลัมน์ สำส่อนทางความบันเทิง

เป็นประจำที่เดือนธันวาคมของทุกปีจะมีโพลจัดอันดับหนังแห่งปีออกมามากมาย แถมอาจจะมากเกินไปจนเราไม่รู้ว่าจะเชื่อเจ้าไหน หรือถ้าอยากจะดูหนังสำคัญของปี 2017 พลาดไปนี่ควรจะใช้โพลสำนักใดเป็นแนวทางล่ะเนี่ย

สำหรับตัวผมแล้ว โพลที่ติดตามตามเสมอมักจะเป็นการจัดอันดับจากนิตยสารภาพยนตร์สามเจ้าดังจากสามประเทศ ได้แก่ Sight & Sound (อังกฤษ) Cahiers du Cinema (ฝรั่งเศส) และ Film Comment (สหรัฐอเมริกา) สาเหตุคือนิตยสารเหล่านี้มีเนื้อหาเข้มข้น (และอ่านเข้าใจยากอยู่หลายครั้ง) ไม่ใช่เพียงหนังสือที่นำเสนอความเคลื่อนไหวในวงการบันเทิง แต่มีบทความที่เป็นธีมเฉพาะเจาะจง และเน้นความสำคัญของการิจารณ์ภาพยนตร์

เช่นนั้นแล้วเราลองมากันดูว่าครับว่าปีนี้นิตยสารชื่อดังทั้งสามเลือกหนังอะไรเป็นอันดับหนึ่ง


Sight & Sound

เช่นเดิมว่าปีนี้ Sight & Sound จากประเทศอังกฤษยังเป็นเจ้าแรกที่ประกาศท็อปเท็นก่อนเพื่อน โดยผลโหวตได้จากนักวิจารณ์ ภัณฑารักษ์ และนักวิชาการ 188 คนทั่วโลก แต่ละคนจะเลือกหนังได้ 5 เรื่อง และผลออกมาว่าอันดับหนึ่งคือหนังอเมริกันเรื่อง Get Out ของผู้กำกับ จอร์แดน พีล ซึ่งเข้าฉายในบ้านเราด้วย


ทันทีที่ผลออกมาเป็น Get Out ก็เกิดเสียงกังขาขึ้นเล็กน้อย ส่วนใหญ่ยอมรับว่าหนังสนุกและมีไอเดียที่น่าสนใจ แต่ไม่ได้โดดเด่นขนาดจะคว้าที่หนึ่ง แต่ทั้งนี้ด้วยระบบการโหวตที่ให้เลือกได้ห้าเรื่อง มีความเป็นไปได้สูงที่นักวิจารณ์จำนวนมากจะเลือก Get Out แม้ว่าอาจไม่ได้ชอบมันมากที่สุด เช่นนั้นแล้วหนังอันดับหนึ่งอาจไม่ใช่หนัง ‘ดี’ ที่สุด แต่อาจเป็นหนังที่ ‘เข้าถึง’ นักวิจารณ์ได้มากที่สุด         

อย่างไรก็ดี Get Out เป็นหนังที่เป็นที่รักทั้งในหมู่นักวิจารณ์และคนดู ด้วยเรื่องราวเริ่มต้นว่าด้วยหนุ่มผิวสีที่เดินทางไปเยี่ยมพ่อแม่ของแฟนสาวผิวขาว ก่อนที่หนังจะนำไปสู่ทิศทางที่คาดไม่ถึง เป็นข้อพิสูจน์ว่าหนังสยองขวัญที่ถูกสร้างขึ้นอย่างซ้ำซาก ยังสามารถหาแนวทางใหม่ๆ ได้เสมอ

บรรยากาศคงเป็นสิ่งที่โดดเด่นที่สุดของ Get Out ทั้งความหลอนแบบกึ่งซีเรียสกึ่งขำ (ใครที่ได้ดูหนังเรื่องนี้คงไม่มีวันลืมฉากแม่บ้านพูดคำว่า No No No ได้แน่นอน) แต่ขณะเดียวกันก็มีความตลกแบบมุทะลุแบบหนังคนดำ เช่นการโหวกเหวกโวยวาย พูดประโยคยาวเฟื้อย และการสบถเป็นชุด

แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้ Get Out โด่งดังคงเป็นความร่วมสมัยของมัน การเล่าถึงสถานะเหยื่อของชาวผิวสีสอดคล้องไปกับกระแสเรียกร้องสิทธิคนดำ Black Lives Matter ที่ยังเป็นประเด็นอยู่เรื่อยๆ รวมถึงความเหิมเกริมของพวกคนขาวขวาจัด (White Supremacist) ที่ทำให้คนดำรู้สึกถูกคุกคาม หรือคนผิวขาวและไม่ขาวที่ยังสติดีก็คงตระหนักได้ว่าสังคมมีความผิดปกติ ไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่า Get Out เป็นกระจกสะท้อนภาพสหรัฐอเมริกาในยุคประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

get out film 2017


Cahiers du Cinema

ต่อมาคือนิตยสาร Cahier du Cinema จากฝรั่งเศสซึ่งขึ้นชื่อเรื่องรสนิยมเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร โพลของเจ้านี้มักสร้างความมึนงงให้กับคนในวงการอยู่เสมอ ไม่เว้นแต่ปีนี้ที่อันดับหนึ่งเป็น Twin Peaks: The Return ของ เดวิด ลินช์ นำมาซึ่งข้อถกเถียงอย่างมากมาย เนื่องจากมันเป็นซีรีส์ฉายทางโทรทัศน์ความยาว 18 ตอน


เอาเข้าจริงนี่ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก เพราะเทรนด์ปัจจุบันคือเส้นแบ่งระหว่างภาพยนตร์กับซีรีส์นับวันจะยิ่งจางลงทุกที โดยเฉพาะตัวแปรสำคัญอย่าง Netflix ที่มีผู้กำกับคนดังหลายคนไปทำหนังให้ (เช่นเรื่อง Okja ของ บองจุนโฮ หรือ The Irishman หนังปี 2019 ของมาร์ติน สกอร์เซซี) ประเด็นน่าคิดก็คือ ทำไม Cahiers ถึงนำ Twin Peaks มาร่วมพิจารณาในโพล ‘หนังยอดเยี่ยม’ แบบนี้ต้องเปลี่ยนชื่อโพลเป็นหนังและซีรีส์ยอดเยี่ยมหรือไม่ และ Cahiers ได้พิจารณาซีรีส์เรื่องๆ อื่นหรือเปล่า

แต่ถ้ามองข้ามความดราม่าทั้งหลาย ปฏิเสธไม่ได้ว่า Twin Peaks: The Return เป็นผลงานน่าตื่นตะลึงของปีนี้ เท้าความก่อนว่านี่คือซีรีส์ว่าด้วยการสืบสวนคดีฆาตกรรมหญิงสาวที่สองซีซั่นแรกออนแอร์เมื่อปี 1990-1991 จนราวสิบกว่าปีต่อมา อยู่ดีๆ ลินช์ก็เฮี้ยนลุกขึ้นมาทำซีซั่นสาม ด้วยเงื่อนไขที่เขายื่นกับช่อง Showtime ว่าเขาต้องมีสิทธิขาดในการกำกับ ห้ามทางช่องมาแทรกแซงเด็ดขาด

ผู้ชมที่ได้ดู Twin Peaks: The Return พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘โคตรหลอน’ และ ‘ดูไม่รู้เรื่อง’ (ฮา) แต่ข้อดีคือลินช์ทำซีรีส์ชุดนี้อย่างไม่มีความประนีประนอมใดๆ ทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่นตอน 8 อันโด่งดังที่มีฉากคอนเสิร์ตของวง Nine Inch Nails ต่อด้วยภาพเหตุการณ์ทดลองระเบิดนิวเคลียร์ที่เม็กซิโกปี 1945 (!?) พร้อมกับเพลงประกอบสุดหลอน Threnody to the Victims of Hiroshima ของคริสตอฟ เพนเดเรซกี ที่ใช้เครื่องสายจำนวน 52 ชิ้น แน่นอนว่าคนดูงงกันเป็นแถบ แต่จะมีสักกี่ครั้งที่ความเซอร์ระดับนี้ถูกฉายผ่านทางโทรทัศน์ได้

Twin Peaks: The Return


Film Comment

ปิดท้ายด้วยนิตยสาร Film Comment จากสหรัฐอเมริกาที่ยกตำแหน่งหนังแห่งปีให้ Good Time ของเบนนี และ จอช แซฟดี้ หนังเล่าถึงสองพี่น้องที่บุกปล้นธนาคาร แต่ด้วยความผิดพลาดฝ่ายน้องชายผู้มีอาการบกพร่องทางจิตจึงถูกส่งเข้าคุก เดือดร้อนถึงฝ่ายพี่ชายที่ต้องพยายามทำทุกวิถีเพื่อหาเงินมาประกันตัวน้องชาย


ฟังพล็อตของ Good Time แล้วอาจจะรู้สึกเฉยๆ ว่ามันเป็นหนังแนวโจรกรรม (Heist film) ทั่วไป แต่หนังมีความเฉพาะตัวด้วยโทนอารมณ์แบบติดไฮสปีดประหนึ่งคนเมายาเกือบตลอดเรื่อง ทั้งการตัดต่อฉับไว กล้องที่ส่ายไปมา หรือโดดเด่นที่สุดคงหนีไม่พ้นสกอร์เพลงอิเล็กทรอนิกจาก Oneohtrix Point Never

นอกจากนั้น Good Time ยังนำเสนอภาพของเมืองนิวยอร์กอันแสนวุ่นวายและเต็มไปด้วยอาชญกรรมได้อย่างเข้มข้น ชนิดที่ใครเคยไปนิวยอร์กมาแล้วจะต้องอุทานว่า “นี่แหละใช่เลย” ไม่น่าแปลกใจที่ Good Time จะครองใจ Film Comment ที่ผลโหวตส่วนใหญ่มาจากนักวิจารณ์อเมริกัน และลึกๆ แล้วสารของ Good Time ยังสอดแทรกเรื่องการดิ้นรนของชนชั้นล่างด้วย ซึ่งเป็นอีกลักษณะสำคัญของอเมริกายุคหลังทรัมป์เป็นใหญ่

อีกคนที่ต้องพูดถึงก็คือนักแสดงนำอย่าง โรเบิร์ต แพตทินสัน ที่ได้รับคำชมอย่างท่วมท้น น่าเสียดายว่าหนังอาจจะไม่แรงพอจนส่งเขาไปเวทีออสการ์ เป็นที่สังเกตว่าหลังจากหมดเวรหมดกรรมจากหนังชุด Twilight แล้ว แพตทินสันเลือกบทให้ตัวเองได้น่าสนใจมาก (ข่าวระบุว่าเขาติดต่อไปยังพี่น้องแซฟดี้โดยตรงเพื่อขอร่วมงานด้วย) จนตอนนี้แพตทินสันไม่ใช่แค่หนุ่มหล่อหน้าซีดๆ แต่กลายสถานะเป็นนักแสดงที่ไว้ใจได้

Good Time film 2017


บทสรุป

ในปีนี้หนังอันดับหนึ่งจากสามนิตยสารภาพยนตร์ทรงอิทธิพลมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่เหมือนกับปี 2016 ที่ทั้งสามเจ้ายกตำแหน่งหนังแห่งปีให้กับหนังตลกร้ายเยอรมัน Toni Erdmann (ที่ถูกออสการ์เมินอย่างน่าตกใจ)

อย่างไรก็ตาม หนังทั้งสามเรื่องมีจุดร่วมตรงกันคือเป็นหนังที่นำเสนอสภาพสังคมที่ไม่น่าอภิรมย์นัก ทั้งการถูกกดขี่ของคนผิวสีใน Get Out, ฝันร้ายของมนุษย์และวิกฤตการดำรงอยู่ใน Twin Peaks: The Return และความปากกัดตีนถีบของคนชายขอบใน Good Time

ซึ่งนี่อาจเป็นภาพแทนชีวิตของพวกเราในปี 2017 ก็เป็นได้


สรุปท็อปเท็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปี 2017 จากทั้งสามนิตยสาร

get out film 2017

Sight & Sound

1. Get Out

2. Twin Peaks: The Return

3. Call Me by Your Name

4. Zama

5. Western

6. Faces Places

7. Good Time

8. Loveless

=9. Dunkirk

=9. The Florida Project


twin peaks the return

Cahiers du Cinema

1. Twin Peaks: The Return

2. Jeannette: The Childhood of Joan of Arc

3. Certain Women

4. Get Out

5. The Day After

6. Lover For a Day

7. Good Time

8. Split

9. Jackie

10. Billy Lynn’s Long Halftime Walk


good time film 2017

Film Comment

1. Good Time

2. A Quiet Passion

3. Personal Shopper

4. Get Out

5. Nocturama

6. Ex Libris: The New York Public Library

7. The Death of Louis XIV

8. Faces Places

9. The Lost City of Z

10. Lady Bird