ไม่พบผลการค้นหา
อยู่ในเมืองกรุงฯ ใครว่าสะดวกสบาย แท้จริงแล้วชีวิตแสนจะลำบาก โดยเฉพาะเรื่องของการเดินทาง จะโบกแท็กซี่ก็เจอส่งรถ นั่งจักรยานยนต์รับจ้างก็โดนโก่งราคา ขึ้นรถเมล์ก็ติดจนแทบไม่ขยับ พอหันไปหารถไฟฟ้า อย่าง BTS ก็เจอรถเสียถี่ๆ เพราะ “ระบบอาณัติสัญญาณ” ขัดข้องเสียอีก

ใครต่อใครเลยอยากเปลี่ยนคำขวัญของเมืองฟ้าอมรนี้ว่า “ชีวิตดีๆ ที่ลงเดิน” ไม่ใช่ “ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว” เพราะหลายครั้งหลายหนที่ต้องพึ่ง 2 เท้าของตัวเอง เดินไปให้ถึงจุดหมาย แม้เหงื่อจะโทรมกาย แต่มันไม่มีวิธีที่ดีกว่านี้ไง

และไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เฉพาะครึ่งแรกของปี 2561 BTS เสียไปแล้วถึง 32-34 ครั้ง แถมยังเสียได้แบบไม่เลือกเวลา ทั้งเช้าตรู่ สาย กลางวัน บ่าย เย็น ค่ำ จนถึงดึก (เปิดให้บริการ 06.00 – 24.00 น. ของทุกวัน) จึงไม่แปลกอะไรที่แฮชแท็ก #ยกเลิกสัมปทาน BTS จะลามไปอย่างรวดเร็วในทวิตภพ สถานที่ซึ่ง BTS ใช้แจ้งข่าวการเสีย-ซ่อม-หยุดผ่าน @BTS_Skytrain และอ้างว่าจะเกิด “ความล่าช้า(เพียง)10 นาที” แต่ 10 นาทีที่ว่าก็ไม่เคยมีอยู่จริง บางครั้งต้องรอนาน 2-3 ชั่วโมง กว่าจะมาสักขบวน

รวมเวลาที่ BTS เสีย เฉพาะเดือนนี้เพียงเดือนเดียว ก็เลย 24 ชั่วโมงเข้าไปแล้ว สามารถบินไป-กลับญี่ปุ่นได้ 2 รอบ ดูรายการคืนวันศุกร์ของท่านผู้นำได้ 48 ตอน หรือฟังเพลงเราจะทำตามสัญญาซ้ำๆ ได้ถึง 360 ครั้ง

กลับมาสู่คำถามสำคัญที่ว่า การยกเลิกสัมปทาน BTS จากปัญหาการให้บริการ สามารถเป็นไปได้หรือไม่?

ก่อนจะตอบคำถามนี้ สารภาพไว้ก่อนว่า ผมยังไม่เคยเห็นสัญญาสัมปทาน “ฉบับจริง” ที่ BTS ทำไว้กับ กทม. มีเพียงการอ่านที่มีคนสรุปมา หรือฟังผู้เกี่ยวข้องเล่าปากเปล่า

ทั้งที่จริงๆ สัญญาสัมปทานเป็นเอกสารที่ใครๆ ก็สามารถไปขอดูจากหน่วยงานของรัฐได้ ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 มาตรา 9(6) ถ้ามีโอกาสผมจะไปหามาเขียนให้ได้อ่านกัน หรือถ้าใครอดใจรอไม่ไหว จะเข้าไปขอดูเองที่ทำเนียบเสาชิงช้าก่อน ก็ไม่ว่ากัน

เพียงแต่เท่าที่ฟังข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องอย่างสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการ กทม. ที่ออกมายอมรับว่า การยกเลิกสัมปทานกับ BTS ไม่น่าจะทำได้ เพราะในสัญญา “ไม่ได้เปิดช่องในเรื่องนี้เอาไว้” มีแค่การกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า หากเดินรถอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ล่าช้าเกินกว่า 87.5% ของจำนวนเที่ยวทั้งหมด จะต้องถูกลงโทษด้วยการปรับเงิน

แต่อัตราโทษก็ช่างน้อยนิด คือเพียง 0.6% ของค่าเดินรถของ BTS ตลอดทั้งเดือน ซึ่งอยู่ที่ 300 ล้านบาท พูดง่ายๆ คือ กทม.จะปรับ BTS ได้แค่ 1.8 ล้านบาทเท่านั้น

หรือคิดเป็น 0.0002% ของรายได้รวมตลอดทั้งปี 2560 ของ BTS ซึ่งอยู่ที่ 10,405 ล้านบาทเศษ และเป็นกำไรสุทธิ 4,415 ล้านบาท

เดิมที สัญญาระหว่าง BTS กับ กทม. จะสิ้นสุดลงในปี 2572 เบื่อหน่ายอย่างไร ทนอีกสักสิบปีก็จะหมดสัมปทานแล้ว หากว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.คนก่อนหน้านี้ ไม่ไปเซ็นสัญญาจ้าง BTS ให้เดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าทั้งสายหลักและส่วนต่อขยาย จนไปถึงปี 2585 เสียก่อน

แม้โดยสถานะ การเป็น “คู่สัญญาสัมปทาน” กับ “ผู้รับจ้างมาเดินรถและซ่อมบำรุง” จะต่างกันอยู่บ้าง อย่างแรก BTS สามารถกำหนดวิธีหารายได้จากการให้บริการได้เอง (และหลายคนอาจไม่รู้ว่า จริงๆ แล้วรายได้ส่วนใหญ่ของ BTS มาจากค่าโฆษณาและให้เช่าพื้นที่ร้านค้าในสถานี ไม่ใช่ค่าตั๋วโดยสาร) ส่วนอย่างหลังต้องคืนทรัพย์สินทั้งหมดให้กับ กทม. และรับเพียงค่าจ้างเท่านั้น

แต่การที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ไปเลือกทำสัญญาจ้าง BTS เดินรถล่วงหน้าก่อนที่จะหมดสัมปทานตั้ง 17 ปี (ทำสัญญาเมื่อปี 2555) จึงไม่แปลก ที่เรื่องนี้จะมีข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ และมีคนบางกลุ่มไปยื่นให้ ป.ป.ช.เข้ามาตรวจสอบ แม้จนบัดนี้คดีจะยังไม่มีความคืบหน้า

สัญญาสัมปทาน โดยสภาพถือเป็น “สัญญาทางปกครอง” จริงๆ รัฐสามารถแก้ไข (ไปจนถึงยกเลิก) ได้ หากคู่สัญญาเห็นชอบด้วย

และที่ผ่านมา ก็เคยมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานหลายกรณี ไม่ว่าจะในแวดวงโทรคมนาคม โทรทัศน์ ร้านค้าปลอดภาษี ไปจนถึงทางด่วน

แต่อย่างที่เขียนไว้ข้างต้นว่า “คู่สัญญา” ซึ่งหมายถึงทั้ง กทม. และ BTS จะต้องเห็นชอบด้วย นอกจากนี้ สัมปทานที่มีมูลค่านับหมื่นล้าน การจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงจะต้องให้หลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง กรณีนี้ก็คือ กระทรวงมหาดไทย (ต้นสังกัดของ กทม.) รวมไปถึงคณะรัฐมนตรี

ถ้าไปยกเลิกดื้อๆ เอาฝ่ายเดียว ก็เสี่ยงจะเป็นคดีความในอนุญาโตตุลาการ ถูกเรียก “ค่าโง่” เป็นหมื่นๆ ล้านอีก

ไม่รวมถึงว่า แล้วจะให้ใครมาเดินรถแทน เพราะการจะหาผู้รับสัมปทานรายใหม่จำเป็นต้องใช้การประมูล ซึ่งอาจกินเวลาหลายเดือน ยาวนานไปถึงหลายปี

จะใช้ ม.44 มาแก้ไขปัญหา ก็เกรงจะสร้างปัญหาใหม่เสียมากกว่า เช่นเดียวกับการยกเลิกสัมปทานเหมืองทองของอัครา

ที่สุดแล้ว จึงอยากชวนถกเถียงกันว่า เช่นนั้นแล้วการ “ยกเลิกสัมปทาน” จะเป็นการแก้ไขปัญหา BTS เสียถี่-เสียบ่อย จริงๆ หรือ? หรือยังมีวิธีการอื่นที่ดีกว่าไหมในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า? ส่วนปัญหาเรื่องสัมปทานหรือสัญญาจ้างเดินรถระยะยาว ค่อยว่ากันในอนาคต ถ้ามีข้อมูลและตัวเลือกที่ดีกว่า

เพราะสำนวน “หนีเสือปะจระเข้” คงไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ จริงไหม?

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog