ไม่พบผลการค้นหา
วุ่นๆ ไม่รู้จักจบจักสิ้นจริงๆ สำหรับการก่อสร้าง “สัปปายะสภาสถาน” หรืออาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างขึ้นในที่ดินราชพัสดุทหาร ย่านเกียกกาย ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ปัญหาล่าสุดคือกรณีที่จอดรถ ซึ่งจะต้องสร้างเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 50% เป็นกว่า 3,000 คัน เนื่องจากมีการปรับแก้แบบเพิ่มพื้นที่ใช้สอยจาก 307,000 ตารางเมตร มาเป็น 424,000 แสนตารางเมตร ทำให้จำนวนที่จอดรถเดิม นอกจากไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ยังอาจส่งผลให้ กทม.ไม่ตรวจรับงานเพราะทำผิดข้อบัญญัติของ กทม.

ทางแก้ก็คือ อาจจะสร้างที่จอดรถใต้ดิน ซึ่งสิ่งที่ต้องใช้เพิ่มนอกจาก “งบประมาณ” ยังรวมถึง “เวลา”

หลายคนอาจไม่รู้ว่า นับแต่เริ่มก่อสร้างในปี 2556 ได้มีการขยายเวลาให้ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับเหมา เลื่อนระยะเวลาในการก่อสร้างให้แล้วเสร็จมาแล้วถึง 3 ครั้ง จากเดิมต้องเสร็จปลายปี 2558 มาเป็นปลายปี 2559 มาเป็นต้นปี 2560 และล่าสุด ไปเป็นปลายปี 2562

ทว่าเพียงการที่โครงการก่อสร้างของหน่วยงานราชการเดินหน้าล่าช้า ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่และน่าแปลกใจอะไร สิ่งที่น่าสนใจไปกว่าคือตลอดเส้นทางการก่อสร้างโครงการที่มีคำแปลชื่อว่า “สบาย, สถานที่ประกอบกรรมแต่กรรมดี” กลับเต็มไปด้วยข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใส จนมีผู้ต้องสังเวยเส้นทางอาชีพและอนาคตของตัวเองไปแล้วหลายราย

เริ่มจากปัญหาเรื่องการหาไม้สัก 4,534 พันต้น มาใช้ในการก่อสร้าง ซึ่งผู้รับเหมาติดต่อขอซื้อจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) โดยบางส่วนจะตัดจากสวนป่าแม่หอพระ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ จนเกิดเป็นดราม่าบนโลกออนไลน์ และท้ายสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ต้องออกมาสั่งเบรก

แต่หากเรื่องไม้สักจะเป็นแค่น้ำจิ้ม เรื่องที่ใหญ่ไปกว่าคือการขนดินซึ่งถือเป็น “ทรัพย์สินของราชการ” ปริมาณ 1 ล้านลูกบาศก์เมตรออกจากพื้นที่ก่อสร้าง เพราะพบกว่า จาก 5 แสนลูกบาศก์เมตร ซึ่งสภาบริจาคให้กับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปภัมภ์ไปใช้ประโยชน์ กลับถูกนำไปถมในที่ดินของเอกชน

ซึ่งท้ายสุด ไม่เพียงข้าราชการระดับล่างของสภา 3 รายจะถูกสอบสวนทางวินัย และเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรรายหนึ่ง โดนคำสั่งฟ้าผ่า มาตรา 44 ย้ายออกจากตำแหน่ง

ยังส่งผลไปถึงบุคคลระดับสูงรายหนึ่งที่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง โดยหนึ่งในสาเหตุมาจากปัญหาการขนดินในการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่นี้ด้วย

ยังไม่รวมถึงข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใสที่ถูกหยิบมาพูดถึงอยู่เรื่อยๆ โดยล่าสุด คือกรณีติดตั้งระบบไอทีที่งบเพิ่มจากเดิมที่กว่า 3,000 ล้าน ไปเป็นกว่า 8,600 ล้านบาท

ยิ่งสร้าง ยิ่งวุ่น ยิ่งมีข้อครหา จนบางสื่อบอกว่า รัฐสภาใหม่สร้างอย่างไรก็ไม่เสร็จ?

ความพยายามในการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ มีขึ้นตั้งแต่ปี 2536 สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เนื่องจากอาคารรัฐสภาเดิมทั้งทรุดโทรมและคับแคบ จนต้องแยกสำนักงานไปไว้ในหลายๆ ที่ โดยขณะนั้นเล็งราชตฤณมัยสมาคมฯ หรือสนามม้านางเลิ้งเอาไว้ และก็มีผู้เสนอพื้นที่อื่นๆ ด้วย เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ก่อนจะมาเป็นรูปเป็นร่างในปี 2545 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อมีการว่าจ้างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาหาที่ๆ มีความเหมาะสม ภายใต้โจทย์คือ 1.ให้ดูที่ดินราชพัสดุหรือที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์จองหน่วยงานราชการก่อน จะได้ใช้งบประมาณไม่มากนัก และ 2.ที่ดินนั้นจะต้องมีความกว้างขวางพอสมควร

และมีการเสนอที่ดิน 9 จุด ที่น่าจะมีความเหมาะสมทั้งใน กทม. ฉะเชิงเทรา ไปจนถึงนครนายก

นอกจากนี้ ยังเคยมีอดีตนายกฯ คนหนึ่ง ไปสำรวจที่ดินแถวเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี พร้อมกับสัพยอกว่า ถ้าสร้างสภาใหม่ที่นี่ก็ดี ส.ส.จะได้หนีประชุมไม่ได้!

แต่ท้ายสุด ผู้เกี่ยวข้องก็มีมติเลือก “ที่ราชพัสดุทหาร เขตดุสิต” หรือไซด์งานก่อสร้างในย่านเกียกกายปัจจุบัน ว่ามีความเหมาะสมที่สุด

และเพิ่งมาได้แบบก่อสร้างในปี 2551 สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยแบบของทีม สงบ.1501 จากสถาบันอาศรมศิลป์ ชนะการประกวดไป กระทั่งเริ่มก่อสร้างในปี 2556 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ จึงถือเป็นเมกะโปรเจ็กต์หนึ่งที่ใช้เวลายาวนานหลายรัฐบาล จน ส.ส.เพิ่มจำนวนจากเมื่อครั้งเริ่มต้น 360 คน มาเป็น 500 คน ในปัจจุบัน

สิ่งที่น่าจับตาต่อไป ก็คือสภาชุดไหนจะได้โอกาสใช้งานสัปปายะสภาสถานแบบเต็มรูปแบบ เป็นชุดแรก? สมมุติว่าการก่อสร้างเสร็จสิ้นได้ตามกำหนดเวลาโดยไม่มีการขยายเวลาอีกแล้ว

หากเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ตามกำหนด คือไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แน่นอนว่า ผู้ที่จะมีโอกาสได้ใช้อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ก็คือสมาชิกรัฐสภาชุดผสม คือ ส.ส.ที่ประชาชนเลือกมา กับ ส.ว.ที่ คสช.เป็นผู้เลือก

แต่ถ้าโรดแม็ปเลือกตั้งต้องขยับออกไปอีกครั้ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใด ผู้ที่จะได้ประเดิมอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ก็จะเป็น สนช. ที่ประชาชนไม่ได้เลือกมาแม้แต่คนเดียว

เป็นอีกอาถรรพ์หนึ่ง ที่น่ากลัวจะมีโอกาสเกิดขึ้นจริง

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog