ไม่พบผลการค้นหา
กัมพูชากำลังจะจัดการเลือกตั้งช่วงปลายเดือนนี้ โดยรัฐบาลของนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชายืนยันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่องค์กรด้านสิทธิต่างๆ กลับมองว่านายฮุน เซนงัดกลยุทธ์ทุกเม็ดเพื่อให้พรรครัฐบาลชนะการเลือกตั้งอย่างแน่นอน

หน่วยงานด้านสื่อของรัฐบาลกัมพูชาได้เผยแพร่คลิปวิดีโอที่ระบุว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 29 ก.ค.นี้อาจเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์กัมพูชา และจะเป็นไปอย่างบริสุทธ์ยุติธรรมตามหลักประชาธิปไตย ปราศจากความรุนแรง และมีความหลากหลาย

วิดีโอดังกล่าวเหมือนเป็นวิธีการตอบโต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคมทั้งในกัมพูชาและต่างประเทศที่โจมตีว่า การเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนถึงภาวะถดถอยของประชาธิปไตยในกัมพูชา เพราะพรรคประชาชนกัมพูชา หรือ พรรค CPP ของนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่กุมอำนาจในประเทศมากกว่า 33 ปีแล้ว ยังพยายามทำทุกวิถีทางให้พรรคตัวเองได้ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล หรือ ICJ สรุปเสียงวิจารณ์จากกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆว่า เจ้าหน้าที่ยังคงแทรกแซงระบบยุติธรรมเพื่อกดขี่ภาคประชาสังคม สื่อ ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และบุคคลทั่วไปด้วย


ยุบพรรคฝ่ายค้าน

เมื่อปลายปี 2017 ศาลกัมพูชาตัดสินยุบพรรคพรรคกู้ชาติกัมพูชา หรือ CNRP พรรคฝ่ายค้านที่เป็นคู่แข่งสมน้ำสมเนื้อที่สุดกับพรรครัฐบาล และตัดสิทธิ์ทางการเมืองของสมาชิกอาวุโสของพรรค CNRP จำนวน 118 คนเป็นเวลา 5 ปี หลังพรรครัฐบาลยื่นฟ้องว่า พรรค CNRP วางแผนโค่นล้มรัฐบาล โดยก่อนหน้านี้ นายเกิม เสิกขา หัวหน้าพรรค CNRP ก็ถูกตั้งข้อหาว่าเป็นกบฏและสมรู้ร่วมคิดกับสหรัฐฯ โค่นล้มรัฐบาล

แม้ 45 ประเทศทั่วโลกจะกดดันให้นายฮุนเซนคืนสถานะพรรคการเมืองให้พรรค CNRP และอภัยโทษให้นายเกิม รวมถึงนิรโทษกรรมให้นายสม รังสี อดีตหัวหน้าพรรค CNRP ที่ลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศส และเจรจากับพรรคฝ่ายค้าน เพื่อให้มีการจัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ฮุน เซน ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า เขาจะไม่เจรจากับพรรค CNRP โดยเด็ดขาด และจะไม่เลื่อนการเลือกตั้งอีกด้วย


ปราบเอ็นจีโอและปิดปากสื่อ

นอกจากจะเล่นงานพรรคฝ่ายค้านแล้ว ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาได้ไล่ปราบปรามองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ หรือได้รับเงินทุนจากสหรัฐฯ ทั้งสำนักข่าวและเอ็นจีโอต่างๆ ที่มักวิพากษ์วิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิที่ดินโดยรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลมองว่าเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบในประเทศ

ทางการกัมพูชาเรียกเก็บภาษีย้อนหลังสำนักข่าวเก่าแก่อย่างเดอะ แคมโบเดีย เดลี จนต้องปิดตัวลง ขณะที่ผู้สื่อข่าวทุกสำนักก็ต้องต่อบัตรผู้สื่อข่าวกับรัฐบาลทุกปี การต่อบัตรผู้สื่อข่าวจึงเหมือนเป็นขั้นตอนคัดกรองว่าคนที่วิจารณ์รัฐบาลบ่อยๆ ก็จะไม่ได้รับบัตรผู้สื่อข่าวและทำข่าวในกัมพูชาอย่างถูกกฎหมาย

แม้รัฐบาลกัมพูชาจะประชาสัมพันธ์ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะมีสื่อมวลชนเข้าสังเกตการณ์ด้วยหลายร้อยคน แต่สื่อมวลชนที่อยู๋ในคณะเฝ้าสังเกตการณ์ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยห้ามแสดง “ความเห็นและอคติส่วนตัว” และห้ามสัมภาษณ์ประชาชนบริเวณหน่วยเลือกตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ ยังห้ามนำเสนอข่าวสารที่ทำให้เกิด “ความสับสนและสูญเสียความเชื่อมั่น”ในการเลือกตั้งครั้งนี้จะถือเป็นความผิด

ด้านสมาพันธ์ผู้สื่อข่าวนานาชาติหรือ IFJ ตอบโต้ว่าแนวปฏิบัติของสื่อมวลชนที่รัฐบาลกัมพูชากำหนดมาได้ปล้นโอกาสของชาวกัมพูชาในการได้รับข่าวสารอย่างเพียงพอสำหรับการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งนี้


กฎหมายปราบข่าวปลอม

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. กัมพูชาเพิ่งบังคับใช้กฎหมายปราบปรามข่าวปลอม ซึ่งมุ่งปราบข่าวปลอมบนเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย โดยผู้กระทำผิดจะถูกจำคุก 2 ปีและปรับประมาณ 1,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 33,000 บาทและเว็บไซต์ต่างๆ จำเป็นต้องไปลงทะเบียนกับกระทรวงข้อมูล โดยรัฐบาลกัมพูชาให้เหตุผลว่า ข่าวปลอมเป็นภัยต่อประชาธิปไตย และประชาชนควรได้รับข่าวดีๆ

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายเกรงว่ากฎหมายนี้จะถูกนำมาใช้ปราบปรามคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งเช่นนี้


ผ่านกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

นโรดม สีหมุนี กษัตริย์ กัมพูชา


เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ รัฐสภากัมพูชาเพิ่งผ่านร่างกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ โดยผู้ที่กระทำการใดๆ ที่ถูกตีความว่าหมิ่นสถาบันกษัตริย์กัมพูชา ต้องโทษจำคุก1-5 ปี และปรับ 15,000-78,000 บาท ซึ่งกฎหมายนี้ถูกวิจารณ์ว่าอาจถูกใช้เพื่อเล่นงานผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์

นอกจากนี้ กฎหมายนี้ค่อนข้างคลุมเครือ เพราะระบุว่าห้ามหมิ่นราชวงศ์กัมพูชาทั้งหมด ซึ่งไม่มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ใครที่ถูกนับเป็นราชวงศ์กัมพูชาบ้าง และคนที่ได้รับพระราชทานยศจะนับเป็นราชวงศ์หรือไม่ เช่น คนที่มียศขึ้นต้นด้วย 'สมเด็จฯ' อย่างฮุน เซน และรัฐมนตรีอีกหลายคน หรือ ยศ 'ออกญา' ที่มีอยู่มากกว่า 700 คน และในจำนวนนี้ก็เป็นคนชนชั้นนำที่บริจาคเงินให้กับรัฐ


กดดันให้แรงงานในโรงงานทอผ้าไปเลือกตั้ง

เมื่อการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีพพรคฝ่ายค้านหลักเป็นคู่แข่งของพรรครัฐบาลแล้ว สิ่งที่จะเป็นคู่แข่งตัวจริงของนายฮุน เซนก็คือเสียงของประชาชน มีการคาดการณ์ว่าฝ่ายต่อต้านนายฮุน เซนอาจเลือกที่จะไม่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้ยอดผู้ไปใช้สิทธิที่ต่ำเป็นตัวสะท้อนว่า ประชาชนไม่ยอมรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องพยายามกดดันให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันให้ได้มากที่สุด

ล่าสุด มีรายงานว่า แรงงานในโรงงานทอผ้า ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เคยประท้วงต่อต้านรัฐบาลกัมพูชา ถูกนายจ้างกดดันว่าต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 29 ก.ค.นี้ ไม่เช่นนั้นจะถูกลงโทษหรือถูกไล่ออก โดยแรงงานต้องแสดงนิ้วเปื้อนหมึกเป็นหลักฐานต่อนายจ้างว่าพสกเขาได้เข้าคูหาเลือกตั้งแล้ว

วันแรงงาน กัมพูชา


แจกเงินให้แรงงานในโรงงานทอผ้า

สำนักข่าว VOA Cambodia รายงานว่า ตัวเลขอย่างเป็นทางการของกัมพูชาเผยให้เห็นว่า นายฮุน เซน ทุ่มเงินจำนวนมากไปกับการประชุมกับแรงงานในโรงงานทอผ้าทั้งสิ้น 49 ครั้งในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา โดยในการประชุมแต่ละครั้ง ทีมงานจะแจกเงินให้ผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งละ 5 ดอลลลาร์ต่อคน ทำให้ยอดค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 3.5 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 100 ล้านบาท

มีการประเมินว่ามีแรงงานเข้าร่วมการประชุมเหล่านี้ทั้งสิ้นประมาณ 700,000 คน และการประชุมแต่ละครั้ง นายฮุน เซนก็จะพูดถึงประเด็นต่างๆ แตกต่างกันไป รวมถึงประเด็นทางการเมืองและผลงานของพรรครัฐบาล แต่ยืนยันว่าไม่ใช่แคมเปญหาเสียง และไม่ได้ชักชวนให้แรงงานต้องเลือกพรรคตัวเอง

อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา นายฮุน เซนกล่าวกับแรงงานว่า เขาจะจัดการประชุมเช่นนี้ต่อไปอีก 10 ปี แต่หากพรรค CPP แพ้การเลือกตั้งที่กำลังจะถึงนี้ เขาก็จะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และจะไม่มีโอกาสที่จะมาพบกับทุกคนอีกต่อไป ซึ่งอาจตีความได้ว่า หากเขาแพ้การเลือกตั้ง ก็จะไม่มีการแจกเงินเช่นนี้อีก

ที่มา: Asian Correspondent, The Guardian, Nikkei, VOA Cambodia


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: