ไม่พบผลการค้นหา
"อนุทิน" เยี่ยมชม "ร.พ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร" ประกาศผลักดันนโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์ ชี้ เป็นเรื่องของ "มนุษยธรรม"

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นำสมาชิกพรรค อาทิ นางสาวกนกวรรณ วิลาวัลล์ รองหัวหน้าพรรค, น.พ.สำเริง แหยงกระโทก ทีมยุทธศาสตร์พรรค นายอำนาจ วิลาวัลล์, นายสฤษดิ์ บุตรเนียร ส.ส.ปราจีนบุรี เข้าเยี่ยมชมโรงพยาบาล เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เพื่อศึกษากระบวนการปลูก และการใช้กัญชาในทางการแพทย์ 

นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้พรรคต้องการความรู้เพิ่มเติมเรื่องการใช้กัญชาเพื่อรักษาคนป่วย ถ้าพรรคมีโอกาสบริหารบ้านเมือง นโยบายกัญชาเสรีเพื่อการแพทย์ต้องได้รับการผลักดัน กัญชาทางการแพทย์ จะเป็นตัวเต็มนโยบายอื่นๆ ของกระทรวง

“ที่ต้องตอกย้ำเรื่องการแพทย์ เพราะการช่วยเหลือคนเป็นเรื่องของมนุษยธรรม และเป็นจุดเริ่มต้นในการขยับเรื่องกัญชา ซึ่งไม่มีเสียงคัดค้าน เป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน”

เมื่อมาถึงจุดนี้ ตนต้องการความช่วยเหลือจากฝ่ายบุคคลากรทางด้านสาธารณสุขด้วย เพราะความยากในการทำนโยบาย ไม่ใช่แค่กฎหมาย แต่ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจ ต้องพึ่งพาหมอ พยาบาล ช่วย

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ตนมาที่นี่ และได้ไอเดียเพิ่มเติมจำนวนมาก หากได้ทำงาน ต้องเริ่มจากเรื่องการแพทย์ตามที่กล่าว และจะเดินหน้าต่อยอดจากกฎหมายที่มีอยู่ แต่ส่วนใครอยากจะปลูก อยากจะขาย มันต้องให้กฎหมายเข้ามาดูแลเช่นกัน 

ด้านนายแพทย์นำพล แดนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ที่นี่เป็นที่แรกซึ่งใช้กัญชาในการรักษาโรคอย่างถูกกฎหมาย โรคที่กัญชามีประสิทธิภาพในการรักษาคือ ลมชัก อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน ซึ่งหลังได้รับยา ก็จะโทรติดตามผล หลังจากที่เปิดคลีนิครักษา มีคนคิดต่อมามากมาย ในฐานะที่เป็นความหวังของประชาชน

ภก. ดร.สุภาภร ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลมีการเตรียมเรื่องนี้มาเป็น 10 ปี เมื่อปฏิบัติจริง ต้องยอมรับว่า ความรู้เรื่องกัญชาในวงการแพทย์สมัยใหม่ของไทยล้าหลังมาก หวังให้ภาครัฐเปิดช่องกฎหมาย ให้มีการศึกษา วิจัย อย่างเต็มที่ ทางโรงพยาบาล ขอเสนอให้พัฒนาเทคนิคการปลูก พัฒนาศูนย์การสกัด ขยายตลาดทางการแพทย์ พัฒนาศักยภาพการเกษตร วิจัยต่อเรื่อง และดูแลเรื่องราคา

ขณะที่ ภก.อาสาฬา เชาวน์เจริญ เภสัชกรชำนาญการประจำโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ระบุว่า ตนทดลองใช้น้ำมันกัญชากับผู้ป่วยที่ผ่านการคัดกรองมาอย่างละเอียด กับผู้ป่วยพาร์กินสัน โรคลมชัก อัลไซเมอร์ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในกรณีพาร์กินสัน 4 จาก 7 ราย อาการดีขึ้น เช่นเดียวกับผู้ป้วยอัลไซเมอร์ มีอาการหงุดหงิดลดลง สามารถหลับได้ลึกขึ้น ผู้ป่วยลมชัก มีค่าความชักลดลง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :