ไม่พบผลการค้นหา
เดิมพันสูงยิ่งนัก สำหรับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้เพียง 2 เดือนครึ่งเท่านั้น ด้วย ‘บารมี’ ที่แผ่คับพรรค กระจายไปถึงพรรคอื่นๆ ทั้งพรรคเล็กและพรรคฝ่ายค้าน

แต่ครั้งนี้มาแบบ ‘พลิกแผ่นดิน’ ผ่านเกมเปลี่ยนหัวขั้วอำนาจ หลังข่าวถูกปล่อยมาตั้งแต่ช่วงเย็น 30ส.ค.ที่ผ่านมา ภายหลังประชุม ส.ส.พลังประชารัฐ มีข่าวสะพัดว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้กล่าวกับ ส.ส. ต่อที่ประชุมพรรค ว่า นายกฯ ได้ไลน์มาสอบถามกรณี ส.ส.พลังประชารัฐ ตัดพ้อ นายกฯ ไม่ดูแล ส.ส. พร้อมขู่เปลี่ยนขั้ว ไม่เอานายกฯ และขู่โหวตคว่ำนายกฯ ในศึกซักฟอก

นอกจากนี้เป้ายังถูกเล็งไปที่พรรคภูมิใจไทย นั่นคือ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กับ ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ที่ถูกล็อคเป้าโหวตคว่ำในศึกซักฟอกด้วย ทำให้ ‘อนุทิน-ศักดิ์สยาม’ ต้องเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ ทำเนียบฯ แม้จะระบุว่าไปเพื่อแชร์ข้อมูลในการชี้แจงอภิปรายไม่ไว้วางใจร่วมกันก็ตาม

นอกจากนี้ ‘อนุทิน’ ยังยอมรับว่า เป็นคนโทรไปหา พล.อ.ประวิตร ไม่ใช่ ‘เนวิน ชิดชอบ’ โทรไปหาตามที่เป็นข่าว โดย ‘อนุทิน’ เปิดเผยว่า โทรไปเพื่อเช็คกันว่าเรียบร้อยหรือไม่ โดย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เชื่อพี่คนเดียว ไม่ต้องคุยกับใคร เราเป็นหัวหน้าพรรคด้วยกัน ก็ต้องเชื่อกัน ถ้าไม่เชื่อหัวหน้าพรรค แล้วจะไปเชื่อใคร

แต่สิ่งที่ปรากฏชัดคือแรงเขย่าจาก พปชร. ที่ส่งไปพรรคภูมิใจไทยดูนิ่งลง โดยมีรายงานว่า ‘อนุทิน’ ก็ได้เข้าพูดคุยกับนายกฯตลอด รวมทั้งนั่งข้าง นายกฯ ในห้องประชุมสภาด้วย ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ประยุทธ์-อนุทิน’ ยังคงเดินต่อไปได้ ซึ่งก็ตรงกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ได้คุยกับหัวหน้าพรรคร่วม รบ. ตลอด

ประยุทธ์ อนุทิน สภา อภิปรายไม่ไว้วางใจ F0EF671F-336B-411F-A27D-D4AFEF426C2F.jpeg

แต่เกมนี้มาเหนือชั้นผ่าน ‘ขนวนการคว่ำนายกฯ’ เรียกได้ว่า ‘เปิดหน้าชน’ ของ ‘สายเลือดเตรียมทหาร’ ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ ตท.12 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ตท.10 และ ร.อ.ธรรมนัส ตท.25 ทำเอาสะเทือนไปทั้งสภา ฝุ่นตลบตลอด 3-4 วันที่ผ่านมา เพราะเกมนี้ มาถึงขั้น ‘ข้าอยู่ เอ็งไป’ เลยก็ว่าได้ ต่างฝ่ายต่างเดินเกมและมีวาทะฟาดฟันกัน อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แม้ที่ผ่านมาจะเป็นที่พูดกันว่าความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับ ร.อ.ธรรมนัส ไม่ค่อยสู้ดีนักก็ตาม

ตามมาด้วยแรงขย่มเก้าอี้ มท.1 ที่มีหลายระลอก ทำให้สัมพันธ์ระหว่าง ร.อ.ธรรมนัส กับ พล.อ.อนุพงษ์ ก็ไม่ราบเรียบเช่นกัน โดยมาจากลูกพรรค พปชร. ที่ระบุว่า พล.อ.อนุพงษ์ ไม่ค่อยดูแลลูกพรรค พร้อมปูดชื่อ ร.อ.ธรรมนัส ให้มานั่ง มท.1 แทน ที่เปรียบเป็น ‘คลื่นใต้น้ำ’ ที่เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ซึ่ง พปชร. ต้องการทวงคืนเก้าอี้ มท.1 จากโควต้านายกฯ กลับมาเป็นโควต้าพรรค ทำให้ พล.อ.อนุพงษ์ โดนแซะเก้าอี้ ซึ่ง นายกฯ ได้กล่าวปิดช่องว่า “เอาไปทำอะไร ทำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศหรือเปล่า”

ด้าน ร.อ.ธรรมนัส ชี้แจงว่า “ในการประชุมพรรค พปชร.เมื่อ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ถามพี่น้องทุกคนเลยว่าผมพูดอะไรเกี่ยวกับการเลื่อยขา มท.1 ได้ยินจากปากผมหรอ ผมพูดกับ ส.ส. 50-60 คน บอกว่า ส.ส.ในพรรคอึดอัดหลายเรื่อง และรัฐมนตรีที่นั่งอยู่ตรงนี้มีผลงานไปบอก ส.ส.ให้บอกชาวบ้าน นี่คือ ผลงานของพรรค พปชร. ส.ส.ตอบได้เลยว่าไม่มี มีหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเดียว คนที่เป็นตัวแทนของประชาชน ถ้าเป็นที่พึ่งไม่ได้ อย่าเป็น ส.ส.เลยดีกว่า”

สิ่งที่เกิดขึ้นช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา ถือว่าทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ‘ออกอาการ’ ไม่น้อย ผิดไปจากปกติ หลัง พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาให้สัมภาษณ์แบบเชือดเฉือน แม้ไม่ระบุชื่อ แต่ก็รู้ว่าใคร พร้อมยืนยันว่าไม่ปรับ ครม. ตอนนี้ และไม่มีเรื่องยุบสภาในหัวสมอง พร้อมกล่าวถึง ‘ขบวนการล้มนายกฯ’ ที่หวังให้ นายกฯ ไม่สามารถยุบสภาได้ นั่นคือช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจนั่นเอง หาก พล.อ.ประยุทธ์ ถูกโหวตคว่ำ ก็ต้องไปทั้ง ครม. เปรียบเป็นการ ‘ล้างกระดาน’ ไปในตัว รวมทั้งกระบวนการหา ‘นายกฯคนใหม่’ นั่นเอง แต่พ้อยต์ที่สำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำถึง 2 ครั้ง คือเรื่องแอบอ้างเบื้องสูง

ประยุทธ์  อภิปรายไม่ไว้วางใจ สภา 5C16A38E-723B-4034-8758-9D3F439618E4.jpeg

“ยืนยันไม่ยุบสภา เรากำลังทำงานหนักอยู่ ทำงานสำคัญ เราจะยุบสภาได้อย่างไร เรื่องที่ 2 การแอบอ้างเบื้องสูงว่าจะมีการเปลี่ยนตัวนายกฯ ถือว่าผิดอย่างร้ายแรง ผมคนเดียวเท่านั้นที่มีโอกาสถวายข้อราชการ คนอื่นไม่มี ชัดเจนไหม” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

“ไปปล่อยข่าวว่านายกฯจะยุบสภา ต้องเอานายกฯออก อันนี้คือข่าว เรื่อง 2 มีเปลี่ยนแปลงมาไม่เอานายกฯแล้ว ปัดโธ่เรื่องแบบนี้ อย่าไปฟังเลยใครเชื่อก็โง่แหละ โง่จริงๆ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ด้าน ร.อ.ธรรมนัส ชี้แจงข่าวถูกโยงคำพูด พล.อ.ประยุทธ์ ว่าแอบอ้างสถาบัน เพียงสั้นๆว่า “อย่าถามเรื่องประเด็นนี้ การเมืองเราต้องแยกให้ชัดเจน การเมืองคือการเมือง อย่าดึงสถาบันเข้ามาเล่น"

อย่างไรก็ตาม ร.อ.ธรรมนัส ยังมีวาทะเชือดเฉือนไปถึง ‘พวกไอ้ห้อยไอ้โหน’ เต้าข่าวขบวนการล้มนายกฯด้วยว่า “ขบวนการมีหรือไม่มีต้องไปถามคนเต้าข่าวว่าต้องการอะไรแน่ คนเต้าข่าวไม่ใช่ฝ่ายค้าน พรรคฝ่ายรัฐบาล ไอ้ห้อยไอ้โหนทั้งหลาย ชอบเลียแข้งเลียขา สำเหนียกซะบ้าง ผมรู้หมดแล้ว บางคนบันทึกเทปไว้หมดแล้ว ระวัง เดี๋ยวเจอกัน” ก่อนจบท้ายว่า “ผมเป็นคนแบบนี้ จำนาน และจำดี แต่ไม่ใช่การแก้แค้น ถ้าคนเหล่านั้นไม่แก้ไขก็ถูกประชาชนลงโทษเอง และบอกได้เลยว่าถ้ายังเป็นแกนนำพรรค พปชร. ส.ส.ที่เป็นไอ้ห้อยไอ้โหนทั้งหลาย สมัยหน้าไม่ได้ลงหรอก”

ประวิตร พลังประชารัฐ อาญาสิทธิ์ นครศรีธรรมราช ปราศรัย หาเสียง ธรรมนัส 693.jpg

จึงทำให้เกิดคำถามว่า ‘ไอ้ห้อยไอ้โหน’ ที่ว่านี้คือใคร แต่ก็มองกันว่าไม่พ้นคนใน พปชร. ด้วยกันเอง ที่อยู่ขั้วตรงข้าม ร.อ.ธรรมนัส กับคนที่ย้ายขั้วไปซบอก นายกฯ แทน แต่ที่ถูกโฟกัสอีกคือที่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า “เคยได้ยินผมบ่นหรือแหกปากสักคำหรือไม่ เพราะไม่ใช่สัตว์ประเภทที่เหยียบหางหน่อยแล้วมาแหกปาก” จึงถูกวิจารณ์ว่าต้องการสื่อสารถึงใคร 

ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ดุเดือดไม่แพ้กัน เตรียมเช็คบิลคนอยู่เบื้องหลังขบวนการล้มนายกฯ ว่า “วันนี้ผมไม่ทราบว่ามีจริงหรือเปล่า มีกระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่ผมก็ขอร้องตรงนี้ ว่าการทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ทำสิ่งที่ไม่ดี มันก็เป็นเรื่องของกรรม อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง วันหน้าถ้าผมดูแล้วมันใช่มันจริง แล้วผมจะทำอะไรได้บ้าง”

ประวิตร ประยุทธ์ สภา อภิปรายไม่ไว้วางใจ  856F03D382.jpeg

ในเวลานี้เองผู้ที่เปรียบเป็น ‘มือเคลียร์’ ก็คือ พล.อ.ประวิตร ซึ่งทั้งคู่ต่างเป็น ‘น้อง’ โดยคนที่อยู่ใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร ก็เชื่อว่าด้วยความเป็น ‘ผู้ใหญ่’ จะสามารถทำให้เหตุการณ์ผ่านไปได้

แต่สิ่งที่ผิดปกติคือ พล.อ.ประวิตร มีท่าที ‘นิ่งเงียบ’ กว่าปกติ ที่ผ่านมาแม้ว่าจะเกิดเรื่อง ‘รอยร้าว’ มากแค่ไหน ก็ไม่เคยนิ่งเงียบขนาดนี้ แต่อาจด้วยไม่ได้พบสื่อ จึงไม่เป็นข่าวมากนัก

แต่มีรายงานว่า พล.อ.ประวิตร ยังคงเข้าสภาตามปกติ โดยมีแกนนำ พปชร. และ ส.ส. มาเข้าพบ แม้แต่ ร.อ.ธรรมนัส เองก็ยอมรับว่า ยังคงพูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร และทานข้าวด้วยกันประจำ ซึ่งเรื่องนี้เอง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ตอบสื่อทำนองเดียวกันว่า “เขาคุยกับพี่ป้อม หัวหน้าพรรคเขา เป็นเรื่องหัวหน้าพรรคเขาดูแล”

ที่สำคัญทั้งฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์ และ ร.อ.ธรรมนัส ก็มี ‘ทุนการเมือง’ เป็นของตัวเอง ที่แบ่งเป็น ‘ทุนใหม่-ทุนเก่า’ ของการเมืองบ้านเรา

แต่ที่น่าจับตาคือ ‘กลุ่มสามมิตร’ ที่ช่วงนี้ก็นิ่งเงียบไป แม้ก่อนหน้านี้ ‘อนุชา นาคาศัย’ จะต้องหลุดจากเก้าอี้ ‘เลขาธิการ พปชร.’ แต่ก็นิ่งเงียบผิดสังเกตุ จึงถูกมองว่าอาจซุ่มดูจังหวะทางการเมืองอยู่หรือไม่

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการที่ นายกฯ เลือก ‘ธนกร วังบุญคงชนะ’ ขึ้นเป็น ‘โฆษกรัฐบาล’ ซึ่ง ‘ธนกร’ ได้ชื่อว่าเป็น ‘ศิษย์ก้นกุฏิ’ ของ ‘กลุ่มสามมิตร’ มาจาก ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ ตั้งแต่สมัยทำพรรคมัชฌิมาฯ

วิสาร สภา อภิปรายไม่ไว้วางใจ  CFBDDF6F-2FF0-4989-9850-923E1589E67E.jpeg

อย่างไรก็ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงทำให้สภาฝุ่นตลบที่ชั้น 2-3 หลัง ‘วิสาร เตชะธีราวัฒน์’ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นแฉกลางสภาว่า นายกฯ แจกเงินให้ ส.ส. 5 ล้านบาท เพื่อล็อบบี้โหวตในสภาด้วย

ทำให้เกิดการประท้วงกลางสภา โดยในช่วงค่ำ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ชี้แจงสั้นๆ ว่า “ผมไม่ตอบอะไร ที่กล่าวอ้าง ว่ามีคนพบผม ผมไม่ใช่คนแบบนั้น คนเขามาทักทาย คารวะ เป็นกำลังใจ เพราะไม่ได้เจอกัน ตนไม่ทำถุงขนม ไม่ทำบ้าบอแบบนั้น” เมื่อ นายกฯ กำลังเดินทางออกจากสภา ได้ตอบคำถามสื่อด้วยเสียงหัวเราะในลำคอแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน พร้อมกล่าวว่า “พูดในสภาก็พูดไป ผมคุยกับท่านชวนแล้ว ท่านบอกไม่มีหรอก ท่านบอกตรวจสอบจากกล้องวงจรปิดแล้ว ไม่มีใครทำหรอก ทำไม่ได้”

จึงต้องจับตาว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้เตรียม ‘แผนสำรอง’ เพื่อรับมือหรือไม่

ทั้งนี้มีรายงานข่าวลงว่าเมื่อ 1ก.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้ร่วมพูดคุยกับ ‘วิรัช รัตนเศรษฐ’รองหัวหน้า พปชร.-ประธานวิปรัฐบาล ‘สุชาติ ชมกลิ่น’รมว.แรงงาน และมี ส.ว.บางคน ร่วมด้วย ต่อมามี ส.ว.บางราย ออกมาให้ข่าว มีขบวนการเคลื่อนไหวล้มนายกฯ จริง เพื่อหวังเปลี่ยนขั้วการเมือง แต่ ส.ว.คนดังกล่าว เชื่อว่าจะทำไม่สำเร็จ พร้อมระบุว่า นายกฯ มีข้อมูลของคนร่วมขบวนการดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ตาม ร.อ.ธรรมนัส ก็ไม่ได้ “รับประกัน” ในเรื่องการโหวตรับรองนายกฯ แม้ว่าตัวเองจะเป็นเลขาธิการ พปชร. ก็ตาม โดยระบุว่า เป็นเอกสิทธิ์ ส.ส. ในการโหวต ครอบงำไม่ได้ และ ส.ส. ผ่านอะไรมาเยอะ ก่อนเป็น ส.ส. ต้องมีองค์ความรู้-ประสบการณ์ชีวิต ประชาชนจะเลือกหรือไม่ อยู่ที่พฤติกรรมด้วย

นอกจากนี้ ร.อ.ธรรมนัส ยังตอบคำถาม‪สื่อที่ถามกระแสข่าวต่างๆ‬ที่เกิดขึ้นรุนแรงกับตัวเองหรือไม่ ‬ ว่า ‪“ผมผ่านความเป็นความตายมามากพอแล้วในชีวิต ดังนั้นหนทางที่ก้าวไปข้างหน้า มันจะมีหลุมมีบ่อมีเหว เราก็ต้องเตรียมพร้อม”‬ 

สุดท้าย ‘บทสรุป’ มหากาพย์ ‘น้องรักหักเหลี่ยมโหด’ จะจบอย่างไร

ช็อตแรก คือวันลงมติ 4ก.ย.นี้ ที่หากจะใช้เสียงล้มนายกฯ จะต้องยืมมือ ส.ส.ฝั่งรัฐบาลราว 30 คน เพราะตอนนี้เสียงกึ่งหนึ่งอยู่ที่ 241 เสียง

และที่ผ่านมาโดยเฉลี่ย นายกฯได้เสียงไว้วางใจที่ 272 เสียง ดังนั้น สถานการณ์เช่นนี้จึงเรียกได้ว่า ‘แตกหัก’ กันแล้ว

งานนี้ย่อมมี ‘คนอยู่-คนไป’ แน่นอน หรือสุดท้ายแล้วจะเอากันแค่ ‘สั่งสอน’ เท่านั้น แต่การ ‘เช็คบิลคืนทางการเมือง’ ย่อมมาอีกยาว สิ่งที่ชัดเจนจากนี้คือ ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และเข็มทิศทางการเมืองของ ‘3ป.’ ย่อมเปลี่ยนไปด้วยนั่นเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog