ไม่พบผลการค้นหา
ศึกซักฟอกรัฐมนตรี 2 รอบแรกในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ฝ่ายค้านจะแพ้โหวตในทุกครั้งที่ยื่นญัตติ และส่งผลให้ 'ประยุทธ์' ยังคงครองอำนาจอยู่ในเก้าอี้นายกฯได้ แต่ศึกซักฟอกหนที่ 3 ครั้งคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ 'ประยุทธ์' จะได้รับเสียงไว้วางใจอย่างท่วมท้นเหมือนเช่นทุกครั้ง

ย้อนไปเมื่อศึกอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลครั้งแรก ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 ก.พ. 63 และลงมติในวันที่ 27 ก.พ. 2563  

การลงมติไม่ไว้วางใจครั้งนั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านยกเว้น ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ ประกาศไม่ร่วมลงมติ เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านมองว่าถูกตัดสิทธิการอภิปราย จึงไม่ใช้สิทธิลงมติ ทำให้มี ส.ส.จากอดีตพรรคอนาคตใหม่เท่านั้นที่ลงมติในครั้งนั้น

โดยผลการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล จำนวน 6 ราย รอดพ้นจากการถูกลงมติให้พ้นตำแหน่ง ประกอบด้วย  

1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ไม่ไว้วางใจ 49 ไว้วางใจ 272 งดออกเสียง 2

2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไม่ไว้วางใจ 50 ไว้วางใจ 277 งดออกเสียง 2

3.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไม่ไว้วางใจ 54 ไว้วางใจ 272 งดออกเสียง 2

4.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ไม่ไว้วางใจ 54 ไว้วางใจ 272 งดออกเสียง 2

5.ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ไม่ไว้วางใจ 55 ไว้วางใจ 272 งดออกเสียง 2

6.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ไม่ไว้วางใจ 55 ไว้วางใจ 269 งดออกเสียง 7

ร.อ.ธรรมนัส ได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจน้อยที่สุด และยังได้รับเสียงไม่ไว้วางใจมากที่สุด เท่ากับ ดอน ปรมัตถ์วินัย จำนวน 55 เสียง

ธรรมนัส อภิปรายไม่ไว้วางใจ

ถัดจากนั้นมี 1 ปี ฝ่ายค้านเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ครั้งที่สองในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ. 2564 และลงมติเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2564 โดยผลการลงมติในครั้งนั้น มีรัฐมนตรีที่ถูกซักฟอก จำนวน 10 คน ผลปรากฏว่า

1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีคะแนนไว้วางใจ 272 ต่อ 206 งดออกเสียง 3

2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีคะแนนไว้วางใจ 274 ต่อ 204 งดออกเสียง 4

3.อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีคะแนนไว้วางใจ 275 ต่อ 201 งดออกเสียง 6

4.จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีคะแนนไว้วางใจ 268 ต่อ 207 งดออกเสียง 7

5.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีคะแนนไว้วางใจ 272 ต่อ 205 งดออกเสียง 3

6.ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีคะแนนไว้วางใจ 258 ต่อ 215 งดออกเสียง 8

7.สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีคะแนนไว้วางใจ 263 ต่อ 212 งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนน 1

8.ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีคะแนนไว้วางใจ 268 ต่อ 201 งดออกเสียง 12 ไม่ลงคะแนน 1

9.นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มีคะแนนไว้วางใจ 272 ต่อ 206 งดออกเสียง 4

10.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีคะแนนไว้วางใจ 274 ต่อ 199 งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนน 1

ผลการลงมติครั้งนั้น อนุทิน ได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจมากที่สุด 275 เสียง ขณะที่ ณัฏฐพุล ทีปสุวรรณ ได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจน้อยที่สุด 258 เสียง

ประยุทธ์ อนุทิน สภา ประชุมสภา

พรรคฝ่ายค้านเสนอญัตติซักฟอกในครั้งแรกโดยเน้นพุ่งเป้าลดทอนความน่าเชื่อถือ พล.อ.ประยุทธ์  

โดยชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้ไม่ยึดมั่นและศรัทธาต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

  • ล้มล้างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ 
  • กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไป ตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 
  • ใช้อำนาจที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรม ละเมิดหลักนิติธรรมและสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างกว้างขวาง 
  • เป็นผู้นำประเทศที่กร่างเถื่อน มองคนเห็นต่างเป็นศัตรู ปิดปากผู้ที่มีความเห็นต่าง ชอบก่นด่าเมื่อถูกซักถาม 

"การบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งผลกระทบและเกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างกว้างขวาง เป็นยุคที่ทุจริตเฟื่องฟู น้ำกำลังจะหมดเขื่อน มวลอากาศเป็นพิษเต็มเมือง เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง หากปล่อยให้บริหารราชการแผ่นดินต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงจนประเทศถึงแก่ความล่มจมได้" สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวในญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2563 

แม้ฝ่ายค้านจะเน้นชำแหละไปที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ แต่ทว่าผลการลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ได้คะแนนเสียงไม่ไว้วางใจ 49 เสียง ไว้วางใจ 272 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ครั้งที่สอง พรรคฝ่ายค้านยังคงกางข้อกล่าวหาอันดุเดือดโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ โดยชำแหละข้อกล่าวหาเป็นข้อๆ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องอย่างร้ายแรง ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ภูมิปัญญา ไร้ความสามารถ ไร้คุณธรรม จริยธรรม ไร้ภาวะผู้นำ ไร้จิตสำนึกและความรับผิดชอบ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

  • มีพฤติการณ์ฉ้อฉล ทุจริต ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเพื่อสร้างความร่ำรวย มั่งคั่งให้กับตนเองและพวกพ้อง 
  • การระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้สภาพเศรษฐกิจดิ่งเหว ทั้งหมดเกิดจากการบริหารที่ผิดพลาดของตนเอง
  • มีการใช้อำนาจแลกผลประโยชน์ทำให้การทุจริตแพร่กระจายไม่ต่างจากโรคระบาด จนได้ชื่อว่าเป็นยุคที่การทุจริตเฟื่องฟู เบ่งบานมากที่สุด 
  • ไม่รักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ มุ่งประโยชน์แต่การสร้างความนิยมชมชอบให้กับตนเอง โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน 
  • กระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ สร้างความแตกแยกในสังคม ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์และทำลายผู้เห็นต่าง ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชน
  • ปล่อยปละละเลยให้มีบ่อนการพนันกระจายไปทั่ว 
  • ไม่ยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำลายและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย 
  • ทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน นำสถาบันเป็นข้ออ้างเพื่อแบ่งแยกประชาชน แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะปิดบังความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของตนเอง

"การบริหารราชการแผ่นดินของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม และกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง" สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเปิดญัตติ เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2564

สมพงษ์ อภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐสภา .jpeg

​​ปิดฉากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในครั้งนั้น ผลการลงคะแนนเสียงของสภา พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับคะแนนเสียงไว้วางใจ 272 เสียง ไม่ไว้วางใจ 206 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง

สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ครั้งที่ 3 จะเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 31 ส.ค.- 3 ก.ย. 2564 และลงมติในวันที่ 4 ก.ย. 2564 ฝ่ายค้านเน้นถล่มรัฐมนตรี 6 คน ประกอบด้วย

1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม

2.อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี แล รมว.สาธารณสุข

3.สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน

4.ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

5.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์

6.ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

พิธา ชวน สมพงษ์ ฝ่ายค้าน  ก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ 4079-AA99-A3B90A67451D.jpeg

มีรายงานว่า ส.ส.ฝ่ายค้านมีคิวจะขึ้นอภิปรายถล่มตัว พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต่ำกว่า 30 คน ซึ่งคาดว่าจะกินเวลาอภิปรายในที่ประชุมสภาฯ ไปถึง 3 วันเป็นอย่างต่ำ

รวมทั้งจะชำแหละเน้นไปที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ด้วย ในข้อกล่าวหาที่ปล่อยปละละเลยจนทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จนทำให้ประเทศไทยมียอดผู้ติดเชื้อสะสมพุ่งเกิน 1 ล้านกว่าคน และเสียชีวิตสะสมพุ่งเกินกว่า 1 หมื่นราย

ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ฝ่ายค้านได้ชี้้ข้อกล่าวหาว่า "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวกพ้อง ไม่ยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนโดยส่วนรวมเป็นที่ตั้ง “ใจดำ” ทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน ไม่เห็นใจในความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน และจากความโอหังและการเสพติดในอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในสภาพของคน เป็นโรค “โอหังคลั่งอำนาจ” (Hubris Syndrome) ไม่อยู่ในภาวะที่จะเป็นผู้นำประเทศได้อีกต่อไป"

"หากปล่อยให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารราชการแผ่นดินต่อไปจะทำให้ประชาชนติดเชื้อและเสียชีวิตมากยิ่งขึ้นจนไม่สามารถที่จะหาสถานที่ฌาปนกิจได้ทันและเพียงพอ และไม่มีหนทางที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ ประชาชนจะต้องทนทุกข์ทรมาน ทั้งจากโรคและการดำรงชีวิต บ้านเมืองจะไร้ซึ่งความสงบสุขร่มเย็น อันจะนำมาซึ่งความหายนของประเทศชาติอย่างแท้จริงตามที่มีการกล่าวกันว่า “ผู้นำโง่ เราจะตายกันหมด” เพราะคนโง่คือภัยอันตรายร้ายแรงเมื่อได้กลายเป็นผู้มีอำนาจ"

เอกภพ อนุทิน อภิปรายไม่ไว้วางใจ สภา 210219_40.jpgเอกภพ ก้าวไกล ภูมิใจไทย รัฐสภา 608.jpg

ตรวจสอบเสียง ส.ส.เท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ในปัจจุบันสภาฯ มี ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ 482 คน แบ่งเป็น ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 270 เสียง ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน 212 เสียง

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 151 กำหนดในวรรคสี่ ว่า "มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร"

เมื่อมีการเสนอญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลแล้ว จะมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติหรือการลงมติไม่ไว้วางใจไม่ได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง

เมื่อคิดจาก ส.ส.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร 482 คน รัฐมนตรีทั้ง 6 คนที่ถูกขึ้นเขียงในสภาฯ จะต้องมีคะแนนเสียงไว้วางใจมากกว่า 241 เสียง ถึงจะรอดพ้นการหลุดเก้าอี้ รมต.

หากดูผลการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีใน 2 ครั้งแรกแล้วจะพบว่าแต่ละบุคคลจะมีเสียงไว้วางใจเกินกว่า 270 เสียงเป็นส่วนใหญ่

ยิ่งรัฐบาลได้เสียง ส.ส.งูเห่าจากพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งมีแน่นอนแล้ว 4 เสียงจากพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย งูเห่า 4 เสียง ขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี คารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย และ เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย ที่พร้อมโหวตไว้วางใจให้รัฐมนตรีในซีกรัฐบาลโดยเฉพาะ 'อนุทิน ชาญวีรกูล' และ 'ศักดิ์สยาม ชิดชอบ' รมว.คมนาคม 

เสียงของพรรคภูมิใจไทยและ ส.ส.งูเห่าจากพรรคก้าวไกลน่าจะหนุนส่งให้ 'อนุทิน' ได้คะแนนเสียงไว้วางใจมากกว่า พล.อ.ประยุทธ์ อีกครั้ง

และยังไม่นับอาการของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ บางคนในซีกของก๊วน 'อันวาร์ สาและ' ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่เห็นด้วยกับการอยู่ในตำแหน่งต่อของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยไม่สนเสียงเรียกร้องของภาคประชาชนอกสภาฯ

นอกจากนั้นยังเสียงที่พร้อมไม่ปฏิบัติตามมติพรรคฝ่ายค้านแน่นอน คือ พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี พรรคเพื่อไทย อนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ

ทำให้พรรคฝ่ายค้านจะมี ส.ส.ที่จะโหวตไม่ไว้วางใจไม่น่าจะเกิน 206 เสียง ซึ่งไม่มีเสียงมากพอที่จะโหวตถึงมติกึ่งหนึ่งของสภาฯ 241 เสียง

ฟันธง นาทีนี้ ไม่ว่าจะโหวตยังไง ฝ่ายค้านก็โหวตแพ้กลางสภาฯ เหมือน 2 ครั้งแรก

ศึกซักฟอกหนที่สามครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องทำทุกวิถีทางให้ตัวเองไม่ตกเป็นรัฐมนตรีที่ได้เสียงไว้วางใจน้อยที่สุด 

เพราะหาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้คะแนนเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลน้อย ก็จะยิ่งส่งผลสะเทือนต่อการบริหารราชการแผ่นดินมากยิ่งขึ้น และยังสะท้อนถึงความไม่ไว้วางใจกันในหมู่พรรคร่วมรัฐบาลด้วย

เวทีศึกซักฟอกครั้งนี้ แน่นอนฝ่ายค้านต้องเล่นเกมทำลายความเชื่อมั่นตัว พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้เวลาการบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ประยุทธ์ มีเวลาเหลือน้อยลงทุกที รวมทั้งต้องเร้ากระแสขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ นอกสภาฯ ให้สะสมความไม่พอใจมากยิ่งขึ้น

ประยุทธ์ สภา อภิปรายไม่ไว้วางใจ ลงมติ คณะรัฐมนตรี 85A9-C0363F25AEC0.jpeg
  • พรรคร่วมรัฐบาล มี ส.ส. 270 คน

พลังประชารัฐ 119 เสียง (ไม่นับ ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม.​พรรคพลังประชารัฐ ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.)

ภูมิใจไทย 61 เสียง

ประชาธิปัตย์ 48 เสียง (ไม่นับ อิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ ถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา ชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร หยุดปฏิบัติหน้าที่)

ชาติไทยพัฒนา 12 เสียง

รวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง

พลังท้องถิ่นไท 5 เสียง

เศรษฐกิจใหม่ 5 เสียง

ชาติพัฒนา 4 เสียง

รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง

พลังชาติไทย 1 เสียง

ประชาภิวัฒน์ 1 เสียง

พลังไทยรักไทย 1 เสียง

ครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง

พลเมืองไทย 1 เสียง

ประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง

พลังธรรมใหม่ 1 เสียง

ประชาธรรมไทย 1 เสียง

ไทรักธรรม 1 เสียง

  • พรรคร่วมฝ่ายค้าน ส.ส. 212 คน (ไม่นับงูเห่า เหลือ206 เสียง)

เพื่อไทย 134 เสียง (งูเห่า 1 เสียง พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี พรรคเพื่อไทย )

ก้าวไกล 53 เสียง (งูเห่า 4 เสียง ขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี คารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย และ เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย)

เสรีรวมไทย 10 เสียง

ประชาชาติ 7 เสียง (งูเห่า 1 เสียง อนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี)

เพื่อชาติ 5 เสียง

พลังปวงชนไทย 1 เสียง

เศรษฐกิจใหม่ 1 เสียง (มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ)  

ไทยศรีวิไลย์ 1 เสียง (มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ)  

ส.ส.ฝ่ายค้าน 6 คนที่คาดว่าไม่ปฏิบัติตามมติพรรคของตัวเอง ประกอบด้วย พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี พรรคเพื่อไทย 

4 ส.ส.พรรคก้าวไกล ขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี คารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พีรเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย และ เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย 

พรรคประชาชาติ 1 คน คือ อนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง