ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่าย WE FAIR เตรียมเดินสายพบพรรคการเมืองนำเสนอร่างระบบรัฐสวัสดิการ 7 ด้าน

เครือข่าย WE FAIR, เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม ร่วมกับ โครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการสังคม และสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ หรือ คคสส. จัดเวที 'We fair Welfare เราสนับสนุนรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า' 

นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้จัดการโครงการ คคสส.ระบุว่าไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงอันดับต้นๆ ของโลก ที่สำคัญคนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและถูกทดแทนด้วยระบบสังคมสงเคราะห์ โดยเสนอว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมต้องใช้ระบบรัฐสวัสดิการ

ซึ่งข้อเสนอที่สำคัญคือการปฏิรูประบบภาษีในส่วนต่างๆ ในอัตราก้าวหน้า รวมถึงการปรับลดงบประมาณกระทรวงกลาโหมลง ก็จะได้เม็ดเงินมหาศาล มาสร้างระบบสวัสดิการทั้ง 7 ด้าน ประกอบด้วย การศึกษา, พยาบาล, ที่อยู่อาศัยและที่ดิน, งาน รายได้และประกันสังคม, ระบบบำนาญแห่งชาติ, สิทธิทางสังคมและพหุวัฒนธรรม และสุดท้ายคือการปฏิรูประบบภาษี 

ด้าน นายนิมิต เทียนอุดม แกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันระบบสุขภาพ กล่าวถึงข้อเสนอรัฐสวัสดิการ ด้านสุขภาพและระบบบำนาญ ที่สำคัญคือ ต้องมีกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระบบเดียวที่มีคุณภาพสูง งบประมาณ 8,000 - 8,500 บาทต่อคนต่อปี โดยการรวมกองทุนจากระบบหลักประกันสุขภาพ, ระบบประกันสังคมและระบบราชการ ซึ่งจะลดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาล ใช้งบประมาณ 467,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 311,000 ล้านบาท แต่จะได้รับงบประมาณเพิ่มเติมจากการเกลี่ยงบประมาณส่วนราชการประมาณ 60,000 ล้านบาท 

นายนิมิต กล่าวด้วยว่า ถ้าไม่รวมกองทุน 3 ส่วนเข้าด้วยกัน ในอนาคตเงินในหลักประกันสุขภาพจะถูกดูดไปใช้ในการรักษาข้าราชการ ข้อมูลจากปี 2550 ต้นมา รัฐไม่เคยคุมค่าใช้จ่ายของราชการและครอบครัวได้ เพิ่มจาก 20,000 ล้านบาทเป็น 80,000 ล้านบาทในปัจจุบัน เพราะจ่ายแบบปลายเปิด โรงพยาบาลเบิกได้ตามต้องการ และต่อไปคนที่จะได้รักษาฟรี คือ คนจนหรือผู้ยากไร้ตามนิยามรัฐเท่านั้น คนชั้นกลางต้องร่วมจ่ายตามสัดส่วน ขณะที่บริษัทประกันภัยเอกชนจะเข้ามาแสวงกำไรจากระบบสุขภาพ 

นางสาวนุชนาถ แท่นทอง แกนนำเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวถึงข้อเสนอรัฐสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัยและที่ดิน ที่สำคัญคือ การเข้าถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยดอกเบี้ยสูงสุดร้อยละ 2 ต่อปี, มีที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนในพื้นที่ตำบลละไม่น้อยกว่า 1,000 ห้อง ผู้อยู่อาศัยในโครงการรัฐสามารถเบิกค่าเช่าจากประกันสังคมรวมถึงค่าไฟฟ้าพื้นฐานไม่เกิน 1,000 บาท ต่อ 35 ตารางเมตร จัดเก็บโดย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

นอกจากนี้ ครัวเรือนเกษตรกรต้องเข้าถึงที่ทำกิน 15 ไร่ต่อครอบครัวและต้องมีการกระจายการถือครองที่ดินด้วยระบบภาษีอัตราก้าวหน้า, ธนาคารที่ดินและการปฏิรูปที่ดิน 

ส่วน นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ กล่าวถึงข้อเสนอรัฐสวัสดิการด้านงาน, รายได้และประกันสังคมว่า ค่าจ้างขั้นต่ำตามดัชนีผู้บริโภคต้องเป็น 500 บาทต่อวันปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ, ค่าจ้างแรงงานให้เป็นไปตามอายุงานเพิ่มขึ้นปีละ 2%, ปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นระบบประกันสังคมทั่วหน้าและขยายเพดานสมทบเงินประกันสังคมสูงสุดประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ

นายเจษฎา แต้สมบัติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน เสนอรัฐสวัสดิการ ด้านสิทธิทางสังคม พหุวัฒนธรรม โดยให้เพิ่มเบี้ยยังชีพคนพิการเป็น 3,000 บาทต่อเดือน, มีอิสระในการจัดซื้ออุปกรณ์เองตามวงเงินที่รัฐจัดให้, มีเงินสนับสนุนฝึกอบรมอาชีพคนพิการโดยเสรีไม่จำกัดเฉพาะที่รัฐกำหนดเท่านั้น ที่สำคัญคือ การผ่าตัดเปลี่ยนเพศ, ศัลยกรรมทรวงอก, การใช้ฮอร์โมนเพศและยาต้านฮอร์โมนเพศ ต้องไม่ถือว่าเป็นเรื่องความสวยงาม แต่เป็นสิทธิการรักษาพยาบาลอยู่ในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยสามารถลางานเพื่อเข้าสู่กระบวนการข้ามเพศได้โดยได้รับค่าจ้างตามปกติ

นอกจากนี้ พนักงานบริการทางเพศต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการ และต้องทบทวนกฎหมายค้าประเวณีที่เป็นอุปสรรคด้วย ขณะที่ชนเผ่าพื้นเมืองต้องเข้าถึงรัฐสวัสดิการ ไม่เฉพาะที่มีสัญชาติไทย พร้อมกันนี้เรียกร้องให้ยกเลิกหลักสูตรการเรียนการสอนและการนำเสนอเนื้อหาของข่าวสาร, ละครภาพยนตร์ที่สร้างภาพประทับจำแก่กลุ่มทางสังคม ซึ่งทำให้เกิดอคติความเกลียดชังเหยียดเชื้อชาติและเพศสภาพ รสมถึงสถานะทางชนชั้น

นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสนอรัฐสวัสดิการ ด้านการศึกษา และการปฏิรูประบบภาษีว่า เงินสนับสนุนเด็กและเยาวชนถ้วนหน้าตั้งแต่แรกเกิดถึง 18 ปี และช่วงเรียนมหาวิทยาลัย จำนวน 3,000 บาทต่อเดือน มีศูนย์รับเลี้ยงดูเด็กอายุแรกเกิดถึง 3 ขวบงบประมาณรายหัว รายละ 10,000 บาทต่อปี, พัฒนามาตรฐานกลางการศึกษา งบประมาณรายหัว 16,000 บาทต่อคนต่อปี โดยผู้ได้รับประโยชน์โดยตรง ตั้งแต่แรกเกิดถึง 18 ปีประมาณ 15 ล้านคน การศึกษาภาคบังคับ 1,800,000 คน รวมทั้งสิ้นราว 17 ล้านคนหรือประมาณร้อยละ 25 ของประชากรทั้งประเทศ

นายเดชรัต ย้ำถึงคนมีรายได้น้อยส่งผลต่อโอกาสด้านอื่นๆด้วย นับแต่โอกาสที่แม่จะมีเวลาให้นมลูก, การทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว น้อยกว่าผู้มีฐานะดี 2-3 เท่า ตลอดจนการเข้าถึงการศึกษาและอื่นๆ ที่สำคัญคือการส่งผ่านความเหลื่อมล้ำ หรือ ความจนข้ามรุ่น ซึ่งคนที่เกิดมาในครอบครัวยากจนมีแนวโน้มสูงมากที่จะอยู่ในฐานะยากจนต่อไปตลอดชีวิตตกสู่รุ่นลูกหลานด้วย

โดยช่วงท้ายมีการแถลงกิจกรรมการเดินทางไปพบพรรคการเมือง เพื่อนำเสนอนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่งวันที่ 18 ธ.ค. จะไปที่พรรคสามัญชน, พรรคอนาคตใหม่ และพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย วันที่ 19 ธ.ค. ไปพรรคคนธรรมดา, พรรคภูมิใจไทย วันที่ 20 ธ.ค. ไปพรรคประชาชาติ, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคชาติพัฒนาและพรรคเกียน วันที่ 21 ธ.ค. พรรคประชาธิปัตย์ โดยยังรอการตอบรับจากพรรคเพื่อไทย, พรรคไทยรักษาชาติและพักเกียนอยู่ในขณะนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :