ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการ แนะรัฐบาลยังไม่คิดเรื่องรัฐสวัสดิการให้เป็นระบบ พร้อมย้ำว่าระบบรัฐสวัสดิการจะเกิดได้ หากรัฐบาลไม่ใช้งบประมาณฟุ่มเฟือย เช่น ซื้อเรือดำน้ำ และต้องเร่งปฏิรูปภาษี

ศาสตราจารย์ ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมงานเสวนาเชิงปฏิบัติการ 'รัฐสวัสดิการสู่สังคมไทยเสมอหน้า' ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโดยเครือข่าย 'WE FAIR' ระบุว่า ปัจจุบันแม้ไทยจะมีระบบรัฐสวัสดิการแล้วบางส่วน แต่วิธีคิดยังไม่เป็นระบบหรือเป็นเพียงการแจกเงินเพื่อการกุศลเท่านั้น เช่น การเติมเงินลงไปในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 500 บาทต่อเดือน โดยส่วนตัวมองว่าหากรัฐไม่ฟุ่มเฟือย เช่น การซื้อเรือดำน้ำ และแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ ประเทศไทยจะมีระบบรัฐสวัสดิการที่ดีเต็มรูปแบบได้ ขณะเดียวกันจะต้องมีการปฏิรูประบบภาษี เพราะธนาคารโลกประเมินว่าหากไทยสามารถอุดช่องโหว่ทางภาษี โดยเฉพาะภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ ประเทศจะมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5 ของจีดีพี จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 ของจีดีพี

ศาสตราจารย์ผาสุก ยังมองว่า ขณะนี้นโยบายของพรรคการเมืองที่นำเสนอเพื่อเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.นี้ ยังหยิบยกประเด็นในเรื่องของระบบรัฐสวัสดิการไม่เพียงพอ ซึ่งเชื่อว่าเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองในการขับเคลื่อนระบบรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้น

เดชรัต-สุขกำเนิด.jpg

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องปฏิรูประบบภาษี โดยเฉพาะภาษีทางตรงที่เกิดจากฐานรายได้และทรัพย์สิน ทั้งภาษีเงินได้ และภาษีมรดก เพราะปัจจุบันชนชั้นล่างมีการเสียภาษีทางอ้อม ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิต สูงถึงร้อยละ 7 ของรายได้ ในขณะที่ชนชั้นกลางเสียภาษีเพียงร้อยละ 3 ของรายได้เท่านั้น ดังนั้นรัฐจึงต้องทำให้เกิดการปฏิรูปภาษีโดยเร็วเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงต้องลดสัดส่วนการใช้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับส่วนข้าราชการเมื่อเทียบกับภาคประชาชนในสัดส่วนร้อยละ 60 ต่อ 40 

ทั้งนี้ ดร. เดชรัต มองว่าพรรคการเมืองมีส่วนสำคัญที่จะสามารถขับเคลื่อนนโนบายต่างๆได้ แต่หลายพรรคไม่กล้านำเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องเพราะกลัวเสียคะแนนนิยม

ดร.เดชรัต ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือต้องเปลี่ยนแนวคิดของคนชั้นกลางว่าการปฏิรูปภาษี ไม่ใช่การเก็บภาษีของคนกลุ่มหนึ่งไปจ่ายอุดหนุนคนกลุ่มเดียวเท่านั้น แต่ให้มองว่าเป็นการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงในประเทศเช่นเดียวกับในประเทศที่พัฒนาแล้ว