ไม่พบผลการค้นหา
วัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย ตั้งโต๊ะแถลงข่าวพร้อมทนายความ หลัง ป.ป.ช. มีหนังสือเรียกให้ไปพบอัยการสูงสุด เพื่อนำตัวส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีโครงการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทร วันที่ 9 พ.ค. นี้

นายวัฒนา ระบุว่า 'คดีนี้เริ่มต้นจากรัฐประหาร และลงท้ายในยุครัฐประหาร' พร้อมย้อนให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องกับคดีนี้ เมื่อครั้งเข้ามารับช่วงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่า ในปี 2548 มีการปรับปรุงร่างขอบเขตงานว่าจ้าง(ทีโออาร์) เพื่อให้การก่อสร้างรวดเร็ว แล้วเสร็จภายใน 4 ปีตามเวลาที่กำหนดไว้ โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารการเคหะแห่งชาติก็เห็นชอบด้วย จึงเดินหน้าโครงการไป โดยไม่เคยมีปัญหาร้องเรียนเรื่องความโปร่งใส

แต่เมื่อมีการรัฐประหาร ปี 2549 มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) ขึ้นมาตรวจสอบโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งโครงการบ้านเอื้ออาทร ถูกตั้งข้อกล่าวหา 3 ข้อ คือ 1. ทีโออาร์ใหม่เอื้อประโยชน์เอกชน 2. มีการ 'เรียกรับประโยชน์' และ 3. มีการ 'รับประโยชน์' โดยทราบว่า การไต่สวนขณะนั้น มีการข่มขู่ผู้เข้ารับการไต่สวนว่า หากให้ความร่วมมือ จะกันไว้เป็นพยาน แต่หากไม่ให้ความร่วมมือจะตกเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา

จากนั้น ปี 2551 มีการส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดใน 3 ข้อหาดังกล่าว แต่อัยการสูงสุด เห็นว่าสำนวนยังไม่สมบูรณ์ จึงตั้งคณะทำงานร่วมกับ ป.ป.ช. จนกระทั่ง ป.ป.ช. ส่งสำนวน คืนมาให้อัยการสูงสุด ในปี 2559

นายวัฒนา บอกว่า พบข้อพิรุธในการดำเนินคดีหลายเรื่อง ทั้งที่คดีไม่ได้มีความซับซ้อน มีข้อเท็จจริงปรากฏชัด ทั้งการปรับปรุงทีโออาร์ ที่สามารถแก้ปัญหาความล่าช้าการก่อสร้างในตอนนั้นได้ และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ปรากฏความเสียหายใดๆ ส่วนเรื่องการ 'เรียกรับประโยชน์' ก็สามารถสอบถามจากบุคคลที่อยู่ในที่ประชุมคณะกรรมการการเคหะฯ ได้ว่าจริงหรือไม่ ขณะเดียวกัน เรื่องการ 'รับประโยชน์' หรือไม่ ปปง.ก็ตรวจสอบเส้นทางการเงินแล้ว ไม่มีความผิดปกติ แต่เหตุใดจึงปล่อยให้อยู่ในชั้นสอบสวน ถึง 12 ปี

จึงตั้งข้อสังเกตุว่า เป็นการยื้อเวลา เพราะไม่มีหลักฐานเอาผิด กระทั่งมีการเปลี่ยนตัว ประธาน ป.ป.ช.เป็นบุคคลใกล้ชิดรัฐบาล จึงมีการสรุปสำนวนส่งอัยการสูงสุดหรือไม่ และยิ่งน่าคิดถึงคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เคยระบุว่าไว้ ช่วงที่นายวัฒนากล่าวพาดพิงบ่อยๆ ว่า'ไม่กลัวคดีที่อยู่ใน ป.ป.ช. หรือ?' จึงน่าสงสัยว่า มีการแทรกแซง ทั้งชั้น ป.ป.ช. และชั้นอัยการหรือไม่

อีกทั้ง ป.ป.ช. ไม่มีการแถลงข่าว หรือลงข่าวในเว็บไซต์ เกี่ยวกับมติส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด ซึ่งนายณรงค์ รัฐอมฤต เจ้าของสำนวนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเองว่า ไม่ต้องการให้มีการร้องขอความเป็นธรรม จนไม่สามารถส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดได้ ซึ่งถือว่าขัดต่อหลักนิติธรรม ทั้งที่ความผิดที่ถูกกล่าวหา มาตรา 148 มีโทษสูงสุดประหารชีวิต ผู้ถูกกล่าวหาควรมีสิทธิขอความเป็นธรรม และยังเห็นได้ชัดว่ามีการตั้งธง มุ่งเอาผิดคนๆ เดียว เนื่องจาก ป.ป.ช.ยุติข้อกล่าวหากับผู้ว่าการการเคหะฯ และคณะกรรมการ ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติ กลับเหลือเอาผิดแค่รัฐมนตรี

ส่วนกรณีเดินทางไปพบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ประเทศสิงคโปร์ไม่ได้ เพราะติดเงื่อนไขศาลห้ามเดินทางออกนอกประเทศ แต่มองว่า การที่มีคนของพรรคเพื่อไทยเดินทางไปพบ ก็เป็นเรื่องส่วนตัว ใช้เงินส่วนตัว เดินทางไปพบคนรู้จักตามปกติ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ไม่จำเป็นต้องมีท่าทีขู่เรื่องยุบพรรค แต่การให้ข่าวของ กกต. เพื่อแสดงอำนาจ หวังให้ คสช.ต่ออายุการทำงานออกไปอีกหรือไม่

ด้านนายนรินทร์พงศ์ เปิดเผยว่า วันที่ 9 พฤษภาคมนี้ ต้องเตรียมพร้อมเรื่องหลักทรัพย์ประกันตัว เนื่องจากไม่สามารถคาดเดาได้ว่า จะเป็นจำนวนเท่าใด เพราะคดีการเมืองที่ผ่านมาตั้งหลักทรัพย์ประกันตัวไว้เป็นหลัก 10 ล้านบาท