ไม่พบผลการค้นหา
เวทีเสวนา รัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ 'พริษฐ์' ชงแก้ รธน.ยุบ ส.ว.เหลือสภาเดียว ด้าน 'ยิ่งชีพ' ท้า ส.ว.โหวตคว่ำวาระ 3 ส่วน 'อนุสรณ์'ฟันธงร่าง รธน.คว่ำแน่ แนะประชามติถามยกเลิก ส.ว.หรือไม่

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 13 มี.ค. 2564 ที่ Function room ชั้น 4 ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดงาน PRIDI Talks #9 x CONLAB เสวนา รัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ โดย วรวิทย์ กนิษฐะเสน อดีตเอกอัครทูต กล่าวว่า หลายประเทศได้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นเวลายาวนาน และประชาธิปไตย ก็มีพัฒนาการใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง หลายประเทศมีการนองเลือด เช่น เยอรมนี ดังนั้น ขอให้นึกว่ากระบวนการได้มาซึ่งประชาธิปไตยจะต้องใช้เวลา สำหรับประเทศไทยแม้เริ่มตั้งแต่ปี 2475 แต่ภารกิจของคณะราษฎร ยังไม่สิ้นสุด จึงต้องผลักดันประชาธิปไตยไปอย่างต่อเนื่อง

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยให้ทำประชามติก่อนและหลังร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ น่าจะถูกคว่ำในวาระ 3 อย่างแน่นอน ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือการกลับไปหาประชาชน เปิดให้ลงประชามติ แล้วถามประเด็นสำคัญไปด้วย เช่น ส.ว. ควรจะคง ส.ว.ไว้หรือไม่ เป็นต้น

สถาบันปรีดี

ขณะที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (CONLAB) กล่าวว่า ส่วนตัวมีความกังวลว่าการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 วันที่ 17 มี.ค.นี้ จะถูกคว่ำโดย ส.ว. ซึ่งที่แล้วมาจะเห็นว่า ส.ว.พยายยามหาข้ออ้างถึงความกังวลใหม่ๆ เพื่อจะตกตีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกตีตกจริง จะต้องเร่งกระบวนการร่างฉบับใหม่ พร้อมกับมีกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ดังนั้น จึงเห็นว่า การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ควรทำรวบคู่กันไปกับการแก้ไขเป็นรายมาตรา เพราะการร่างใหม่ทั้งฉบับนั้น ต้องใช้เวลานาน

พริษฐ์ กล่าวว่า ส.ว.มักอ้างความกังวลในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ว่า กลัวมีการตีเช็คเปล่า ทั้งนี้ หาก ส.ว.จะอ้างว่ากลัวมีการตีเช็คเปล่าอีก จึงเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยกำหนดให้เหลือเพียงสภาเดียว โดยตัด ส.ว.ออกไป เพราะถือเป็นองค์กรที่มีความวิปริตทางการเมือง มีอำนาจล้นฟ้า ไม่ยึดโยงประชาชน มีอำนาจทับซ้อน ไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล ดังนั้น หากมีข้อเสนอในการยุบ ส.ว. เหลือสภาเดียว จึงอยากทราบว่า ส.ว.จะมีเหตุผลใดในการขัดขวาง

พริษฐ์ ยังกล่าวว่า สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.ร.เห็นว่า ควรให้อำนาจแก้ไขในหมวด 1 และ หมวด 2 ได้ด้วย เพราะหากดูการชุมนุมของคน 2 ฝ่ายจะเห็นว่าประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องที่ผู้ชุมนุมมีอารมณ์ร่วมมากที่สุด หากไม่ให้ ส.ส.ร.เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการถกเถียงประเด็นดังกล่าว ทุกอย่างจะไม่จบที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะประเด็นปฏิรูปสถาบัน จะต้องถูกนำไปถกเถียงกันต่อบนท้องถนน

สถาบันปรีดี


ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า ไอลอว์ มีความภาคภูมิใจที่ได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภา แม้จะถูกตีตกไป ซึ่งหลังจากนี้ไอลอว์คงไม่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภาอีกแล้ว เพราะถ้ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ล่ม แล้วไอลอว์ต้องเริ่มใหม่อีกครั้ง นั่นก็แสดงว่าสังคมไม่มีตัวเลือกแล้วหรือ ทั้งนี้ เห็นว่ามีหลายคนที่มีความพยายามทำต่อ จึงเป็นคิวของคนอื่นที่จะทำต่อไป ขอให้ลุย เราเสนับสนุน

เรียนท่าน ส.ว.อำนาจอยู่ในมือท่าน วันที่ 17 มี.ค. ถ้าท่านมั่นใจว่าเหตุผลฟังขึ้น ท่านลงมติไปเลย โหวตไปเลย แล้วท่านต้องอธิบายต่อประชาชน เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้จะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าท่านอ้างว่า การให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้ง ส.ส.ร. 100 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้มีการได้เช็คเปล่า เพื่อไปเขียนรัฐธรรมนูญ หรือเปลี่ยนแปลงประเด็นสถาบันพระมหากษัตตริย์ยังไงก็ได้ นั่นท่านคิดว่าประชาชนจะเลือกคนแบบนั้นเข้ามา แปลว่าท่านรู้อยู่แล้วว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการความเปลี่ยนแปลงในประเด็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งจริงหรือเปล่าผมก็ไม่รู้ แต่ท่านกำลังส่งสัญญาณแบบนั้น

ผศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับวาทกรรมกลัวตีเช็คเปล่าของ ส.ว.ถือเป็นวาทกรรมหลอกเด็ก เพราะเรากำลังทำรัฐธรรมนูญเพื่ออนาคต ซึ่งต้องมีกรอบกติกาสากล มีเหตุผล และวิถีของประชาธิปไตย ไม่สามารถที่จะเขียนอะไรก็ได้ในรัฐธรรมนูญ

ผศ.ดร.วรรณภา กล่าวว่า วันนี้กระแสของการเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความแข็งแรงมากขึ้น แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะถูกโหวตคว่ำในวาระ 3 แต่อยากให้ประชาชนจับตาดูคนที่ตีตก เพราะเขาเหล่านั้น มีความรับผิดรับชอบต่อความต้องการของประชาชน เราสามารถเรียกต้องเหตุผลจากคนเหล่านี้ได้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง