ไม่พบผลการค้นหา
ศาลล้มละลายกลาง ไฟเขียวการบินไทยเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ แต่งตั้ง 'อีวาย คอร์ปอเรทฯ' พร้อม 6 กรรมการเป็น 'ผู้ทำแผน' คาดแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เปิดทางเจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้ใน 1 เดือน ดีดีบินไทย คาดเริ่มดำเนินการตามแผนต้นปี 2564

ที่ศาลล้มละลายกลาง วันนี้ (14 ก.ย. 2563) ได้มีการนัดอ่านคำพิพากษากรณี บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ร้องขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งศาลได้มีการนัดไต่สวนไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยศาลล้มละลายกลางพิจารณาเห็นว่า การบินไทยมีคุณสมบัติครบถ้วนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย จึงเห็นสมควรให้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามที่ได้มีการร้องขอ

นอกจากนี้ ศาลล้มละลายกลาง ยังได้เห็นสมควรให้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรทแอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด รวมถึงกรรมการบริษัทอีก 6 ราย ประกอบด้วย พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล. พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, บุญทักษ์ หวังเจริญ, ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้ดำเนินการฟื้นฟูกิจการตามที่การบินไทยเสนอ โดยศาลเห็นว่าบริษัทอีวาย คอร์ปอเรทฯ เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับการยอมรับ

ขณะที่กรรมการทั้ง 6 ราย เป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการบริหารบริษัทใหญ่ ทำให้เข้าใจกิจการขนาดใหญ่เป็นอย่างดี 

โดยกระบวนการหลังจากนี้ จะนำเรื่องเข้าสู่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อแต่งตั้งผู้ทำแผนประกาศในราชกิจจานุเบกษา หลังจากนั้นจะมีการประกาศให้เจ้าหนี้ทั้งหมดยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือน หลังจากที่มีการประกาศ

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญต่อการบินไทย โดยหลังจากนี้จะมีการเปิดให้เจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เป็นระยะเวลา 1 เดือน ที่กรมบังคับคดี และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อให้การบินไทยรวบรวมเจ้าหนี้ทั้งหมดว่ามีกี่ราย และคิดเป็นมูลหนี้มากน้อยเพียงใด จากนั้นจะนัดประชุมหารือเพื่อเจรจากับเจ้าหนี้ ซึ่งมั่นใจว่าเจ้าหนี้จะให้ความร่วมมือและเสียสละในการประนีประนอมหนี้ร่วมกัน

ศาลอ่านพิพากษาการบินไทย_๒๐๐๙๑๔.jpg
  • ชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย

"เจ้าหนี้ทุกราย ทั้งธนาคาร รายใหญ่ หุ้นกู้และอื่นๆ สามารถยื่นคำร้องได้ที่กรมบังคับคดีและที่ ก.ล.ต.แต่ต้องเป็นเจ้าหนี้จริง ไม่ใช่เจ้าหนี้ปลอม หากปลอมถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ส่วนเจ้าหนี้ที่เป็นลูกค้าที่ถือบัตรโดยสาร และมีวอยเชอร์ต่างๆ ไม่ต้องมายื่นเอกสารใดๆ เพราะการบินไทยจะมีมาตรการดูแลแยกออกจากเจ้าหนี้ปกติอยู่แล้ว ฉะนั้นไม่ต้องเป็นห่วง" ชาญศิลป์ กล่าว

ทั้งนี้เชื่อว่ากระบวนจัดทำแผนฟื้นฟูจะแล้วเสร็จและพร้อมเสนอต่อศาลภายในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และหากศาลเห็นชอบจะเริ่มกระบวนการฟื้นฟูฯ ได้ภายในไตรมาสที่ 1 ของปีหน้า

อย่างไรก็ตามในรายละเอียดของแผนนั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากจะต้องรอให้ศาลพิจารณาก่อน แต่ยืนยันว่า สายการบินไทยสมายล์ จะยังมีอยู่ เนื่องจาก เป็นบริษัทลูกที่การบินไทยถือหุ้น 100% และยังมีศักยภาพในด้านการบินอยู่ ขณะที่การเสริมสภาพคล่องของการบินไทยนั้น จะต้องรอดูความชัดเจนของแผนด้วยเช่นกัน ว่าจะต้องมีการกู้เงินเพิ่มหรือไม่ แต่เบื้องต้นอาจต้องพิจารณากู้เงินเพิ่มเติมด้วย 

ศาลอ่านพิพากษาการบินไทย_๒๐๐๙๑๔000.jpg

ส่วนระยะเวลาที่จะออกจากแผนฟื้นฟูได้ภายใน 5 ปีตามที่เคยประกาศไว้หรือไม่นั้น จะต้องรอการพิจารณาแผนฟื้นฟู่ก่อนเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 ที่เข้ามามีผลกระทบ ต่อการเดินทางของผู้โดยสาร แต่คาดการณ์ว่าสถานการณ์การบินจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายใน 4-5 ปีหลังจากนี้ 

สำหรับปัจจุบัน การบินไทยมีทรัพย์สินอยู่ที่ 349,236 ล้านบาท ขณะที่หนี้สินมีอยู่ที่ 352,494 ล้านบาท และมีหนี้ครบชำระ 10,248 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดจะยังอยู่ในระหว่างการพักชำระหนี้อัตโนมัติ



ข่าวที่เกี่ยวข้อง :