ไม่พบผลการค้นหา
กลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อ ถาวร โทษ รบ.ยุคทักษิณ 2 ปีซื้อเครื่องบิน 10 ลำต้นเหตุขาดทุน ลองย้อนดูการบริหารภายใต้รัฐบาลต่างๆ กันอีกที พบคณะทำงานตรวจสอบกำไรขาดทุน เจาะจงตรวจสอบแค่ 2 ปีในรัฐบาลทักษิณเท่านั้น
thaiairways.jpg

เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2563 ทีประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี 'ศุภชัย โพธิ์สุ' รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ได้พิจารณาระเบียบวาระกระทู้ถามสดด้วยวาจาเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2563 โดย อรรถกร ศิริลัทยากร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้ตั้งกระทู้ถามสดโดยถามกระทรวงคมนาคมถึงแนวทางการฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ภายหลัง คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2563 เห็นชอบให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้คำสั่งศาลตามกฎหมายล้มละลาย และให้กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รับความเห็นของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้ ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ ได้เปิดประเด็นกลางสภาฯ โดยถาม ถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง (รมช.) คมนาคม ที่ได้รับมอบหมายจาก ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมให้ชี้แจงแทน ซึ่ง อรรถกร ถามว่า ปัจจุบัน บมจ.การบินไทยต้องขาดทุนในระยะหลัง บางปีขาดทุุนหมื่นกว่าล้านบาท และคนไทยหลายคนมีความรักและผูกพันกับบริษัทดังกล่าวเป็นห่วง จึงอยากทราบแนวทางหาทางออกของสายการบินระดับประเทศ เพราะเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2563 มีมติ ครม.ให้ บมจ.การบินไทย เข้าสู่การฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย อยากทราบเหตุปัจจัยต่างๆที่ทำให้ บมจ.การบินไทย เผชิญวิกฤตที่เลวร้ายนี้ และกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการตรวจสอบการบริหารที่ผิดพลาดในอดีตอย่างไรบ้าง

  • ถาวร โทษ รบ.ยุคทักษิณ 2 ปีซื้อเครื่องบิน 10 ลำต้นเหตุขาดทุน

ทั้งนี้ ถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ ว่า ปีนี้เป็นปีที่ 60 ของ บมจ.การบินไทย ใน 50 ปีกำไรมาอย่างต่อเนื่อง และเพิ่งขาดทุนในช่วง 10 ปีหลัง สาเหตุการขาดทุน อยากเรียนว่าปฐมเหตุจากการขาดทุน ตนขอเรียนเบื้องต้นตั้งแต่ตนรับหน้าที่เดือน ก.ค. 2562 วันที่ตนได้กำกับดูแล บมจ.การบินไทย การบริหารของรัฐวิสาหกิจต้องมีคณะกรรมการนโยบาย ที่สอบถามว่ามีการขาดทุนในช่วงหลังนั้น ตนได้ตั้งคณะทำงานเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2563 และแก้ไขคำสั่ง 7 พ.ค. 2563 มี พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช อดีต ผบช.น.เป็นประธาน มีคณะทำงาน 33 คน ผลตรวจสอบย้อนหลังแค่ 2 ปีเท่านั้น ในช่วงปี 2546-2547 รัฐบาลในยุคนั้น (รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ได้เห็นชอบให้ บมจ.การบินไทย จัดซื้อเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 รวม 10 ลำ เป็นเครื่องบินชนิด 4 เครื่องยนต์ และตั้งใจจะนำมาบินระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา คือ กรุงเทพฯ-ลอสแอนเจลิส และกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก  

ถาวร ระบุว่า ผลของการดำเนินการบินในช่วงนั้นปรากฏว่าขาดทุนทุกเที่ยวบิน แค่ 2-3 ปี ขาดทุนแล้ว 12,000  ล้านบาท หลังจากนั้นการบินไทยกลับมาคิดใหม่เอา เครื่องบิน A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำดังกล่าว เอามาบินเพิ่มเติมอีก 51 เส้นทางก็ขาดทุนหนักอีก โดยขาดทุนจำนวน 39,000 ล้านบาท นี่คือปฐมเหตุุที่ทำให้ บมจ.การบินไทย ต้องขาดทุน

"ผมดูย้อนหลังว่าสภาพัฒน์ได้ทักท้วงแล้ว ทักท้วงทางบอร์ดการบินไทย และทักท้วงรัฐบาลขณะนั้นแต่ไม่ฟังสภาพัฒน์ ผู้เป็นนายกฯ ขณะนั้น และขณะนี้ก็ไม่ได้อยู่ในประเทศไทยแล้ว ดังนั้น ผมได้สืบต่อไปแล้วพบว่าเครื่องบิน 10 ลำดังกล่าว มี 1 ลำขายออกให้กับกองทัพอากาศแล้ว 1 ลำ ยังจอดอยู่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบำรุงรักษค่าประกันภัย ค่าจอด รวมแล้วขาดทุนทั้งหมด 62,000 กว่าล้านบาท ขณะนี้คณะกรรมการที่ผมได้ตั้งขึ้นมาสอบสวนการบริหารงาน การบินไทย เรื่องนี้คือปฐมเหตุ ต่อมาวันที่ 22 พ.ค. 2563 ครม.ได้มีมติในระหว่างการบินไทยขาดทุนจะฟื้นฟูอย่างไร การบินไทยได้เสนอแผนฟื้นฟูมายัง ครม. ปรากฎว่า ครม.ปัจจุบันเป็นห่วงการบินไทย ก็พิจารณาดูว่าการจะฟื้นฟูการบินไทยมี ช่องทางแรกรัฐบาลเข้าไปอุ้ม กู้เงินแล้วรัฐบาลต้องค้ำและออกหุ้นกู้" ถาวร ระบุ

ทางเลือกที่สองให้ปล่อยดำเนินกิจการแล้วแต่ความสามารถ สุดท้ายใช้ทางเลือกที่สาม การบินไทยต้องฟื้นฟูสู่ศาลล้มละลายแล้วจะเกิดความคล่องได้ การบินไทยต้องลดถือหุ้นของกระทรวงการคลังมาจาก 51 % ลงมามาเป็นบริษัทปกติ เมื่อโอนหุ้นแล้วการบินไทยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป

"รัฐบาลนี้จึงตั้งคณะทำงาน 1 คณะเพื่อดำเนินการติดตามให้เชื่อมกันระหว่างรัฐบาลกับการบินไทยมีวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน จากนั้นเมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมาศาลได้ไต่สวน 2 ปากคนที่จะบริหารแผนจะยื่นต่อศาล และศาลจะนัดไต่สวนอีก 2 นัด ขณะนี้มีผู้เจ้าหนี้รายย่อยยื่นคัดค้านจะมาร่วมบริหารแผนด้วย แต่ศาลได้นัดไกล่เกลี่ยใหม่ ในวันที่ 20 และ 25 ส.ค. ทั้งนี้รัฐบาลก็ได้แต่งตั้ง ชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นรักษาการแทนผู้อำนวยการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)"

ถาวร เสนเนียม

เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่า 'ถาวร' หยิบยกปฐมเหตุแห่งการขาดทุนของ บมจ.การบินไทย มาชี้แจงกลางสภาฯ เพียงแค่ 2 ช่วงเท่านั้น ซึ่งช่วงผลการตรวจสอบของคณะทำงานที่เพิ่งตั้งขึ้นได้ตรวจสอบในช่วงปี 2546-2547 ซึ่งตรงกับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยรัฐบาลขณะนั้น ได้เห็นชอบให้ บมจ.การบินไทย จัดซื้อเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 รวม 10 ลำ เป็นเครื่องบินชนิด 4 เครื่องยนต์ ซึ่งพบว่าขาดทุน12,000  ล้านบาท  

รมช.คมนาคม ยังชี้แจงว่า เมื่อนำเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำดังกล่าว เอามาบินเพิ่มเติมอีก 51 เส้นทางก็พบว่าขาดทุนหนักอีก โดยขาดทุนจำนวน 39,000 ล้านบาท นี่คือปฐมเหตุุที่ทำให้ บมจ.การบินไทย ต้องขาดทุน

การบินไทยฉีดพ้นไวรัส

เปิดดูบัญชีการบินไทยในช่วงถาวรกล่าวหา ก็ยังได้กำไร

ทั้งนี้ 'วอยซ์ออนไลน์' เคยตรวจสอบงบกำไร-ขาดทุนของ บมจ.การบินไทยในช่วง 2 ปีที่ 'ถาวร' ได้อ้างถึงก็พบว่า ปี 2546 (http://investor.thaiairways.com/th/downloads/financial-statements?year=2003

งบกำไร-ขาดทุนปี 2546 รายได้จากการขายและการให้บริการ 134,536.28 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 116,822.12 ล้านบาท รวมกับรายได้อื่นและหักค่าใช้จ่ายอื่น (21,961.40 ล้านบาท) รวมกำไรสุทธิ 12,453.49 ล้านบาท

งบกำไร-ขาดทุนปี 2547 (http://investor.thaiairways.com/th/downloads/financial-statements?year=2004 ) รายได้จากการขายและการให้บริการ 152,603.02 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 132,105.29 ล้านบาท รวมกับรายได้อื่นและหักค่าใช้จ่ายอื่น (19,047.31 ล้านบาท) รวมกำไรสุทธิ 10,076.83 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่า เมื่อนำรายได้และค่าใช้จ่ายในการดำเนินมาหักกับค่าใช้จ่ายแล้ว ในช่วงปี 2546-2547 บมจ.การบินไทย ที่อยู่ในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ (ยศขณะนั้น) ก็ยังมียอดกำไรอยู่ 

การชี้แจงของ รมช.คมนาคม ต่อที่ประชุมสภาฯ จึงเป็นเพียงรายละเอียดส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ภาพรวมทั้งหมด 

ทักษิณ ภูมิธรรม สุวรรณภูมิ _Hkg199313.jpg
  • รบ.ทักษิณ การบินไทยกำไร 5 ปีซ้อน

ยิ่งถ้าไล่ยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ แล้ว จะพบว่า บมจ.การบินไทย มีกำไรถึง 5 ปีซ้อน

รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร งบกำไร-ขาดทุนปี 2549 รายได้จากการขายและการให้บริการ 192,037.02 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 179,248.93 ล้านบาท รวมกับรายได้อื่นและหักค่าใช้จ่ายอื่น (13,716.57 ล้านบาท) รวมกำไรสุทธิ 6,342.06 ล้านบาท

งบกำไร-ขาดทุนปี 2548 รายได้จากการขายและการให้บริการ 162,488.22 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 151,663.94 ล้านบาท รวมกับรายได้อื่นและหักค่าใช้จ่ายอื่น (14,107.97 ล้านบาท) รวมกำไรสุทธิ 6,776.65 ล้านบาท  

งบกำไร-ขาดทุนปี 2547 รายได้จากการขายและการให้บริการ 152,603.02 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 132,105.29 ล้านบาท รวมกับรายได้อื่นและหักค่าใช้จ่ายอื่น (19,047.31 ล้านบาท) รวมกำไรสุทธิ 10,076.83 ล้านบาท  

งบกำไร-ขาดทุนปี 2546 รายได้จากการขายและการให้บริการ 134,536.28 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 116,822.12 ล้านบาท รวมกับรายได้อื่นและหักค่าใช้จ่ายอื่น (21,961.40 ล้านบาท) รวมกำไรสุทธิ 12,453.49 ล้านบาท

งบกำไร-ขาดทุนปี 2545 รายได้จากการขายและการให้บริการ 129,015.49 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 110,327.09 ล้านบาท รวมกับรายได้อื่นและหักค่าใช้จ่ายอื่น (20,021.13 ล้านบาท) รวมกำไรสุทธิ 10,181.91 ล้านบาท   

  • รบ.ประยุทธ์ กำไร 1 ปี แต่ขาดทุน 5 ปี

ในขณะที่ ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่ามีกำไร 1 ปี แต่ขาดทุนรวมถึง 5 ปี

ปี 2562 รายได้ 188,954.45 ล้านบาท รายจ่าย 199,989.05 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 981.87 รวมขาดทุน 12,016.47 ล้านบาท

งบกำไร-ขาดทุนปี 2561 รายได้ 200,585.94 ล้านบาท รายจ่าย 212,191.80 แต่มีรายได้ภาษีเงินได้ 36.73 ล้านบาท รวมขาดทุน 11,569.13 ล้านบาท

งบกำไร-ขาดทุนปี 2560 รายได้ 190,534.63 ล้านบาท รายจ่าย 193,429.58 ล้านบาท แต่มีรายได้ภาษีเงินได้ 822.90 ล้านบาท รวมขาดทุน 2,072.05 ล้านบาท

งบกำไร-ขาดทุนปี 2559 รายได้ 181,446.20 ล้านบาท รายจ่าย 182,863.62 แต่มีรายได้ภาษีเงินได้ 1,464.24 ล้านบาท รวมมีกำไร 46.82 ล้านบาท

งบกำไร-ขาดทุนปี 2558 รายได้ 192,591.32 ล้านบาท รายจ่าย 206,707.62 ล้านบาท แต่มีรายได้ภาษีเงินได้ 1,069.37 ล้านบาท รวมขาดทุน 13,046.93 ล้านบาท

งบกำไร-ขาดทุนปี 2557 รายได้ 203,889.34 ล้านบาท รายจ่าย 220,626.74 ล้านบาท มีรายได้ภาษีเงินได้ 1,164.83 ล้านบาท รวมขาดทุน 15,572.55 ล้านบาท

ประยุทธ์ 1919000000.jpg
  • ทวี ชำแหละยอดขาดทุนปี 62 ของ การบินไทย

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เคยโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2563 ในหัวข้อ "การบินไทย จะไปทางไหน... ทำไมต้องให้ ‘คนการบินไทย’ รับกรรมแทน?" โดยหยิบยกรายงานประจำปีล่าสุดของ ปี 2562 พบว่า การบินไทยประสบผลขาดทุน 12,042 ล้านบาท คือมีรายได้ 189,954 ล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่าย 199,989 ล้านบาท ที่เป็นค่าใช้จ่ายที่มากที่สุดคือค่าน้ำมันเครื่องบินจำนวน 54,675 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27.3 รองลงมาเป็น ค่าใช้จ่ายพนักงานการบินไทย ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายบุคลากร ผลประโยชน์พนักงาน ค่าตอบแทนผู้บริหารและกรรมการ มีจำนวน 34,886 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.4 

พนักงานบริษัทการบินไทยรวมทั้งหมด จำนวน 21,367 คน ในจำนวนนี้ แยกเป็นตำแหน่งสำคัญ คือ นักบิน 1,432 คน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน 5,749 คน และฝ่ายช่าง 3,461 คน หน่วยงานธุรการ 7,064 คน สายการพาณิชย์ 1,638 คน และอื่น ๆ 2,023 คน

หากคิดเฉลี่ยเสมือนกับว่า พนักงานการบินไทยมีเงินรายได้เฉลี่ยคนละ 1.63 ล้านบาทต่อปี หรือ 1.3 แสนบาทต่อเดือน ที่มีรายเงินใกล้เคียงกับเงินเดือนรัฐมนตรี หรือ ส.ส. และ สว แต่ความเป็นจริงพบว่าพนักงานการบินไทยในระดับปฏิบัติการมีรายได้น้อย ต้องทำงานหนักมาก คุณภาพชีวิตไม่ต่างกับกรรมกรหรือข้าราชการชั้นผู้น้อย มีปัญหาหนี้สินในระบบและนอกระบบรุมเร้า ยกตัวอย่าง พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินอายุงาน 14 ปี เงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท รวมเบี้ยเลี้ยงแล้วก็ยังไม่ถึง 60,000 บาท

บันทึกรายงานกรณีปัญหาหนี้สินของพนักงานการบินไทย ในช่วงที่เป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ปี 2554 https://drive.google.com/file/d/1jS9zw50SZiK2wCKoM9h-gU8weE3WgHtX/view?usp=sharing

  • ซัด รบ.ประยุทธ์ อยู่ 5 ปีเมินปรับปรุงค่าตอบแทน พนง.

จากรายงานประจำปีของการบินไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ถึง 2562 ปัจจุบัน นับได้ 5 ปี ได้รายงานเกี่ยวกับค่าตอบแทนพนักงานไว้ว่า “บริษัทฯอยู่ระหว่างการที่จะปรับปรุงโครงสร้างการจ่ายค่าตอบแทนของพนักงานในภาพรวม โดยทำโครงสร้างบัญชีอัตราเงินเดือน ภายใต้เงื่อนไขที่พนักงานรับภาษีเงินได้เอง”

พ.ต.อ.ทวี จึงตั้งคำถามว่า ทำไมใช้เวลานานถึง 5 ปี จึงไม่มีการปรับปรุงค่าตอบแทนพนักงาน รวมทั้งประเด็นการจ่ายภาษีบุคคลธรรมดา ซึ่งข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจไทยทุกคนต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเอง แต่ที่การบินไทย บริษัทฯ รับภาระภาษีเงินได้ให้แก่พนักงานแทน

กรรมการรับค่าตอบแทนหลายทาง มีค่าตอบแทนกรรมการนอกเหนือเงินเดือน คนละ 50,000 บาทต่อเดือนนอกเหนือจากเบี้ยประชุมกรรมการคนละ 30,000 บาทต่อครั้ง และได้รับเงินรางวัลประจำปีโดยคำนวณจากอัตราร้อยละ 0.2 ของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ ในวงเงินรวมไม่เกิน 30 ล้านบาท

กรรมการชุดย่อย อนุกรรมการ หรือคณะทำงานอื่นที่ได้รับการแต่งตั้งดังกล่าว ได้รับเบี้ยประชุมคนละ 10,000 บาทต่อครั้ง การบินไทยจ่ายเงินให้ คณะกรรมการบริษัทฯ 19 ท่าน เป็นค่าตอบแทน เบี้ยประชุม และเบี้ยประชุมย่อย จำนวน 13.38 ล้านบาท และจ่ายให้เจ้าหน้าที่บริหาร 11 ท่าน (ไม่รวมเงินเดือน) จำนวน 65.54 ล้านบาท เป็นต้น

ส่วนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขายและโฆษณา 10,637 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.63 ของรายได้ ข้อสังเกต ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขายและโฆษณา ก่อนปี 2549 มีประมาณ 3,000 ล้านบาท สร้างรายได้ 160,000 ล้านบาท แต่ในยุค คสช. ปี 2560-2562 ค่าโฆษณาประมาณ 11,000 ล้านบาท แต่รายได้คงที่ประมาณ 180,000 ล้านบาท แปลว่าการโฆษณาไม่ได้ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นและเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ขาดทุน

นอกจากนี้ ตามรายงานประจำปี 2562 เป็นการเปิดเผยรายการระหว่างกัน แล้วนำไปวิเคราะห์โยงกับรายการหนี้สินในงบการเงินหน้า 132-134 และ 200 จะพบว่า บริษัทฯ มีหนี้สินกับ

• ผู้ถือหุ้นใหญ่ (รัฐ) โดยกระทรวงการคลังกู้เงินจากสถาบันการเงินต่างประเทศให้บริษัทกู้ต่อ จำนวน 11,977.44 ล้านบาท

• ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย จำนวน 437.31 ล้านบาท

• ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำนวน 2,000 ล้านบาท

• ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 3,500 ล้านบาท

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 การบินไทยมีหนี้สินรวมของ บริษัทฯ และบริษัทย่อย จำนวน 244,899 ล้านบาทและมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้นสูงกว่า 20 เท่า แต่ยังได้ความน่าเชื่อถือที่ระดับ “A” เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งสะท้อนความคาดหวังที่รัฐจะให้ความช่วยเหลือทางการเงิน การบินไทยมีการกู้เงินทั้งจากธนาคารพาณิชย์ และการออกหุ้นกู้ โดยมียอดหนี้เงินกู้สูงกว่า 1 แสนล้านบาท โดยมีหนี้ที่จะถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปีที่เป็นกู้ยืมกับหุ้นกู้ครบกำหนด ประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท และมีภาระหนี้สินต้องชำระจากการเช่าเครื่องบินจำนวน 7 พันล้านบาท

การชี้แจงของ รมช.คมนาคมในที่ประชุมสภาฯ จึงเป็นเพียงการหยิบตัวเลขปลีกย่อยมาชี้แจงต่อสภาฯ โดยไม่ได้หยิบยกภาพรวมกำไร-ขาดทุนในทั้งปีตลอดปี 2546-2547 มาชี้แจง

และที่สำคัญยังไม่ชี้แจงงบฯกำไร-ขาดทุนในช่วงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่บริหารประเทศมาตั้งแต่ยึดอำนาจปี 2557 จนถึงปัจจุบัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง