ไม่พบผลการค้นหา
รมช.คมนาคม แถลงผลสอบ 'บินไทย' พบปัญหาทุจริต ทำงานผิดพลาด เอื้อประโยชน์มหาศาล ฝ่ายช่างทำโอทีปีละ 419 วัน ผลตอบแทนมากกว่าเงินเดือน 3 เท่า รับเต็มๆ เกือบ 3 ล้านต่อปี ฟากผู้บริหารซิวเงินพิเศษพุ่ง 6 แสน

ถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของบริษัทและปัญหาการทุจริตบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยระบุว่า จากการตรวจสอบผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงปี 2560-2562 และย้อนหลังไปถึงปี 2548 พบว่า การบินไทยประสบปัญหาขาดทุนเรื้อรังมาตั้งแต่ปี 2551 ฝ่ายบริหารทำงานผิดพลาด พบปัญหาการทุจริตภายใน คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท  

ถาวร กล่าวว่า เมื่อปี 2551 จากการจัดซื้อเครื่องบิน A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ กลายเป็นจุดเริ่มต้นทำให้การบินไทยขาดทุน ไม่ต่ำกว่า 62,803 ล้านบาท จากการขาดทุนในทุกเส้นทางบิน 

โดยคณะทำงานพบปัญหาการจ่ายสินบนของบริษัท โรลส์-รอยซ์ ผ่านนายหน้าคนกลางให้เจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานการบินไทย กว่า 245 ล้านบาท เพื่อเอื้อประโยชน์ในการจัดซื้ออะไหล่ 7 เครื่องยนต์และการซ่อมบำรุงแบบเหมาจ่าย

มีข้อมูลการจ่ายเงินสินบนไม่ต่ำกว่า 5% หรือประมาณ 2,652 ล้านบาท ผ่านนายหน้าคนกลางให้กับนักการเมือง เจ้าหน้าที่ และพนักงานการบินไทย แลกกับการจัดซื้อเครื่องบินรุ่น A340 จำนวน 10 ลำ

พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช หัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบฯ กล่าวว่า ช่วงปี 2560-2562 การบินไทยขาดทุนรวมไม่ต่ำกว่า 25,659 ล้านบาท มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูงมาก ตัวอย่างเช่น 

  • ค่า OT ฝ่ายช่างสูงถึง 2,022 ล้านบาท โดยตรวจพบพนักงาน 1 คน  ทำ OT สูงสุด ได้ถึง 3,354 ชั่วโมง มีวันทำ OT ถึง 419 วัน แต่ 1 ปี มีเพียง 365 วัน 
  • คิดเป็นเงินค่า OT ถึงปีละ 2,958,035 บาทหรือเดือนละ 246,503 บาท/เดือน ซึ่งพนักงานคนดังกล่าวมีรายได้ต่อปีเพียง 878,436 บาทหรือเดือนละ 73,203 บาท แต่ได้รับ OT มากกว่าเงินเดือนถึง 3 เท่ากว่า 
  • ในปี 2562 ฝ่ายช่างมีพนักงานทำ OT เกิน 1,500 ชั่วโมง ถึง 567 คน วงเงินค่าใช้จ่ายมากถึง 603.123 ล้านบาท
  • เกณฑ์มาตรฐานคนหนึ่งไม่ควรทำ OT เกิน 1,500 ชั่วโมง แต่ในปี 2562 ฝ่ายช่างมีพนักงานทำ OT เกิน 1,500 ชั่วโมง ถึง 567 คน วงเงินค่าใช้จ่ายมากถึง 603.123 ล้านบาท
  • มีการจัดหาเครื่องบินรุ่น B787-800 จำนวน 6 ลำ แบบเช่าดำเนินงาน โดยแต่ละลำมีราคาไม่เท่ากัน มีส่วนต่างของราคาต่างกันถึง 589 ล้านบาท ทั้งที่เป็นเครื่องบินแบบเดียวกัน 
  • บริษัทมีจำนวนพนักงานลดลง ทั้งฝ่ายช่าง พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน แต่บริษัท มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในเกือบทุกด้าน เช่น หนี้หุ้นกู้เพิ่มขึ้น 13,173 ล้านบาท ค่าล่วงเวลานักบินและลูกเรือเพิ่มขึ้น 638 ล้านบาท ค่าล่วงเวลาฝ่ายช่างเพิ่มขึ้น 530.66 ล้านบาท 
  • มีการจ่ายค่าชดเชยการคืนสภาพเครื่องบินแบบเช่าดำเนินงาน รุ่น A330-300 จำนวน 2 ลำ สูงถึง 1,458 ล้านบาท 
  • มีผู้รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้รับเงินค่าตอบแทนเพิ่มพิเศษในอัตราเดือนละ 200,000 บาท ผ่านไป 9 เดือน เพิ่มเป็น 600,000 บาทโดยอ้างแนวปฏิบัติที่เคยทำมา 
  • ค่าตอบแทนเฉลี่ยพนักงานที่เป็นตัวเงินต่อคนต่อเดือน 129,134 บาท 
  • บริษัทมีภาระจ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ยปีละ 4,555 ล้านบาท 

พล.ต.ท.ชาญเทพ ระบุว่า ปัญหายังมีอีกมากมายในหลายๆ แผนกทั้งการขายตั๋ว การโฆษณา การจัดซื้ออุปกรณ์บนเครื่อง ครัวการบินไทย น้ำมันเชื้อเพลิง

ถาวร กล่าวว่า จะจัดส่งข้อมูลและเอกสารหลักฐานทั้งหมดไปให้กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท การบินไทย, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ (ป.ป.ท.) พิจารณาดำเนินการ ในวันที่ 31 ส.ค.นี้ โดยเฉพาะการจัดการกับบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในอดีตและปัจจุบัน