ไม่พบผลการค้นหา
ไมโครซอฟท์ เผยผลสำรวจวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี ใน 25 ประเทศ เผยว่ารู้สึกมีปํญหากับการที่ผู้ปกครองโพสต์เรื่องของพวกเขาผ่านโซเชียลมีเดีย ชี้ผู้ใหญ่ควรใช้วิจารณญาณ และพูดคุยร่วมกับเด็กก่อนตัดสินใจทำอะไร

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ไมโครซอฟท์เผยงานวิจัย เผยผลสำรวจพบว่า 42 เปอร์เซ็นต์ของวัยรุ่นใน 25 ประเทศ ระบุว่ามีปัญหากับการที่ผู้ปกครองโพสต์เรื่องของพวกเขาผ่านโซเชียลมีเดีย โดยใน 42 เปอร์เซ็นต์นั้น แบ่งออกเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ที่มองว่านี่เป็นปัญหาใหญ่ 14 เปอร์เซ็นต์มองว่าเป็นปัญหาปานกลาง และ 17 เปอร์เซ็นต์มองว่าเป็นปัญหาเล็กน้อย

สำหรับ 58 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือนั้น 30 เปอร์เซนต์ระบุว่าเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหา ขณะที่ 28 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าผู้ปกครองไม่เคยโพสต์เรื่องของพวกเขาในโลกออนไลน์โดยไม่ขออนุญาตก่อน

ผลสำรวจนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยความสุภาพ ความปลอดภัย การปฏิสัมพันธ์ออนไลน์ (Civility, Safety and Interaction Online) ประจำปี 2019 ของไมโครซอฟท์ ซึ่งในปีนี้ได้สำรวจวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี และผู้ใหญ่อายุ 18-74 ปี จำนวน 12,520 คน ใน 25 ประเทศ

นอกจากนี้ ผลการสำรวจเบื้องต้นของไมโครซอฟต์ ยังชี้อีกว่าวัยรุ่น 66 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าเคยตกเป็นเหยื่อของความเสี่ยงในโลกออนไลน์อย่างน้อยหนึ่งอย่าง ทั้งนี้ ไมโครซอฟต์ แบ่งความเสี่ยงออนไลน์ 21 อย่างออกเป็น 4 กลุ่มคือด้านความเสี่ยงต่อชื่อเสียง ความเสี่ยงต่อพฤติกรรมคุกคาม ความเสี่ยงทางเพศ และความเสี่ยงต่อการลุกล้ำความเป็นส่วนตัว

pexels - smartphone - social media - teenage - boy

ทางไมโครซอฟท์ ระบุว่าไม่ได้มีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น กับพฤติกรรมการแชร์ข้อมูลของลูกหลานในโลกออนไลน์ แต่ระบุว่าทั้งนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินต่างเตือนว่าการแชร์แบบนั้นทำให้เกิดความเสี่ยงต่อข้อมูลส่วนตัวและความปลอดภัยทางกายภาพของลูกหลาน

ทางไมโครซอฟท์ ยังเตือนว่าผู้ปกครองควรใช้วิจารณญาณไม่เผยแพร่ข้อมูลมากเกินไป เช่น ชื่อ-นามสกุลจริงของเด็ก อายุ วันเกิด ที่อยู่ ทีมกีฬาที่ชอบ ชื่อสัตว์เลี้ยง และรูปถ่าย เนื่องจากเมื่อรวมกันแล้ว ข้อมูลส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้สามารถถูกนำไปใช้ในการหลอกลวงด้วยจิตวิทยา ทำให้เสี่ยงต่อการถูกล่อลวงทางเพศ ใช้ประโยชน์ หรือขโมยตัวตน

ยิ่งไปกว่านั้นการศึกษาครั้งนี้ ยังชี้อีกว่าในปี 2019 วัยรุ่นถึง 48 เปอร์เซ็นต์ยังคงเลือกจะหันหน้าหาผู้ปกครองก่อนเมื่อมีความกังวลเรื่องกิจกรรมในโลกออนไลน์ ไมโครซอฟท์ จึงเสนอแนะให้ผู้ใหญ่เปิดใจรับฟังเมื่อเด็กๆ พูดถึงชีวิตออนไลน์ของพวกเขาอย่างไม่ตัดสิน และพูดคุย 'ร่วมกัน' เสมอเมื่อจะตัดสินใจทำอะไร

ทั้งนี้ แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นหนึ่งในประเทศที่ไมโครซอฟท์ศึกษา แต่ผลลัพธ์นี้ก็มีประเทศใกล้เคียงอย่างสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ส่วนประเทศที่เหลือได้แก่อาร์เจนตินา เบลเยียม บราวิล แคนาดา ชิลี โคลอมเบีย ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮังการี อินเดีย ไอร์แลนด์ อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เม็กซิโก เปรู โปแลนด์ รัสเซีย แอฟริกาใต้ ตุรกี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

ที่มา: Microsoft