ไม่พบผลการค้นหา
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอแนวทางฟื้นฟู 'การบินไทย' ทุบโต๊ะยุบไทยสมายล์ ลดการขาดทุนได้ปีละประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์

นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝ่ายโยธาและจราจร เสนอแนวทางการฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ผ่านเฟซบุ๊กว่า สถานะทางการเงินของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บกท. น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะมีหนี้สะสม 244,899 ล้านบาท (ณ วันที่ 31 ธ.ค.2562) ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่องมานานหลายปี จึงจำเป็นที่จะต้องหาทางลดการขาดทุนลง ส่วนผลการดำเนินงานขาดทุนของ บกท.เกิดจากการดำเนินงานของตัวเอง และบริษัทอื่นหรือบริษัทย่อยที่ บกท.ถือหุ้นอยู่ เฉพาะบริษัทที่บกท.ถือหุ้นเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ มี 10 บริษัท ซึ่งรวมถึงบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัดที่บกท.ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ขาดทุนสะสมกว่า 8,000 ล้านบาท จึงถึงเวลาแล้วที่ บกท.จะต้องทุบโต๊ะหาทางจัดการขั้นเด็ดขาดกับไทยสมายล์

นายสามารถ ระบุอีกว่า บกท.จัดตั้งไทยสมายล์โดยมุ่งหวังที่จะให้บริการกลุ่มลูกค้าที่อยู่ตรงกลางระหว่างสายการบินปกติและสายการบินต้นทุนต่ำ จึงจัดวางตำแหน่งตัวเองเป็นสายการบินต้นทุนต่ำที่มีคุณภาพสูง ไทยสมายล์จึงต้องให้บริการที่เหนือกว่าสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการของไทยสมายล์สูงขึ้น ดังนั้นค่าโดยสารจะต้องสูงกว่าค่าโดยสารของสายการบินต้นทุนต่ำ แต่ในความเป็นจริงที่มีสายการบินต้นทุนต่ำให้บริการจำนวนมาก มีการแข่งขันกันดุเดือด ส่งผลให้ไทยสมายล์ต้องกัดฟันสู้ด้วยกลยุทธ์ด้านราคา แต่สุดท้ายกลับขาดทุนทุกปี ขณะที่บกท.ขาดทุนอุ้มไม่ไหว 

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอแนวทางต่อการบินไทยดังนี้

1.ยุบไทยสมายล์ ถ้าการบินไทยฯ เห็นว่าไม่มีทางพลิกฟื้นให้ไทยสมายล์กลับมามีกำไรได้ และไม่จำเป็นจะต้องอาศัยไทยสมายล์ช่วยขนผู้โดยสารมาป้อนให้สายการบินไทย ซึ่งจะทำให้ช่วย บกท.ลดการขาดทุนได้ปีละประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์      

2.ควบรวมไทยสมายล์กับ บกท. ถ้าเห็นว่ายังจำเป็นต้องรักษาเส้นทางของไทยสมายล์ไว้ เพื่อให้ขนผู้โดยสารมาป้อนให้สายการบินไทย และรองรับผู้โดยสารจากสายการบินไทย ซึ่งการควบรวมเป็นบริษัทเดียวจะทำให้ค่าบริหารจัดการถูกกว่าแยกเป็น 2 บริษัท โดยเมื่อปี 2531 เคยมีการควบรวมกิจการของบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด (บดท.) เข้ากับ บกท. ทำให้บกท.มีกำไรทั้งเส้นทางภายในประเทศและเส้นทางระหว่างประเทศ  

นอกจากนี้ บกท.ควรพิจารณาแก้ไขปัญหาการขาดทุนในบริษัทย่อยอื่นที่ บกท.ถือหุ้นอยู่ด้วย อาทิ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ซึ่งบกท.ถือหุ้น 13.28 เปอร์เซ็นต์ ทำให้บกท.ไม่มีอำนาจควบคุม ขณะที่นกแอร์มีผลประกอบการขาดทุนหลายปี บกท.จึงควรขายหุ้นทิ้งทั้งหมด 

“ถ้า บกท.ไม่จัดการขั้นเด็ดขาดกับไทยสมายล์ นกแอร์ และบริษัทย่อยอื่น บกท.จะต้องถูกจัดการขั้นเด็ดขาด คือต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย ที่มีเสียงแอบกระซิบมาว่าได้ถูกบรรจุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการของ บกท.ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในเร็วๆนี้ เป็นแนวทางที่ 10 หรือแนวทางสุดท้ายจากทั้งหมด 10 แนวทาง ถ้าบกท.ไม่สามารถปฏิบัติตามแนวทางในแผนฟื้นฟูได้ประสบผลสำเร็จ ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดี และรัก บกท.เท่าฟ้า” นายสามารถ ระบุ

อ่านเพิ่มเติม