ไม่พบผลการค้นหา
อดีตกรรมการ 'บินไทย' เผยข้อมูลเปรียบเทียบสายการบินไทยและต่างชาติ พบแม้จำนวนคนมาก แต่ผลิตภาพต่ำ ระบบจัดซื้อจัดจ้างมีปัญหา สต็อกอะไหล่สูงกว่ามาตรฐาน ต้องรื้อใหญ่แต่มีคนกลัวเสียผลประโยชน์

วันที่ 5 พ.ค. นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด(มหาชน) และ อดีตกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยข้อมูล 'การบินไทย' บางส่วนเมื่อปี 2557 สมัยร่วมงานกับ “นายจรัมพร โชติกเสถียร” อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือ DD บริษัทการบินไทย 

นายบรรยง ระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Banyong Pongpanich ว่า เนื่องจากมีคนตำหนิตนเองว่าชอบวิจารณ์การบินไทยแบบมั่วๆ โดยเฉพาะเรื่องใช้คนมากเกิน จึงนำข้อมูลเมื่อปี 2014 หรือปี 2557 มานำเสนอ และคิดว่าปัจจุบันยังไม่ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสักเท่าไหร่ 

“ขอเรียนว่า ข้อมูลปัจจุบัน(2014) เป็นดังนี้ครับ....

SQ มี เครื่องบิน 106 ลำ มี Available Seat Kilometre(ASK) 120,502 ล้าน มีรายได้(2014) 297,000 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 10,100 ล้านบาท มีพนักงาน 14,240 คน สร้างรายได้คนละ 20.90 ล้านบาท

ส่วนของ THAI มีเครื่องบิน 83 ลำ ASK 81,652 ล้าน มีรายได้ 194,000 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 15,600 ล้านบาท มีพนักงาน 25,323 คน สร้างรายได้คนละ 7.66 ล้านบาท

หรือถ้าจะเทียบกับ Cathay Pacific (รวมDragon Air) ซึ่งมีเครื่องบิน 182 ลำ มีASK 134,711 มีรายได้ 427,515 ล้านบาท มีกำไร 18,876 ล้านบาท พนักงาน 27,672 คน สร้างรายได้คนละ 15.47 ล้านบาท

ทั้งสามสายการบินเป็นคู่แข่งสำคัญในภูมิภาคนี้ ลองดูเรื่องตัวเลข Productivity เปรียบเทียบในด้านต่างๆ แล้ว เห็นได้ชัดเลยครับ ว่าเราต้องปรับปรุงอย่างมาก ถ้าต้องการเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน”

เคยเสนอเพิ่มเงินเดือน ก่อนเจอสวน "ไร้เดียงสา"

อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (ซูเปอร์บอร์ด) ระบุต่อว่า เชื่อไหม ถ้านับเงินเดือน เปรียบเทียบรายหัวรายตำเเหน่งของเราต่ำกว่าของเขามากทีเดียว 

โดยเฉพาะตำแหน่งบริหาร ยกตัวอย่าง ตอนตนเป็นกรรมการ CFO การบินไทยเงินเดือน 180,000 บาท ขณะที่ของ SQ เขาได้ปีละ 25 ล้านบาท (1ล้านSing$) ต่างกันสิบเท่า ทั้งลูกเรือเราก็ไม่ได้มากเท่าเขาเลย แต่ความที่เรา ใช้คนเยอะกว่ามาก แถมสร้างรายได้ได้ต่ำ ค่าใช้จ่ายบุคลากรรวมต่อรายได้ เราเลยสูงกว่าเขา

"ผมเคยบ่นเรื่องนี้ในที่ประชุมกรรมการ และเสนอว่าเราต้องปรับเงินเดือนผู้บริหารเพื่อจูงใจคนคุณภาพให้เข้ามาร่วมงาน มีบอร์ดอาวุโสท่านหนึ่ง(ขอสงวนนาม)หัวเราะแล้วบอกผมว่า “คุณบรรยง คุณนี่ไร้เดียงสาจริงๆ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจน่ะเขาไม่ต้องให้เงินเยอะหรอก เขาให้เขี้ยว แล้วให้ไปล่าเนื้อเอาเอง ไม่มีใครสนเงินเดือนเท่าไหร่หรอก” (จนวันนี้ผมยังไม่เข้าใจเลยครับ ว่าท่านหมายความว่าอะไร)" 

Productivity ต่ำ-ฝ่ายช่างแตะต้องยากสุด

นายบรรยง ยกตัวอย่างประสบการณ์สมัยทำงานเป็นกรรมการ บริษัท การบินไทย ด้วยว่า เมื่อประมาณปี 2552 ได้ร่วมงานกับ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ DD บริษัทการบินไทย สมัยนั้น ไปดูงานแสดงสินค้าการบินที่ Hamburg เราได้ไปเยี่ยมชม Headquarter ของ Lufthansa Technic (ฝ่ายช่างของLufthansa) ซึ่งตั้งอยู่ที่ Hamburg CEO ของLufthansa Technic(LT) ได้มาต้อนรับพาชมด้วยตนเอง

"ในการประชุมบรรยายสรุป เราได้ข้อมูลว่า Lufthansa Technic ดูแลเครื่องบินอยู่ประมาณ 800 ลำ (ของเขาเอง 300 ของคนอื่น 500) มีศูนย์อยู่สามแห่ง ที่เอเชียอยู่ที่ฟิลิปปินส์ มีคนทั้งหมดหกพันคน ซึ่งฝ่ายช่างการบินไทยที่ดูแลอยู่ร้อยลำเรามีคนสี่พันเศษ เทียบกันคร่าวๆ แล้วเท่ากับว่า เขามี Productivity สูงกว่าเรามากกว่าห้าเท่าตัว ซึ่งถึงแม้ค่าจ้างเราจะต่ำกว่ามาก แต่เชื่อไหมครับเมื่อรวมค่าล่วงเวลาด้วย ฝ่ายช่างการบินไทยมีรายได้ต่อคนไม่ต่ำเลย (มีคนบอกว่าเรามีค่าล่วงเวลาในสัดส่วนที่สูงที่สุดในโลก …ส่วนใหญ่ช่างทำงาน Overtime มากกว่าในเวลา ....ไปเช็คกันดูนะครับ)" 

"อีกเรื่องที่เขาแปลกใจ ก็คือ การที่การบินไทยมีตัวเลขอะไหล่ในสต็อกสูงกว่ามาตรฐานทั่วไปมากหลายเท่าตัว ซึ่งเราเข้าใจมาตลอดว่า การที่เรามีเครื่องมากรุ่น และมีเครื่องยนตร์ตั้งสามยี่ห้อ ตามใบสั่งของผู้มีอำนาจในการจัดซื้อแต่แต่ละคราวทำให้ต้องสต็อกอะไหล่ไว้มากกว่า ทาง CEO LT เขาบอกว่า นั่นก็อาจเป็นได้ แต่ก็ไม่ควรเกิน 20% เพราะการซ่อมการ Maintenanceเครื่องบินนั้น >95% เป็น Scheduled Maintenance รู้ล่วงหน้าเป็นปี ว่าลำไหน วันไหนจะเปลี่ยนอะไร วางแผนล่วงหน้าได้ ไม่มีใครเขาซ่อมเมื่อเสียแล้ว(พวกนั้นมีน้อยมาก) เพราะฉะนั้นเขาก็วางแผนสั่งอะไหล่ได้ล่วงหน้า ไม่ต้องซื้อมากองไว้เยอะแยะ เสียทั้งเงินเสียทั้งค่าเก็บรักษา นอกจากจะมีคนอยากจัดซื้อเยอะๆ หรือคนขายอยากให้ซื้อ 

"เขาแนะนำให้เราตรวจสอบปรับปรุงระบบจัดซื้อ ระบบสต็อกของของฝ่ายช่าง จะประหยัดเงินได้เยอะทีเดียว …ซึ่งเรื่องนี้ผมกับกรรมการบางท่านเคยปรึกษากับ ดร.ปิยสวัสดิ์ว่าจะต้องรื้อใหญ่ แต่น่าเสียดายที่หลังจากนั้นไม่นาน มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กรรมการหลายคนรวมทั้งผมถูกขอให้ลาออกมาเสีย และ ดร.ปิยสวัสดิ์ก็ถูกไล่ออกตามมา เลยยังไม่ได้ทันทำอะไร (ฝ่ายช่างนี้แตะต้องยากที่สุดนะครับ แค่เขาส่งสัญญาณมาว่า “เดี๋ยวการซ่อมมีปัญหานะ” ทุกคนก็หัวหดแล้วครับ)

"อีกเรื่องที่อาจเป็นประโยชน์มาก คือ ทาง CEO ของ LT เล่าให้ฟังถึงการที่เขาช่วยฟื้นฟูฝ่ายช่างของ Philippines Airline ที่เคยมีปัญหามาก ขาดทุนเละเทะคล้ายๆ ของเรา โดยเขาเข้าไปถือหุ้น 51% แล้วเข้าบริหาร ภายในสองปีสามารถพลิกฟื้นให้กลับมามีกำไรได้ แต่ต้องลดคนเกือบครึ่ง ย้ายไปทำอย่างอื่น

"เรื่องนี้ผมถามเขากลางที่ประชุมเลยว่า ถ้าเรา Spin-off ฝ่ายช่างตั้งเป็นบริษัทแล้วให้เขาถือหุ้นสัก 40% และรับภาระบริหารจะสนใจไหม คุณ CEO ลุกขึ้นยื่นมือมาเลยว่า จับมือเซ็น MOU กันเลยไหม เขาสนใจมาก จะให้ไปเลิกพี่ปินส์ จะให้จ่ายค่าหุ้นแพงมีพรีเมี่ยมก็เอาทั้งนั้น

"นี่แหละครับ ฝ่ายช่าง ฝ่าย Cargo ฝ่ายบริการภาคพื้นหรือแม้แต่ครัวการบิน ที่เราทำเองแล้วไม่มีกำไร หรือกำไรไม่ดี ผมสนับสนุนให้ Spin off หาพาร์ตเนอร์เก่งๆ มาบริหาร แล้วเราค่อยเรียนรู้ไปกับเขา เผื่ออนาคตจะได้เก่งตาม

"แต่อย่างว่าแหละครับ พาร์ตเนอร์เก่งๆ เขาก็ต้องปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความโปร่งใส พนักงานก็คงใช้น้อยคนลง แถมต้องทำงานหนักขึ้น การจัดซื้อจัดจ้างก็คงไม่ยอมให้หลวมๆ เหมือนเดิม คนคงไม่ชอบกันเยอะ ทั้งผู้มีอำนาจควบคุม ทั้งผู้บริหาร ทั้งสหภาพ พนักงาน แถมด้วย Supplier ทั้งหลายที่เคยอิ่มเอม" 

อดีตซูเปอร์บอร์ด ระบุว่า ทั้งหมดที่เล่ามาหวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการ ผ่าตัดฟื้นฟู ”การบินไทย” ให้กลับมายิ่งยงได้อีกครั้ง และหากใครมาด่าว่าตอนตนเป็นกรรมการไม่เห็นทำอะไรเลย ขอให้ไปรื้อบทความเก่าๆ มาอ่านซะก่อน 

นายบรรยงยังทิ้งท้ายด้วยว่า ในอดีตเคยช่วยฟื้นฟูบินไทยในฐานะซูเปอร์บอร์ด โดยแนะนำให้ปรับระบบจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด เพื่อประหยัดงบประมาณ อย่างไรก็ตามสุดท้ายไม่ได้รับการอนุมัติและตนยังถูกร้องเรียนเรื่องคอรัปชันอีกด้วย 

"เมื่อเกือบห้าปีก่อน ตอนที่ยังพยายามช่วยฟื้นฟูในฐานะซุปเปอร์บอร์ดอยู่ ผมเคยแนะให้คุณจรัมพรปรับระบบจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด โดยว่าจ้างให้ ACCENTURE ที่ปรึกษาที่เคยใช้เวลาเพียงเดือนเดียวประหยัดให้เราไปเกือบสี่ร้อยล้าน แล้วทั้งผมทั้ง Accenture ก็ถูกเชิญออกให้กลับมาทำใหม่ คุณจรัมพรเห็นด้วย เอาไปเสนอในบอร์ด แต่ไม่ได้รับอนุมัติ … 

แล้วเรื่องปาฏิหารย์ก็เกิดขึ้น วันรุ่งขึ้นมีอดีตผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยสองคน ชื่อนายโยธิน กับนายสุเทพ ไปยื่นเรื่องร้องเรียนกับ ปปช.ว่าผมทำผิดคอร์รัปชันไปว่าจ้าง Accentureมา ”กินหัวคิว” จัดซื้อจัดจ้าง ผิดระเบียบราชการ เรียกแถลงข่าว ไปออกรายการทีวีของนายดนัย ประนามผม เขียนเฟซบุ๊กกระแนะกระแหนผมอีกเป็นหลายเดือน แต่ผมไม่คิดจะตอบโต้เพราะไม่เห็นว่ามีราคา มีสาระประโยชน์อันใด นี่ก็นั่งรอมาจะห้าปีแล้ว ไม่เห็น ปปช.จะติดต่อสืบสวนอะไรเลย จะได้ชี้แจงให้ชัดๆ ว่า ที่ทำไปน่ะเป็นเรื่องดีมีประโยชน์อย่างไร อยู่ประเทศนี้ ทำดีมันยากจริงๆครับ" 


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :