ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน เรียกร้องรัฐบาลไทย แสดงจุดยืนคัดค้านการสร้างเขื่อนสานะคาม ชี้ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ออกแถลงการณ์เรื่อง "ข้อเสนอต่อสถานการณ์การผลักดันโครงการก่อสร้างเขื่อนสานะคาม บนแม่น้ำโขง" โดยมีเนื้อหาระบุว่า ท่ามกลางกระแสการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ทั่วทุกมุมโลก รัฐบาลแต่ละประเทศ รวมทั้งหน่วยงาน องค์กร และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่างร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างขันแข็ง ด้วยความหวังที่จะรอดพันจากหายนะภัยที่มีต่อมวลมนุษยชาติในครั้งนี้ แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลลาวภายใต้ความร่วมมือกับบริษัทรัฐวิสาหกิจ ด้านพลังงานจากประเทศจีน กลับฉวยโอกาสในสภาวะวิกฤติครั้งนี้ เร่งรัดผลักดันโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงโครงการล่าสุดคือ เขื่อนสานะคาม

สืบเนื่องจากวันที่ 11 เดือนพ.ค. 2563 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) เปิดเผยต่อสาธารณะว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จะริเริ่มดำเนินการกระบวนการปรึกษาหารือเบื้องต้น (Prior Consultation) สำหรับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำสานะคาม กระบวนการนี้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติ เรื่อง การแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลงของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในกรณีที่รัฐสมาชิก ประกอบด้วย ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม จะมีการดำเนินการโครงการที่ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขง ทั้งนี้โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำสานะคาม มีบริษัท ต้าถัง (ลาว) สานะคาม ไฮโดรพาเวอร์ จำกัด เป็นผู้พัฒนาโครงการฯ บริษัทดังกล่าวนี้เป็นบริษัทลูกของ บริษัท ต้าถัง ซึ่งเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของ สาธารณะรัฐประชาชนจีน

ตามเอกสารของโครงการเขื่อนไฟฟ้าลังน้ำสานะคาม ที่เสนอต่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ได้มีการระบุว่า เขื่อนมีลักษณะเป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแบบน้ำไหลผ่าน ขนาด 684 เมกะวัตต์ พื้นที่ก่อสร้างเขื่อนอยู่ระหว่างแขวงไซยะบุรีและนครหลวงเวียงจันทร์ เมืองสานะคาม โดยอยู่ห่างจาก อ.เชียงคาน จ.เลย เพียงแค่ 2 กิโลเมตร และตั้งอยู่ห่างจากนครหลวงเวียงจันทร์ประมาณ 155 กิโลเมตร ประเทศลาวมีความคาดหวังว่า จะสามารถเริ่มก่อสร้างโครงการนี้ได้ในปี 2563 และจะแล้วเสร็จในปี 2571 ต้นทุนของการก่อสร้างโครงการมีมูลค่าประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท ไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนใหญ่จะถูกส่งมาขายให้กับประเทศไทย

การเดินหน้าผลักดันโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขง ได้เกิดขึ้นมาอย่าต่อเนื่องในรอบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงในเขตประเทศจีนไปแล้วกว่า 11 แห่ง และประเทศลาวมีเป้าหมายการก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงจำนวน 7 แห่ง โดยแล้วเสร็จไปแล้ว 1 เขื่อน คือ เขื่อนไซยะบุรี อีกทั้งยังมีเขื่อนบนแม่น้ำโขงอีก 2 แห่ง ที่อยู่ในแผนการก่อสร้าง มีที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงพรมแดนไทย-ลาว คือ เขื่อนปากชม อ.ปากชม จ.เลย และเขื่อนบ้านกุ่ม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เขื่อนดังกล่าวเหล่านี้อยู่ในแผนการพัฒนาเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าที่เรียงรายเป็นขั้นบันไดตลอดตามลำแม่น้ำโขง

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายภาคประชาชน ที่เฝ้าติดตามสถานการณ์การพัฒนาในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง โดยเฉพาะการผลักดันและการก่อสร้างเขื่อนต่าง ๆ บนแม่น้ำโขงที่ส่งผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนต่อชุมชนลุ่มน้ำโขง ในเขตภาคอีสานในช่วงระยะเวลามากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ได้มีมุมมองและข้อสังเกตต่อ สถานการณ์การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง ดังต่อไปนี้

ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาเขื่อนแม่น้ำโขงในเขตประเทศจีน รวมทั้งเขื่อนไซยะบุรี ในเขตประเทศลาวที่มีการเดินหน้ากักเก็บน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำโขงให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง

ได้แก่ การผันผวนของระดับน้ำที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาล เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการพังทลายของตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำโขงกับพื้นที่เกษตรริมแม่น้ำโขง การลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะพันธุ์ปลาและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในแม่น้ำโขง ปัญหาการดักตะกอนดินของเขื่อนตอนบนนำมา ซึ่งผลกระทบในด้านธาตุอาหารของระบบนิเวศแม่น้ำล่างและเกิดการเปลี่ยนสีของแม่น้ำอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สิ่งเหล่านี้เป็นผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่สะสมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบทางสังคม ที่เกี่ยวโยงกับฐานความมั่นคงทางอาหารของชุมชนแม่น้ำโขงตอนล่าง ทั้ง 4 ประเทศ ชาวประมงพื้นบ้านต้องสูญเสียอาชีพกับรายได้ และคนในหลายชุมชนต้องสูญเสียพื้นที่ทางการเกษตรริมฝั่งแม่น้ำโขง ตลอดจนผลกระทบที่มีต่อแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ กับพื้นที่สำคัญทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ตลอดตามลำน้ำโขงได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ทำให้คนในชุมชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องต้องสูญเสียรายได้จำนวนมหาศาล ฉะนั้น การผลักดันโครงการเขื่อนสานะคาม จึงเป็นการตอกย้ำปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมในแม่น้ำโขงที่มีต่อชุมชนลุ่มน้ำโขงให้มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างทบทวี

จากสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวข้างต้น มีข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องว่า รัฐไทยควรมีการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อสถานการณ์ปัญหา และผลกระทบทางด้านระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำโขง ซึ่งเกิดขึ้นมาจากเขื่อนต่างๆ ในแม่น้ำโขง และรัฐบาลไทยควรมีการทบทวนจุดยืน ในการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงโดยเฉพาะเขื่อนสานะคาม ที่จะนำมาซึ่งหายนะภัยต่อสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศของแม่น้ำโขง ที่สำคัญต้องมีการเปิดเผยข้อมูลและข้อเท็จจริง อย่างรอบด้านเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหา ผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาลุ่มน้ำโขงสู่สาธารณะ โดยเปิดพื้นที่ให้กับภาคประชาสังคมและภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ในการนำเสนอปัญหาและเสนอทางเลือกด้านการพัฒนา และแนวทางการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม